ไม่พบผลการค้นหา
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมยุติปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยด้วยการ ศึกษาวิจัยและพัฒนาการตรวจวินิจฉัยให้ได้คุณภาพและเป็นที่มั่นใจ พร้อมผลักดันนโยบายดังกล่าวให้บรรลุเป้าหมายองค์การอนามัยโลก

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นองค์กรหลักที่กำหนดมาตรฐานและควบคุมคุณภาพการตรวจเพื่อการวินิจฉัยและการติดตามการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีของห้องปฏิบัติการต่างๆ ในประเทศ อีกทั้งยังเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงเพื่อตรวจยืนยันการติดเชื้อและการตรวจหาเชื้อดื้อยาของประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน 

โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้กำหนดมาตรฐานและแนวทางการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีที่ครอบคลุมประชากรกลุ่มเสี่ยงทุกกลุ่มอายุ โดยจัดทำเป็นคู่มือสำหรับห้องปฏิบัติการขึ้นเป็นเล่มแรก เมื่อปี พ.ศ. 2539 ซึ่งได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีการตรวจอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบันร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหน่วยงานประเมินคุณภาพชุดทดสอบเอชไอวีก่อนการขึ้นทะเบียนเพื่อจำหน่ายในประเทศ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552 ทำให้ชุดทดสอบที่ผ่านการขึ้นทะเบียนมีคุณภาพเป็นที่มั่นใจต่อการนำไปใช้ตรวจบริการประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประกันคุณภาพการให้บริการของห้องปฏิบัติการ และเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนห้องปฏิบัติการที่ให้บริการการตรวจวินิจฉัยและการตรวจเพื่อติดตามการรักษา มีระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานของประเทศและมาตรฐานสากล รวมถึงการสนับสนุนให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐานดังกล่าว

1084241.jpg


โดยจัดทำแผนทดสอบความชำนาญ (External Quality Assessment Scheme) ระดับชาติของการตรวจวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การตรวจเอชไอวีซีโรโลยี การตรวจหาปริมาณเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือด การตรวจเชื้อเอชไอวีดื้อยาต้านไวรัส และการตรวจการติดเชื้อเอชไอวี -1 โดยวิธี DNA-PCR ซึ่งแผนการทดสอบความชำนาญทั้งหมดดำเนินการตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17043: 2010 

นอกจากนี้ยังมีงานด้านการศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านระบาดวิทยา ด้านพันธุกรรมของไวรัส ด้านเชื้อดื้อยา และพันธุกรรมของคนไทยต่อการสร้างภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อเชื้อเอชไอวี ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาทั้งในด้านนวัตกรรม และส่งเสริมการบริการที่มีคุณภาพสำหรับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงและเข้าถึงยาก รวมทั้งร่วมผลักดันนโยบายการยุติปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จในอนาคต รวมทั้งการผลักดันจนประเทศไทยได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก