ไม่พบผลการค้นหา
แอมเนสตี้ อินเทอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่ากลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา (ARSA) ลักพาตัวและสังหารหมู่ชาวฮินดูระหว่างการโจมตีเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2017

รายงานผลการสืบสวนสอบสวนของแอมเนสตี้ อินเทอร์เนชั่นแนลระบุว่า กองกำลังปลดปล่อยโรฮิงญาอาระกัน (ARSA) ได้สังหารหมู่พลเรือนชาวฮินดูด้วยปืนและมีดดาบ และลักพาตัวชาวฮินดูบางส่วนในรัฐยะไข่ ช่วงที่มีการโจมตีเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2017 และจากการสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิต แอมเนสตี้พบว่าสมาชิก ARSA พยายามสร้างความหวาดกลัวต่อชาวฮินดูและคนกลุ่มน้อยอื่นๆ

ในรายงานระบุว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ปี 2017 กลุ่มติดอาวุธ ARSA พร้อมชาวโรฮิงญาในท้องถิ่นบางส่วนได้บุกโจมตีหมู่บ้านชาวฮินดูในเมืองหม่องดอว์ ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ โดยมีการรวบรวมชาวฮินดูทั้งชายหญิง รวมถึงเด็กมาแล้วสังหารหมู่ชาวฮินดูทั้งหมด ยกเว้นคนที่ยอมเปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาอิสลาม จากรายงานพบว่ามีคนถูกสังหารครั้งนั้น 53 ราย แต่มีการขุดพบร่างผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 45 ราย จากหลุมศพหมู่ 4 แห่ง นอกจากนี้ยังมีรายงานคนหายสาบสูญจากหมู่บ้านใกล้เคียงอีก 46 คน

บินา บาลา ผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่เล่าให้แอมเนสตี้ฟังว่า คนในหมู่บ้านถูกปิดตาและมัดมือไพล่หลัง เธอถามกลุ่มติดอาวุธว่ากำลังทำอะไร แล้วหนึ่งในกลุ่ม ARSA ก็ตอบว่า ชาวฮินดูและชาวยะไข่ไม่นับถือศาสนาอิสลาม ไม่สามารถอยู่ในยะไข่ได้จากนั้นก็ทำร้ายร่างกายและปล้นทองและเงินของเธอไป

ที่ผ่านมา รายละเอียดเกี่ยวกับการโจมตีของกลุ่ม ARSA ไม่ค่อยได้รับการจดบันทึกไว้ เนื่องจากการปราบปรามชาวโรฮิงญาโดยกองทัพเมียนมารุนแรงมากจนทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 700,000 ต้องลี้ภัยไปยังบังกลาเทศ

อย่างไรก็ตามทิรานา ฮัสซัน ผู้อำนวยการด้านการรับมือวิกฤตของแอมเนสตี้กล่าวว่า ทั้งกองทัพเมียนมาและกลุ่ม ARSA ต้องถูกประณาม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยฝ่ายหนึ่งไม่อาจสร้างความชอบธรรมให้อีกฝ่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่นได้เช่นกัน

ฮัสซันยังระบุว่า การสัมภาษณ์คนในพื้นที่ขัดแย้งครั้งนี้ได้ทำให้เห็นว่ายังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกลุ่มติดอาวุธ ARSA จำนวนมากที่ไม่ได้รับการจดบันทึกในช่วงประวัติศาสตร์อันมืดดำของรัฐยะไข่ ถือเป็นเรื่องยากที่จะเพิกเฉยต่อความโหดร้ายจากการกระทำของกลุ่ม ARSA ซึ่งไม่อาจลบเลือนไปจากใจของผู้ถูกกระทำ การตรวจสอบการกระทำอันโหดร้ายเหล่านี้ก็มีความสำคัญเท่ากับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กองทัพเมียนมากระทำต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่เช่นกัน

ก่อนหน้านี้ ARSA เคยปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารใดๆ ในรัฐยะไข่ แต่ ARSA ไม่มีการออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการมากว่า 4 เดือนแล้ว และไม่ออกมาตอบโต้รายงานของแอมเนสตี้อีกด้วย

ที่มา: Amnesty International, Asian Correspondent