ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ประท้วงชาวไต้หวันสาดสีแดงใส่หลุมฝังศพของเจียงไคเช็ก เรียกร้องรัฐบาลเร่งกำจัดสัญลักษณ์ของเผด็จการในอดีต

การประท้วงเกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 28 ก.พ. ซึ่งเป็นวันครบรอบปีที่ 71 ของ “เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์ 1947” ซึ่งมีการปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล มีผู้เสียชีวิตราว 10,000 คน

'เหตุการณ์ 28 กุมภาฯ' นำไปสู่การปกครองด้วยกฎอัยการศึกตั้งแต่ปี 1947 จนถึงปี 1987 รวมระยะเวลากว่า 38 ปี ซึ่งเรียกกันในเวลาต่อมาว่า 'ยุคทมิฬขาว'

ในช่วงเวลาดังกล่าว มีผู้ถูกจับกุมคุมขังราว 140,000 คน ในจำนวนนี้ ถูกประหารชีวิตราว 3,000-4,000 คน เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าต่อต้านรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็ก และเป็นพวกแดง ผู้นิยมคอมมิวนิสต์

เมื่อเดือนธันวาคม รัฐบาลพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของประธานาธิบดีหญิง ไช่อิงเหวิน ออกกฎหมายฉบับหนึ่ง มุ่งเป้าที่จะชำระมรดกของความอยุติธรรมในยุคเจียงไคเช็ก เช่น เปลี่ยนชื่อถนน ชื่อโรงเรียน ที่ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์แก่เจียง และรื้อทิ้งอนุสาวรีย์ของเขา

ที่ผ่านมา อนุสรณ์สถานหลายแห่งของเจียงถูกบรรดาคนที่ประณามเจียงเป็นเผด็จการทำลาย เวลานี้ รูปปั้นของเจียงหลายร้อยชิ้นถูกย้ายไปเก็บไว้ในสวนสาธารณะริมทะเลสาบใกล้กับอนุสรณ์สถานบรรจุศพของเขาที่เมืองเตาหยวน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่ง

ในวันพุธ ผู้ประท้วงประมาณ 10 คน มีทั้งนักศึกษาและนักเรียกร้องเอกราชไต้หวัน สาดสีแดงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเลือดใส่โลงศพของเจียง แถลงการณ์ของผู้ประท้วงระบุว่า ตราบเท่าที่ไต้หวันยังหมดเปลืองกับการเทิดทูนเจียง สักการะดวงวิญญาณของเผด็จการ ไต้หวันย่อมไม่มีวันบรรลุถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

วันเดียวกัน ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินยืนยันคำมั่นของเธอ ที่จะสอบสวนการตายและการปราบปรามประชาชนในยุคทมิฬขาว เธอบอกว่า รัฐบาลจะชำระประวัติศาสตร์ และให้ข้อมูลพูดความจริง

นับแต่ประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวเมื่อปีที่แล้ว กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดสัมมนา เพื่อหาข้อยุติว่าควรทำอย่างไรกับอนุสรณ์สถานเจียงไคเช็กในไทเป ซึ่งตั้งแสดงอนุสาวรีย์โลหะสำริด สูง 6.3 เมตรของเจียง

บางคนแนะให้เปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ บางคนเสนอให้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชน นักการเมืองรายหนึ่งบอกให้รื้อแล้วสร้างเป็นตลาด เรียกเสียงตอบโต้จากฝ่ายผู้สนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋ง.