ไม่พบผลการค้นหา
‘คำสั่งสาป’ ภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ยุคแรกของไทย เตรียมนำมาจัดฉายโดย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) หลังถูกค้นพบในหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา พร้อมจัดเสวนากับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ภาพยนตร์

ปี พ.ศ. 2562 หอภาพยนตร์ได้ค้นพบภาพยนตร์เรื่อง 'คำสั่งคำสาป' ซึ่งเป็นหนังที่นับได้ว่าเป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์เรื่องแรกสุดในเมืองไทยเท่าที่มีการค้นพบ ได้รับการเก็บรักษาไว้ในสภาพสมบูรณ์ ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Archives and Records Administration - NARA) 

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างโดย สำนักข่าวสารอเมริกัน สันนิษฐานว่าสร้างในปี พ.ศ.2497 แต่เกิดปัญหาเรื่องการจัดจำหน่าย จึงไม่ได้จัดฉาย ต่อมาปี 2497 จึงมีผู้นำมาจัดฉายในโรงภาพยนตร์ของไทย โดยตัดต่อใหม่ให้สั้นลงกว่าเดิม มีทั้งหมด 2 ฉบับ คือฉบับที่แปลงสัญญาณมาจากฟิล์ม 16 มม. ฉบับดั้งเดิมมีความยาว 138 นาที และฉบับที่มาจากฟิล์ม 35 มม. ฉบับตัดต่อใหม่มีความยาว 102 นาที สร้างโดยทีมงานจากสหรัฐอเมริกา นำแสดงโดยนักแสดงไทยที่โด่งดังจากละครเวทีซึ่งเฟื่องฟูในระหว่างช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ทั้ง วสันต์ สุนทรปักษิน, สวลี ผกาพันธุ์, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, อารี โทณะวณิก, อุโฆษ จันทร์เรือง, สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม, เฉลิม เศวตนันท์

โดยผู้ประพันธ์เรื่องคือ กุมุท จันทร์เรือง ก็เป็นหนึ่งในนักเขียนบทละครเวทีที่มีชื่อเสียงที่สุดในเวลานั้น นอกจากนี้ยังมี ประหยัด ศ.นาคะนาท นักหนังสือพิมพ์นามปากกา “นายรำคาญ” ผู้มีบทบาทสำคัญด้านสังคมและการเมืองไทย การค้นพบครั้งนี้ ถือเป็นการค้นพบที่มีความสำคัญในหลากหลายมิติ 

'คำสั่งคำสาป' เล่าเรื่องราวของกลุ่มคนหนุ่มที่มีทั้งนักสืบและนักวิชาการ ซึ่งร่วมกันสืบหาเบื้องหลังของเหตุการณ์ลึกลับ เมื่อรูปปั้นของ ดร. ทองคำ นักวิทยาศาสตร์ผู้มีใจรักในประชาธิปไตยและมีผู้คนศรัทธาเป็นจำนวนมาก กลับเปล่งเสียงเชิญชวนให้ผู้คนเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ ซ้ำยังเกิดเหตุฆาตกรรมปริศนาภายในบ้าน  

หนัง คำสั่งสาป

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เตรียมจัดฉาย 'คำสั่งสาป' วันเสาร์ที่ 26 ก.ย. 2563 ที่ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) พร้อมสนทนากับ 'ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา' นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในเมืองไทยโดยเฉพาะในยุคสงครามเย็น และ 'ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง' อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้เขียนหนังสือ 'ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี' ว่าด้วยการเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2491 – 2500