ไม่พบผลการค้นหา
ก.ล.ต. ชี้บุคคลทั่วไปจัดตั้ง 'กองทุนส่วนบุคคล' ให้ บลจ.บริหาร เป็นเรื่องปกติ ปัจจุบัน 'รัฐมนตรี' ถือหุ้นเอกชนเกินร้อยละ 5 ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรี ด้านอธิบดีกรมสรรพากร แจงการตั้ง Blind Trust ไม่ใช่วิธีหลบเลี่ยงภาษี ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย

จากกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และแคนดิเดตนายกฯ ประกาศทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนภัทร จำกัด หรือ บลจ.ภัทร ให้ทำหน้าที่ริหารจัดการทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท ในลักษณะ Blind Trust หรือกองทุนที่เจ้าของทรัพย์สินไม่มีอำนาจสั่งการในการดำเนินการกับทรัพย์สินนั้น จนกว่าจะครบกำหนดตามข้อตกลง

โดยตามเอ็มโอยู ธนาธร กำหนดเงิื่อนไขกับ บลจ. ภัทรไว้ว่า 1) ไม่ซื้อหุ้นไทย ทุกทอดตลอดสาย 2) ให้กองทุนคืนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นแก่ธนาธร เมื่อพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของ Blind Trust ซึ่งตามข้อตกลงที่นายธนาธรเปิดเผยกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 18 มี.ค. เป็นกองทุนส่วนบุคคลประเภทหนึ่ง ที่มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการนั้น

นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ให้ข้อมูลว่า การที่บุคคลทั่วไปประสงค์จะจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) เพื่อการบริหารจัดการทรัพย์สินก็สามารถทำได้ โดยการแต่งตั้งบริษัทที่มีใบอนุญาตจัดการกองทุนส่วนบุคคล  

อย่างไรก็ดี หากเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งรัฐมนตรี การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ซึ่งบริษัทที่รับจัดการทรัพย์สินของรัฐมนตรี มีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว โดยไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.

ขณะที่เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรณีนักการเมืองบางรายที่ลงสมัครรับเลือกตั้งรอบนี้ ได้มีการโอนทรัพย์สิน ไปไว้กับ blind trust นั้น ก็จะมีลักษณะเหมือนกับกรณีกองทุนต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ฉะนั้น ในมุมด้านภาษีอากร กรณีมีรายได้ต่างๆ อาทิ เงินปันผล เป็นต้น ผู้ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุน (ในที่นี่คือ บลจ.ภัทร) ก็ต้องนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร

"ผมยังไม่ทราบรายละเอียดว่ากองที่ไปจดมีสัญญาเป็นอย่างไร แต่โดยทั่วไปแล้ว คนที่ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนก็จะมีหน้าที่นำส่ง ถ้ามีภาษีใดๆ เกิดขึ้น ดังนั้นอำนาจหน้าที่การเสียภาษียังมีเหมือนเดิม ไม่ใช่วิธีที่จะหลบภาษีได้" นายเอกนิติกล่าว

ส่วนการเสียภาษีก็ขึ้นกับว่าบริหารจัดการทรัพย์สินแบบใด ซึ่งจะเป็นไปตามประเภทของการลงทุน เช่น เงินปันผลก็ต้องมีภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยจะแตกต่างกันไประหว่างการลงทุนในตราสารหนี้ ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นต้น ทั้งนี้ รวมถึงการที่กองทุนดังกล่าวไปลงทุนในต่างประเทศด้วย

"ที่บอกว่า blind trust ไม่ได้หมายความว่าจะหลบซ่อนภาษีกรมสรรพากร ดังนั้นก็ยังมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอยู่ ถ้าไม่เสีย กรมก็ต้องเข้าไปตรวจสอบ" นายเอกนิติกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :