ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ สิงคโปร์ประกาศว่าจะเสนอวิถีการกินอาหารริมทางเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของยูเนสโกปีหน้า หลังสำรวจความเห็นประชาชนพบว่า ส่วนใหญ่ผูกพันกับการกินอาหารในร้านข้างทาง และมองว่าเป็นพื้นที่สร้างความเชื่อมโยงคนทุกระดับในสังคม

ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวสุนทรพจน์ช่วงฉลองวันชาติสิงคโปร์ว่ารัฐบาลจะเสนอวิถีการกินอาหารริมทาง หรือ Food hawker เป็นหนึ่งใน 'มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม' หรือ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage หรือ ICH) ขององค์การยูเนสโก โดยหวังว่าหลักปฏิบัติสากลของยูเนสโกในการอนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจะช่วยให้การกินอาหารริมทาง รวมถึงร้านอาหารริมทางในสิงคโปร์จะได้รับความนิยมและได้รับการให้คุณค่าจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสิงคโปร์และทั่วโลก เพราะอาหารริมทางคือภาพสะท้อนของวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายของคนในสิงคโปร์

สื่อของสิงคโปร์รายงานว่าการผลักดันให้อาหารริมทางเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นหลังจากที่มีการจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชนชาวสิงคโปร์ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นว่ามีความผูกพันหรือเชื่อมโยงกับศิลปวัฒนรรมประเภทใดบ้าง พบว่าร้อยละ 27 ของผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 3,000 คนระบุว่าผูกพันกับอาหารริมทาง และมองว่าอาหารริมทางเป็นพื้นที่สาธารณะที่เชื่อมโยงคนทุกระดับของสิงคโปร์เข้าด้วยกัน ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 18 และต่ำกว่านั้น มองว่าการละเล่นดั้งเดิมประเภทต่างๆ เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ควรได้รับการอนุรักษ์และส่งเสริม 

รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้เปิดเว็บไซต์ oursgheritage.sg เพื่อรับฟังและรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนสิงคโปร์ที่มีต่อวัฒนธรรมการกินอาหารริมทางว่ามีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างไร รวมถึงเปิดให้ประชาชนเสนอชื่อย่านที่มีร้านอาหารริมทางขึ้นชื่อและเหมาะสมกับการเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

หลังจากนั้นหน่วยงานรัฐบาลที่รับผิดชอบจะสรุปข้อมูลและจัดทำวิดีทัศน์ยาวประมาณ 10 นาทีเพื่อนำไปเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณามรดกโลกของยูเนสโกในเดือนมีนาคมปีหน้า (พ.ศ.2562) โดยคาดว่าคณะกรรมการฯ จะสามารถประกาศผลการพิจารณาได้ภายในปี 2563

ค่าครองชีพ-อาหาร-ข้าวแกง

ทั้งนี้ การพิจารณามอบสถานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของยูเนสโกเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม และประชาสัมพันธ์มรดกที่ไม่สามารถจับต้องได้ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในประเทศต่างๆ และประชาคมโลก โดยวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในเอเชียที่เคยได้รับมอบสถานะดังกล่าวจากยูเนสโกมาก่อนแล้ว ได้แก่ การทำผ้าบาติกของอินโดนีเซีย การรำมะโย่ง (Mak Yong) ของรัฐกลันตันในมาเลเซีย และโยคะดัดตนของอินเดีย 

ในเวลาไล่เลี่ยกัน รัฐบาลไทยได้เสนอให้มีการจัดระเบียบ 'ถนนข้าวสาร' ในกรุงเทพมหานคร แต่ถูกคัดค้านจากกลุ่มผู้ค้าขายที่ออกมารวมตัวช่วงต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนมาตรการดังกล่าว ขณะที่สื่อต่างชาติบางส่วนรายงานว่าการจัดระเบียบถนนข้าวสารอาจทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยืนยันว่าการจัดระเบียบดังกล่าวเป็นไปเพื่อความปลอดภัยและเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม เนื่องจากที่ผ่านมาการค้าขายภายในถนนข้าวสารไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะทางเท้าไม่ใช่จุดผ่อนผัน ทั้งยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงเรื่องโภชนาการ เพราะอาหารที่วางขายบริเวณถนนข้าวสารหลายอย่างเต็มไปด้วยโซเดียมและสารปรุงแต่ง แต่ล่าสุด กทม.ได้อนุญาตให้มีการผ่อนผันชั่วคราว โดยเปิดให้ผู้ค้าขายบริเวณถนนข้าวสารสามารถค้าขายได้ในเวลา 18.00 น.- 24.00 น. แต่ไม่สามารถขายในเวลากลางวันได้ 

นอกจากนี้ ผู้ค้าบริเวณถนนข้าวสารต้องลดขนาดแผงค้าเหลือ 1.5 เมตร แต่จะต้องมีการหารืออีกครั้งเพื่อคำตอบที่ชัดเจน ส่วนสถานบันเทิงและร้านนวดต่างๆ จะไม่ให้ตั้งโต๊ะหรือเก้าอี้ล้ำทางเท้าออกมา

ที่มา: Channel News Asia/ The Star

ภาพ: Lily Banse on Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: