ไม่พบผลการค้นหา
สนช. เห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับรวด ให้การเลือกตั้งท้องถิ่นจัดการโดย กกต. หรือมอบ มท.ดำเนินการภายใต้กำกับของ กกต. หากผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบันจะลงเลือกตั้งต้องลาออกจากตำแหน่งใน 30 วันนับแต่วันกำหนดวันเลือกตั้ง

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบรับหลักการร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ร่าง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ร่าง พ.ร.บ.เทศบาล ร่าง พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร และร่าง พ.ร.บ.บริหารราชการเมืองพัทยา พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญโดยมีกรอบเวลา 60 วันและแปรญัตติ 15 วัน

โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เสนอสาระสำคัญ และปรับแก้ไขร่างกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ เช่น ร่างกฎหมายระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร กำหนดให้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และตำแหน่งอื่นๆ ในปัจจุบันดำรงตำแหน่ง จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ แต่หากจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องลาออกจากตำแหน่งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง ส่วนสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร หรือ ส.ข. นั้น ร่างกฎหมายยังคงกำหนดให้มี แต่จะต้องปรับปรุงกฎหมายระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ก่อนจัดการเลือกตั้ง ส.ข. 

สำหรับการจัดการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นระดับต่าง ๆ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นผู้จัดการเอง หรืออาจจะมอบหมายให้หน่วยงานอื่นอย่างกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการภายใต้การควบคุมของ กกต. ได้ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด 

ขณะที่สมาชิก สนช. โดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ หยิบยกร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ขึ้นอภิปราย โดยแสดงความกังวล ขั้นตอนการออกเสียงลงคะแนน รวมถึงการพัฒนาการใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนว่า ควรนำมาใช้เมื่อใดและควรใช้ในระดับใดก่อน นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตของคำว่า 'บัตรปลอม' ในการเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง ส.ส.มีความหมายอย่างเดียวกันหรือไม่ 

นายชาญวิทย์ วสยางกูร สมาชิก สนช. เห็นว่ากรณีการกระทำความผิด ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ควรมีอำนาจในการสอบสวนหรือยับยั้งเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าหากมีอำนาจในเรื่องดังกล่าวด้วยจะเป็นประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง ให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม และเห็นว่าควรมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิของบุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งท้องถิ่นให้สอดคล้องหรือเป็นไปในทิศทางเดียว กับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่มี บทบัญญัติจำกัดสิทธิของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 

ขณะที่นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิก สนช. มองว่าการเขียนกฎหมายควรรัดกุมโดยเฉพาะประเด็นการช่วยเหลือผู้พิการ เพื่อออกเสียงลงคะแนน โดยกังวลว่า อาจมีผู้ไม่หวังดีนำช่องว่างดังกล่าว ไปขยายผลและทำให้การเลือกตั้งเกิดความไม่เรียบร้อย

นอกจากนี้ ที่ประชุม สนช. ลงมติในวาระที่ 3 เห็นสมควรประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 191 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: