ไม่พบผลการค้นหา
ผู้สมัครบอร์ดประกันสังคมโชว์วิสัยทัศน์กันเข้มข้น หลากหลายข้อเสนอ-ผลักดันเป็นองค์กรอิสระ-ตรวจสอบความโปร่งใสการใช้เงินกองทุน-เพิ่มสิทธิประโยชน์-หาช่องทางเพิ่มรายได้จากการลงทุน “สุนี”ชี้เลือกตั้งขลุกขลักบ้างแต่ไม่ใช่เหตุผลล้มกระดานครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการเสวนา 'เลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ปฎิรูปอะไร? อย่างไร?' ที่ม.ธรรมศาสตร์ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ในส่วนของผู้ประกันตนเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ก่อนการแสดงวิสัยทัศน์ ผศ.วีรบูรณ์ วิสาทรสกุล คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ้งภากรณ์ฯ กล่าวเปิดเวทีว่า ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ประกันสังคมมาตั้งแต่ปี 2533 และปรับปรุงปี 2558 แต่โชคร้ายที่ 8 ปีตกอยู่ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โอกาสต่อไปเรามีบอร์ดที่มีวาระ 2 ปี ในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ ไม่ว่าทีมใดเข้าไปก็อยากให้ทำงานกับขบวนการแรงงานอย่างแท้จริง

ผู้แทนทีมผู้รับสมัครเลือกตั้ง 9 คนและผู้สมัครอิสระ 1 คน มีการแสดงวิสัยทัศน์ ดังนี้ 

  • นายชินโชติ์ แสงสังข์ ตัวแทนทีมสภาองค์การลูกจ้างแรงงนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายของทีมต้องคำนึงถึงวาระ 2 ปีโดยขอเสนอว่าบำนาญชราภาพควรได้อย่างน้อย 30% เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ และเพดานการเก็บเงินสมทบควรเพิ่มเป็น 18,000 จาก 15,000 บาท ขณะเดียวกันเงินบำนาญชราภาพควรต้องใช้ฐานคำนวณก่อนที่ผู้ประกันตนจะหลุดจาก 33 และควรผลักดันประกันสังคมออกนอกระบบ ให้เป็นองค์กรอิสระ 
  • ดร.ปิยรัชต์ สมาทา ผู้แทนทีมประกันสังคมเพื่อแรงงานไทย กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมมีเม็ดเงินมหาศาล ทำอย่างไรถึงมีธนาคารหรือต่อรองกับธนาคารได้ ทำให้ดอกเบี้ยลดลงกว่าตลาดเพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสินเชื่อต่างๆ ขณะเดียวกันคุณภาพการดูแลของโรงพยาบาลสำหรับผู้ประกันตนควรมีประสิทธิภาพเพราะเรามีอำนาจต่อรอง ส่วนเรื่องบำนาญชราภาพควรสอดรับกับสถานการณ์ ควรมีการปรับเปลี่ยนทุกระยะเพื่อสอดคล้องกับค่าครองชีพ 
  • รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ตัวแทนทีมประกันสังคมก้าวหน้า กล่าวว่าประกันสังคมหมดเงินไปกับการดูงาน การทำปฏิทิน รวมทั้งการลงทุนที่ขาดทุนในบางตัว เงินเหล่านี้แทนที่จะใช้เพิ่มในการลาคลอด รักษาโรค วันนี้สิทธิในการรักษาพยาบาลเริ่มต่ำเตี้ยกว่า สปสช. สาเหตุเพราะประกันสังคมไม่ยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์ผู้ประกันตน 

“ประกันสังคมคือตัวอย่างสวัสดิการของคนธรรมดาที่ไม่มีอภิสิทธิ์ เราอยากให้ประกันสังคมเป็นหลังพิงของคนธรรมดา เราต้องการปักธงให้เป็นก้าวแรกของรัฐสวัสดิการ ประกันสังคมต้องตรวจสอบได้ ประกันสังคมต้องเป็นประชาธิปไตย” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว

  • นายธนัสถา คำมาวงษ์ ผู้แทนทีมสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะผลักดันเงินสงเคราะห์บุตรเป็น 3,000 บาทถึงอายุ 12 ปี เพิ่มบำนาญชราภาพให้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท โดยผลักดันให้รัฐจ่ายเงินสมทบเท่ากับลูกจ้างและนายจ้างคือ 5% เพื่อเอาไปเพิ่มให้กรณีชราภาพ นอกจากนี้จะผลักดันเรื่องการตั้งธนาคารแรงงานเพื่อให้ลูกจ้างกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำโดยมีบำเหน็จบำนาญชราภาพเป็นตัวค้ำประกัน
  • นายกฤษฎา ด้วงหิรัญ ผู้แทนทีมแรงงานเพื่อสังคม กล่าวว่า มีนโยบาย 3 ขอคือ ขอคืนเงินชราภาพเพื่อเอามาใช้ก่อนเพื่อประกอบอาชีพ ขอกู้คือเอาเงินชราภาพไปค้ำประกัน และขอเลือกว่าจะรับบำเหน็จหรือบำนาญโดยทุกคนควรมีสิทธิเลือก อย่าเอากรอบกฎหมายมาครอบงำเพื่อให้ทุกคนขาดสิทธิเสรีภาพในการดูแลเงินของตัวเอง
  • นายศิริศักดิ์ บัวชุม ผู้แทนทีมประกันสังคมคนทำงาน กล่าวว่า สนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารแรงงาน และจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม เรื่องการพัฒนาปรับปรุงสิทธิการรักษาพยาบาลและเพิ่มขยายสิทธิประโยชน์ทุกมาตรา
  • น.ส.อรอนงค์ นิธิภาคย์ ผู้แทนทีมสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนของกองทุนเป็นทางอ้อมทั้งหมด แต่ละปีเงินกองทุนติดลบ เราเสนอใช้หลักการใช้หนี้พัฒนาคนโดยปลดหนี้นอกระบบ และจัดตั้งธนาคารผู้ประกันตนเพื่อใช้เป็นฐานเศรษฐกิจ และให้ผู้ประกันตนกู้ 2-3 เท่าของเงินเดือน การลงทุนทางตรงกับผู้ประกันตนจะนำมาสู่ความยั่งยืนของกองทุนและผู้ประกันตน และควรปฎิรูปประกันสังคมไปสู่ระบบสวัสดิการ
  • นายปัณฐวิชญ์ มุ่งสมัครศรีกุล ผู้แทนทีมพลังแรงงานสหกรณ์ กล่าวว่าต้องลดเรื่องค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้จากการนำเงินไปลงทุน โดยเปลี่ยนการจ่ายเงินสมทบจากเดิมลูกจ้างจ่าย 5% มาเป็น 2.5% และให้รัฐจ่าย 5% เพิ่มสิทธิรักษาพยาบาลทั่วประเทศ และเพิ่มเบี้ยบำนาญชราภาพ
  • น.ส.บุญเรือง คุ้มคง ผู้แทนทีม 3 ขอต้องไปต่อ กล่าวว่า ต้องการผลักดันให้ยกระดับทุกมาตรา อยากให้ทีมที่เข้าไปเป็นบอร์ดได้ทำอย่างที่พูด
  • ศ.วรเวศม์ สุวรรณระดา ผู้สมัครอิสระกล่าวว่า ให้ความสำคัญกับความมั่นคงกองทุน เรามีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ปัจจุบันมีตัวเลขผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ชราภาพราว 7 แสนคน แต่เมื่อดูโครงสร้างอายุมีผู้ประกันตนอายุ 50 ปีขึ้นไปรวมกับ 40 ปีขึ้นไปเป็น 8 ล้านคน หากครึ่งหนึ่งรับบำนาญชราภาพ เงินที่ต้องจ่ายจาก 2.4 หมื่นล้าน จะเป็นแสนล้านในคาบเวลา 15-20 ปี จำเป็นต้องวางแผนอย่างรอบคอบ แนวทางที่จะสร้างความมั่นคงคือ ต้องผลักดันศักยภาพการลงทุนให้ดีกว่าเดิม ส่วนเรื่องการคุ้มครองสิทธิอยากให้ทบทวนสิทธิชราภาพควรยึดหลักให้ติดตัวเขา อยากเห็นการลดความเหลื่อมล้ำเรื่องรักษาพยาบาล ทำไมเราต้องจ่ายเงินสมทบทั้งๆที่สิทธิอื่นใช้เงินงบประมาณ ดังนั้นรัฐบาลควรจ่ายค่ารักษาพยาบาล และควรเปิดเผยวาระการประชุมเพื่อให้เห็นว่าใครคิดและพูดอะไร
  • นายกิรติ โกสีย์เจริญ ผู้สมัครอิสระ กล่าวว่าต้องเปลี่ยนโครงสร้างโดยเฉพาะเรื่องระเบียบงบการเงิน ทุกบาทต้องโปร่งใส ควรเข้าไปตรวจสอบงบการเงินซึ่ง สปส.มีค่าใช้จ่ายกว่า 5.5 พันล้านบาท ได้มีการตรวจสอบหรือยังว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ นอกจากนี้หนี้สูญต่างๆที่มีมากกว่า 300 ล้านได้มีการตรวจสอบว่าสมเหตุสมผลหรือไม่

นางสุนี ไชยรส รองประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยกล่าวว่า การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้แม้ขลุกขลักบ้าง แต่ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่มีการจัดการเลือกตั้งบอร์ดครั้งต่อไป กองทุนประกันสังคมเติบโตมาจากการต่อสู้ประชาชน ความคาดหวังจึงแตกต่างจากบอร์ดที่มาจากการแต่งตั้ง เป็นการเริ่มต้นและความร่วมมือต้องมีมากกว่านั้น และเมื่อมาจากการเลือกตั้ง ขอให้รับฟังผู้ประกันตนอย่างจริงจัง กล้าคิด กล้าทำ กล้าออกนอกกรอบหรือไม่ เราจำเป็นต้องติดตามตรวจสอบเพื่อทำให้กองทุนประกันสังคมนำไปสู่ความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด


หลากข้อเสนอปรับระบบประกันสังคม 

รศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ จากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ้งภากรณ์ กล่าวว่า กฎหมายประกันสังคมเกิดจากการต่อสู้ของภาคประชาชนทั้งแรงงาน องค์การพัฒนเอกชน นักศึกษา นักวิชาการ โดยเฉพาะ ศ.นิคม จันทรวิทุร อดีตสมาชิกวุฒิสภา โดยบอร์ดประกันสังคมมีหน้าที่บริหารสำนักงานประกันสังคมและกองทุนประกันสังคมซึ่งขณะนี้มีเงินมากกว่า 2 ล้านล้านบาท ปัญหาต่างๆ มีมาโดยตลอด ปี 2549 มีการวิจารณ์เรื่องที่บอร์ดไม่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของแรงงานเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน สหภาพแรงงานนำเงินกองทุนไปรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดซึ่งเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ จึงเกิดข้อเสนอปฎิรูปประกันสังคม เช่น เปลี่ยนสถานภาพของ สปส.ให้เป็นองค์กรมหาชน โดยจ้างคณะนักวิจัยจากธรรมศาสตร์ และมีข้อเสนอต่างๆ อีก เช่น เปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งผู้แทนนายจ้างและลูกจ้างในบอร์ด บูรณาการระบบประกันสังคมเข้ากับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

“ข้อเสนอที่ปัจจุบันมากขึ้นคือการปฎิรูประบบบำนาญ เช่น ปรับเพิ่มเพดานการจัดเก็บเงินสมทบในการคำนวณสิทธิประโยชน์ การขยายอายุการเกิดสิทธิรับบำนาญจาก 55 ปีเป็น 60 ปี เพราะปัจจุบันคนที่รับบำนาญเกษียณไปแล้วถูกตัดสิทธิในการรักษาพยาบาล” รศ.ดร.นภาพร กล่าว

ก่อนการเปิดโอกาสให้ผู้รับสมัครเลือกตั้งได้แสดงวิสัยทัศน์ ผู้แทนผู้ประกันตนตามมาตราต่างๆ ได้นำเสนอเพื่อการปฎิรูปและพัฒนาระบบประกันสังคม 

ดร.โชคชัย สุทธาเวศ กล่าวว่า ประกันสังคมเป็นกองทุนขนาดใหญ่ต้องบูรณาการทำงานร่วมกับกองทุนอื่นๆ เช่น กองทุนเงินทดแทน กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กองทุนผู้ใช้แรงานเกี่ยวกับการกู้ยืม กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออม กองทุนกู้ยืมด้านการศึกษาและกองทุนต่างๆ กองทุนทั้งหมดส่งเสริมคุณภาพชีวิตทุกหมู่เหล่า แต่มีข้อชวนคิดว่าเรายังไม่มีเงินเพียงพอดูแลคุณภาพชีวิตทุกหมู่เหล่าอยู่ดี เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเอาเงิน 1-10% เป็นกองทุนแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ถ้าทำเช่นนี้รัฐบาลปัจจุบัน อาจไม่ต้องไปกู้เงินมาแจกประชาชน

นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้แทนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 กล่าวว่า ปัจจุบันประกันสังคมยังมีความแบ่งแยก ทั้งๆ ที่แนวคิดคือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขทั้งในและนอกระบบ โดยผู้ประกันตนมาตรา 40 ยังแบ่งคนออกเป็น 3 ช่องทางคือคนจน คนปานกลางและคนรวย ตามเงินสมทบที่ส่ง ทั้งๆ ที่ควรเป็นมาตรฐานเดียวกันและมีเพียงช่องทางเดียว อย่างไรก็ตามประเทศไทยเป็นประเทศแรกให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งบอร์ด 

“แรงงานนอกระบบอย่างป้า เราไม่มีนายจ้าง ควรมีการปรับกฎหมายหรือไม่ เพราะคนที่มีรายได้น้อยบางส่วน ไม่สามารถส่งเงินสมทบต่อได้ เราอยากให้มีกฎหมายร่มใหญ่คุ้มครองแรงงานนอกระบบ แต่พอออกมาจริงๆ คุ้มครองแค่เพียงไรเดอร์ เราอยากเห็นกองทุนประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ ไม่อยากให้มีนักการเมืองหรือข้าราชการเข้าไปมีอำนาจมากกว่าสัดสวนของผู้ประกันตน ถ้ายังเป็นเช่นนี้ แรงงานนอกระบบจะไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมเลือกตั้งได้เพราะเราอยู่พื้นที่ห่างไกล แต่หน่วยเลือกตั้งอยู่ในเมือง การจะเดินทางไปเลือกตั้งต้องใช้ค่ารถซึ่งเราไม่มี อยากให้ปรับให้สอดคล้อง”นางสุจิน กล่าวว่า

น.ส.วิภา มัจฉาชาติ ผู้แทนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 กล่าวว่า อยากให้แก้ระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับผู้ประกันตน โดยผู้ประกันตนมาตรา 40 ไม่ค่อยมีโอกาสได้สมัครรับเลือกตั้งเพราะมีเงื่อนไขว่าต้องส่งเงินสมทบติดต่อกัน 36 เดือน แต่เราเป็นแรงงานอิสระที่ต้องเข้า-ออกจากงานบ่อย บางครั้งต้องส่งคร่อมเดือนทำให้ถูกตัดสิทธิ ที่สำคัญคือการที่ให้ผู้ประกันตนไปลงทะเบียนซึ่งมีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ ทำให้มีผู้ประกันตนน้อยมากที่มาลงทะเบียน

“ที่ผ่านมามีงบศึกษาต่างๆ ของกองทุนประกันสังคมจำนวนมาก แต่ผู้ประกันตนกลับไม่รู้สิทธิของตัวเอง เราขอว่าอย่าให้มีการผูกขาดการศึกษาไว้ที่สภาองค์การลูกจ้างใหญ่ๆ เท่านั้นหรือกรณีที่ใช้งบจัดทำปฏิทิน เปลี่ยนมาเป็นงบอุดหนุนเด็กดีกว่าหรือไม่ นอกจากนี้อยากฝากด้วยว่าเราอยากได้ประกันสังคมถ้วนหน้า”นางวิภา กล่าว

น.ส.สุธิลา ลืนคำ ผู้แทนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 กล่าวว่าประกันสังคมต้องครอบคลุมคนทำงานถ้วนหน้า โดยมาตรา 33 มีสิทธิประโยชน์ 7 กรณี แต่หลายเรื่องกลับไม่เป็นจริง เช่น ค่าทำฟันเพราะน้อยมาก หรือกรณีมาตรา 39 ซึ่งตกงานกลับต้องส่งเงินสมทบในส่วนของนายจ้างซึ่งเป็นเรื่องตลกมากแทนที่รัฐจะยื่นมือเข้าช่วย 

“ไม่ว่ารัฐบาบาลยุคไหนก็ยังเป็นหนี้กองทุนประกันสังคม ลูกจ้าง นายจ้างส่งเงิน 5% ตลอด รัฐจ่ายแค่ 2.75 % แต่กลับค้างจ่าย แถมรัฐมนตรีแรงงานที่เข้ามาอยู่ยังอยากได้นู้นได้นี่ แทนที่รัฐจะจ่ายเท่ากับเรา แถมเงินที่ติดหนี้ก็ยังไม่ใช้คืน”น.ส.สุธิลา กล่าว

นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า ถ้าเราพึ่งพาประกันสังคมแบบเดิมเราจะเอาเงินจากไหนมารองรับผู้สูงอายุได้ หากมีการใช้แรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นจำเป็นต้องออกแบบประกันสังคมใน 4 ประเด็นคือ 1.การมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติ 2.ควรปฏิรูประบบประกันสังคมให้โปร่งใสอิสระ 3.ปฏิรูปเงินสมทบ เช่น เพดานการจ่ายเงิน 4.การลงทุน การเอารายได้ไปฝากไว้กับการลงทุนเป็นการตอบโจทย์หรือไม่ 

“คิดว่าถึงเวลาแล้วคือเราต้องรับแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น เราต้องออกแบบอย่างไร อยากให้คิดถึงกรอบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย”นายอดิศร กล่าว