ไม่พบผลการค้นหา
วุฒิสภามีมติ 200 เสียงเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.งบฯ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 ส.ค. 2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเสร็จแล้ว

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นำเสนอว่า งบประมาณปี 2565 คำนึงถึงความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ การมีส่วนร่วมของประชาชนและอยู่บนพื้นฐานความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนให้ความสำคัญกับสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางสังคม ให้มีการกระจายงบประมาณอย่างเป็นธรรม มีความคุ้มค่าไม่ซ้ำซ้อนและเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชน รวมถึงให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และประสิทธิผลของการใช้จ่ายของ อปท.

อาคม กล่าวว่า งบฯฯ 2565 ยังเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณานำเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมคงเหลือมาใช้ในภารกิจของหน่วยรับงบประมาณเป็นลำดับแรก ควบคู่ไปกับการพิจารณาทบทวน เพื่อชะลอปรับลดหรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำหรือหมดความจำเป็น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการนำผลการเบิกจ่ายงบประมาณมาประกอบการพิจารณาให้สอดคล้องกับศักยภาพการใช้จ่ายหน่วยรับงบประมาณ พร้อมดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) อภิปรายว่า การจัดสรรงบให้กับ อปท.กว่า 20 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเพิ่มขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 28-29 จึงต้องการเสนอแนะการขยายสัดส่วนการจัดสรรงบอุดหนุน อปท. ไปยังรัฐบาล คือ 1.ในประเด็นของการปรับปรุงรายได้ของ อปท. โดยการเสริมสร้างรายได้และปรับโครงสร้างภาษี 2.ปรับปรุงภาษีอากรที่รัฐบาลเก็บให้และแบ่งให้ โดยการปรับโครงสร้างภาษีระหว่างรัฐบาลกับ อปท. การจัดเก็บและจัดสรรต้องเป็นธรรม เพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และ 3.จัดสรรงบชดเชยให้ อปท. ในกรณีที่รัฐบาลลดหย่อนภาษีให้ประชาชนเป็นกรณีพิเศษ

8621_g_20210830124555.jpeg

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อปี 2563 อปท.ใช้เม็ดเงินไปเกือบ 30,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนและรัฐบาล ในการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ จ่ายเบี้ยเลี้ยงให้กับประชาชนที่กลับคืนภูมิลำเนาเกือบ 1 ล้านคน และในการระบาดครั้งนี้ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาในหลายเรื่องตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย คือ การคัดกรองผู้ติดเชื้อ จัดตั้งโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอย ลดและงดการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ลดการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 และจัดหาวัคซีนทางเลือกให้คนในพื้นที่แล้วกว่า 3 ล้านคน โดยได้ใช้งบของท้องถิ่นเองส่วนใหญ่เป็นงบประมาณสะสม รวมงบที่จัดหาวัคซีนไปแล้วมากกว่า 5,000 ล้านบาท จากข้อมูลบางส่วนที่ได้ระบุให้ทราบ

"จึงต้องการกล่าวฝากไปยังรัฐบาลว่า พิจารณาเพิ่มงบประมาณและรายได้ให้กับ อปท. ให้มากขึ้นจากเดิมยอดรวม 700,000 บาทเพิ่มขึ้นอีก 100,000-200,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2565-2566 ด้วย พร้อมกับต้องเชื่อมั่นในศักยภาพและมอบอำนาจให้กับ อปท. เป็นผู้ตัดสินใจ เปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นรัฐกระจายอำนาจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนได้อย่างแท้จริง"

เวลา 16.00 น. ที่ประชุมวุฒิสภา ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ด้วยคะแนน 200 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 3 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง