ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับปรุง 4 เกณฑ์สนับสนุนเงินทุนไหลออก เน้นสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่า มีผลบังคับใช้ 8 พ.ย. นี้

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ความไม่สมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้ายกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น กระทรวงการคลัง และ ธปท. จึงได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้เงินทุนไหลออก ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาท รวมทั้งจะช่วยให้การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 8 พ.ย. 2562 

โดยปรับปรุงกฎเกณฑ์ 4 ข้อ ที่มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. การยกเว้นการนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ 

  • อนุญาตให้ผู้ส่งออกที่มีรายได้ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อใบขน สามารถฝากเงินไว้ในต่างประเทศโดยไม่จำกัดระยะเวลา ทั้งนี้ ในปี 2561 รายได้รวมจากการส่งออกที่ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อใบขน มีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าของการส่งออกทั้งหมด 
  • หากผู้ส่งออกมีรายได้สูงกว่าวงเงินข้างต้น ยังสามารถนำไปหักกลบกับรายจ่ายในต่างประเทศได้ ไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศ โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงขึ้นทะเบียนกับ ธปท. และยื่นเอกสารหลักฐานกับธนาคารพาณิชย์
  • ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศให้ง่ายขึ้น โดยการปรับปรุงกฎเกณฑ์ข้างต้นเพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศ โดยพักเงินไว้ในต่างประเทศเพื่อรอชำระค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน และช่วยให้สามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น  

ทั้งนี้ ธปท. ได้หารือเบื้องต้นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าจะขยายวงเงินรายได้จากการส่งออกไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศเป็น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อใบขน ภายในระยะ 3 เดือนข้างหน้า โดยการผ่อนคลายดังกล่าวจะครอบคลุมประมาณร้อยละ 80 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด  

2. การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ 

  • เปิดเสรีให้นักลงทุนรายย่อยสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เองในวงเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี จากเดิมที่ต้องผ่านตัวกลางในประเทศ หรือต้องมีสินทรัพย์ตามเงื่อนไขที่กำหนด 
  • เพิ่มวงเงินรวมสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จัดสรรให้นักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็น 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อรองรับการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น

3. การโอนเงินออกนอกประเทศ 

  • เปิดเสรีการโอนเงินออกนอกประเทศได้ทุกวัตถุประสงค์ ยกเว้นเพียงไม่กี่รายการ (negative list) อาทิ การชำระธุรกรรมซื้อขาย FX/THB กับสถาบันการเงินในต่างประเทศที่ยังต้องขออนุญาตจาก ธปท. 
  • อนุญาตให้สามารถโอนเงินให้ตนเองหรือญาติที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศได้เสรี และสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ สามารถโอนได้ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี โดยซื้อในชื่อของบุคคลในครอบครัวได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการย้ายถิ่นฐานและการส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศ
  • ประชาชนหรือภาคธุรกิจที่ต้องการโอนเงินออกนอกประเทศต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อครั้ง ไม่ต้องยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมสะดวกขึ้น

4. การซื้อขายทองคำในประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ

  • อนุญาตให้ลูกค้าคนไทยที่มีการลงทุนซื้อขายทองคำกับบริษัทผู้ค้าทองคำที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ชำระราคาในรูปเงินตราต่างประเทศผ่านบัญชี FCD ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศได้ โดยลูกค้าสามารถเก็บเงินตราต่างประเทศจากการขายทองคำไว้ในบัญชี FCD โดยไม่ต้องแลกเป็นบาทเพื่อรอลงทุนในครั้งต่อไป นอกจากนี้ ธปท. ยังพร้อมที่จะอนุญาตการซื้อขาย Gold Futures ในรูปเงินตราต่างประเทศในระยะต่อไปด้วย

ลดดอกเบี้ยนโยบาย-ปรับเกณฑ์เปิดก็อกเงินไหลออก ทำ 'บาทอ่อน' ทันตาเห็น

ขณะที่ ฝ่ายค้าเงินตราต่างปรเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานภาวะเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 6 พ.ย. 2562 ว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6 พ.ย.) ที่ระดับ 30.25/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (5 พ.ย.) ที่ระดับ 30.18/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.24-30.38 บาท/ดอลาร์สหรัฐฯ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.30/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 1.25 ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วและซื้อขายแถวระดับ 30.40 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนจะลดช่วงของการอ่อนค่าลงได้บ้าง นับตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าประมาณร้อยละ 7 และยังเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในเอเชีย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :