ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายชาวบ้านในอำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ ส่งหนังสือปฎิเสธร่วมเวทีชี้แจงโครงการผันน้ำของกรมชลประทาน เหตุจัดในช่วงหน้าฝน ทำให้ชาวบ้านต้องขึ้น-ลงดอยด้วยความยากลำบาก อีกทั้งผู้จัดไม่ได้ส่งเอกสารประกอบการประชุมแก่ชาวบ้านเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจก่อนประชุม

สะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เครือข่ายชาวบ้านในอำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ ได้ส่งหนังสือคัดค้านและไม่เข้าร่วมประชุมโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำภูมิพล ไปยังอธิบดีกรมชลประทาน ภายหลังจากที่กรมชลประทานได้เชิญผู้แทนชุมชนหลายรายเข้าประชุม

กลุ่มย่อยฯ เพื่อชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมและชี้แจงข้อมูลที่คลาดเคลื่อนแก่ประชาชนบริเวณพื้นที่ตอนกลางอุโมงค์ส่งน้ำ ในวันที่ 4 ก.ย. 2563  ณ ห้องประชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

สะท้านกล่าวว่า ทางเครือข่ายชุมชนตำบลนาเกียนตำบลอมก๋อย และเครือข่ายลุ่มน้ำฯ ได้หารือกันและประเมินถึงประสิทธิภาพการเข้าร่วมประชุมและมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ร่วมกันแล้ว มีความเห็นว่าชาวบ้านไม่สามารถเข้าร่วมประชุมดังกล่าวได้เนื่องด้วย 9 เหตุผลสำคัญ คือ 1.การจัดประชุมดังกล่าวจัดในช่วงฤดูฝน สภาพถนนออกจากชุมชนไปสถานที่ประชุมยากลำบาก อันตรายต่อการเดินทาง สภาพเป็นถนนลูกรังบนภูเขาต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากกว่าปกติ และบางชุมชนต้องเดินทางไกลมากเพื่อเข้าร่วมประชุมดังกล่าว โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่บริเวณปากอุโมงค์และท้ายอุโมงค์ 

2.ปกติในช่วงฤดูฝน ชาวบ้านต้องยุ่งกับการกำจัดวัชพืชในพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกข้าวไร่ ชาวบ้านจึงไม่สะดวกที่จะเข้าร่วมในช่วงเวลาดังกล่าว

 3 .สถานที่จัดประชุมไม่เหมาะสมเพราะไม่ได้เป็นศูนย์กลางของทุกชุมชนเป้าหมายอย่างแท้จริง 

4. การจัดเวทีครั้งนี้ไม่มีรายละเอียดกำหนดการเรื่องเวลาและใครจะเป็นผู้มาชี้แจงข้อมูล ซึ่งชาวบ้านเกรงว่าจะเป็นเช่นที่ผ่านมา ที่ชาวบ้านต้องเดินทางไกลเข้าไปร่วมประชุมสุดท้ายพอชาวบ้านจะตั้งคำถาม ผู้จัดประชุมก็บอกว่าไม่มีเวลาเพียงพอให้ถาม และบางคำถามก็ไม่มีคำตอบให้ ซึ่งเสียเวลาและไม่เกิดประโยชน์ใด ๆกับชาวบ้านในการเข้าร่วม 

 5. การจัดเวทีครั้งนี้ ผู้จัดไม่ได้ส่งเอกสารประกอบการประชุมแก่ชาวบ้านเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจก่อนประชุม ซึ่งสุดท้ายก็จะเป็นเพียงแค่การชี้แจงฝ่ายเดียวโดยที่ชาวบ้านไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตั้งคำถามหรือแสดงความคิดเห็น 

6.จากการโทรศัพท์สอบถามเจ้าหน้าที่ประสานงาน การประสานงานกับชาวบ้านในพื้นใช้วิธีโทรศัพท์ประสานงานเป็นหลัก ไม่มีการเดินทางเข้ามาแจ้งโดยตรงกับชาวบ้านกลุ่มเป้าหมาย โดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณ ทำให้เกิดการสื่อสารคลาดเคลื่อนเข้าใจไม่ตรงกัน อีกทั้งบางหมู่บ้านก็ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ทำให้เห็นได้ว่าผู้ประสานงานไม่มีความจริงใจและไม่ได้มีความพยายามให้ชาวบ้านมาร่วมเวทีให้มากที่ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด 

7. ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ชาวบ้านไม่เห็นว่าผู้จัดประชุมจะมีแผนหรือมาตรการในป้องกันการระบาดแก่ผู้เข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด 

8.ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการใดๆ เลย แม้ว่าจะมีผู้นำเข้าร่วมประชุมบ้างแต่ก็ไม่สามารถถ่ายทอดต่อให้สมาชิกชุมชนได้ เนื่องด้วยภาษาที่เข้าใจยากในการนำเสนอ และที่สำคัญเป็นการชี้แจงฝ่ายเดียวมาโดยตลอด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ดำเนินการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบและกรมชลประทานไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนแต่อย่างใด 

9. ตั้งแต่ชาวบ้านเริ่มได้ยินชื่อโครงการ ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลนาเกียนกับตำบลอมก๋อยก็แสดงเจตนาชัดเจนมาโดยตลอดว่าไม่เห็นกับโครงการดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากสื่อที่ปรากฏต่อสาธารณะ และยังคงยืนยันตามเจตนารมณ์เช่นเดิม

พิบูลย์ ธุวมณฑล เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์อมก๋อย กล่าวว่า ชาวบ้านยังไม่รู้เรื่องโครงการผันน้ำครั้งนี้เลย ที่ผ่านมาทางการเคยเชิญกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านไปร่วมประชุม ทำให้รู้เฉพาะผู้นำนั้นๆ แต่เดี๋ยวนี้ได้มีการผลัดเปลี่ยนผู้นำรุ่นใหม่ซึ่งไม่รู้เรื่องเหล่านี้เลย ที่สำคัญคือในช่วงน่าฝนการสัญจรในอำเภออมก๋อยมีความยากลำบากมาก ส่วนใหญ่ต้องเดินทางโดยรถจักรยานยนต์โดยต้องใส่โซ่ที่ล้อ มิฉะนั้นจะไม่สามารถขึ้น-ลงดอยได้ โดยจุดที่กรมชลประทานนัดประชุมนั้น อยู่ห่างจากหมู่บ้านที่ได้รับเชิญราว 40 กิโลเมตร หากขี่รถจักรยานยนต์ใส่โซ่ไปต้องใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 2 ชั่วโมง 30 นาที 

14E40550-0B67-4663-9C5E-4DD5A868F5FA.jpeg

“ชาวบ้านอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการผันน้ำทั้งหมดทั้งข้อดีข้อเสีย ที่ผ่านมาพวกเขาไม่เคยรู้เรื่องโครงการเลย กรมชลฯ ไม่เคยมีเอกสารไปแจก แม้แต่ครูในพื้นที่ก็ยังไม่รู้เลย หมู่บ้านที่นี่อยู่ห่างไกลกันมาก ไม่มีไฟฟ้า สื่อสารกันด้วยภาษาถิ่น คือกะเหรี่ยง เขาไม่ได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์หรือดูข่าวทางโทรทัศน์ การสื่อสารที่ดีที่สุดคือต้องเข้าพื้นที่และนัดประชุมในหมู่บ้าน” พิบูลย์

อนึ่ง โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เป็นแผนในการสร้างเขื่อนและขุดอุโมงค์ เพื่อนำน้ำจากลำน้ำในลุ่มน้ำสาละวิน ได้แก่แม่น้ำเมย และแม่น้ำยวมมาเติมในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ในลุ่มน้ำปิง-เจ้าพระยา โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังไม่มีมติให้ผ่าน EIA เนื่องจากผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพันธุ์ปลาที่จะสร้างปัญหาข้ามลุ่มน้ำ 

BA013CF4-CD58-4439-8B45-AD4FD81A684B.jpeg

 โครงการผันน้ำดังกล่าวที่ผ่านมาถูกคัดค้าน เนื่องจากผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่ารอยต่อ 3 จังหวัดภาคเหนือ คือเชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีความสำคัญทางนิเวศ และมีรายงานข่าวความพยายามที่จะให้บริษัทจีนเข้ามาร่วมทุนก่อสร้างให้ฟรี โดยแลกกับสิทธิในการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ใกล้ชายแดนไทยพม่า