ไม่พบผลการค้นหา
ความเปลี่ยนแปลงในกองทัพบกไม่ใช่แค่เพียงด้านระเบียบวินัย นับตั้งแต่ทรงผมข้างขาวสามด้าน มาจนถึงสายบังคับบัญชาที่หลอมละลายขั้ว ‘บูรพาพยัคฆ์-วงศ์เทวัญ’ อีกทั้งการจัดโครงสร้างหน่วยของ ทบ. ใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะหน่วยกำลังปฏิวัติ ทบ. ที่ตั้งใจกลางกรุงเทพฯ

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยก็คือประวัติศาสตร์ภายในกองทัพบก ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24มิ.ย.2475 นำโดยคณะราษฎร

ชื่อของนายทหารบกในคณะราษฎรที่สำคัญ ได้แก่ พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าผู้ก่อการคณะราษฎรและหัวหน้าสายทหารบก ผู้อ่านประกาศคำแถลงการณ์คณะราษฎรฉบับแรก ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า อดีตนายกฯ คนที่ 2 โดยเป็นนายทหารที่เติบโตมาในเหล่าปืนใหญ่ จอมพล ป พิบูลสงคราม สมาชิกคณะราษฎรและสายทหารบก โดยเป็นนายทหารที่เติบโตในเหล่าทหารปืนใหญ่ อดีตนักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ประเทศฝรั่งเศส (ขณะยศร้อยโท) เป็นต้น

ล่าสุดช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีการพูดถึงอนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนาและอนุสาวรีย์จอมพล ป พิบูลสงคราม ที่ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน จ.ลพบุรี จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

จากนั้นไม่นานสำนักข่าวบีบีซีไทย ได้รายงานข่าว โดยระบุว่าได้พูดคุยกับ พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายคนที่ 4 ของพระยาพหลพลพยุหเสนา ถึงเรื่องดังกล่าว

โดย พ.ต.พุทธินาถ ระบุว่า ทางหน่วยจะมีพิธีบวงสรวงย้ายอนุสาวรีย์ของ จอมพล ป พิบูลสงคราม และ พระยาพหลพลพยุหเสนา โดยย้ายจากจุดที่ตั้งเดิมหน้าค่ายไปยังหน้า พิพิธภัณฑ์พลเอกพระยาพหลพล และพิพิธภัณฑ์จอมพล ป พิบูลสงคราม ที่ตั้งอยู่ในศูนย์การทหารปืนใหญ่แทน

จอมพล ป พิบูลสงคราม รัฐประหาร 2490 2E4-482E-9354-8C53936B8082.jpeg

(จอมพล ป พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการอุ้มหลังการรัฐประหาร 2490)

ย้อนกลับไปช่วงต้นเดือนต.ค.62 พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เปิดอาคารรับรองของพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ที่ บก.ทบ.ราชดำเนิน โดยการปรับปรุงอาคารดังกล่าวนั้นเป็นไปตามความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ครั้งเป็น ผบ.ทบ. ที่ พล.อ.อภิรัชต์ มาสานเจตนารมณ์นี้ โดยอาคารหลังนี้ เดิมเป็นอาคารสรรพาวุธของ ร.11 รอ. และ ร.1 รอ. จึงมีการติดป้ายชื่อหน่วยไว้ที่ทางขึ้นด้านหลังตึก อีกทั้งได้มีการติดป้ายชื่อห้องชั้น 1 และ 2 ของอาคาร โดยเป็นบุคคลสำคัญช่วงหลังเหตุการณ์ 24มิ.ย.2475 ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับคณะราษฎร

ชั้นล่างใช้ชื่อห้อง ‘ศรีสิทธิสงคราม’ ที่มาจากพระยาศรีสิทธิสงคราม หรือ ดิ่น ท่าราบ โดยมีการติดตั้งภาพถ่ายไว้ในห้องด้วย โดย ‘ดิ่น ท่าราบ’ มีศักดิ์เป็นคุณตาของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ด้วย ส่วนชั้นบนชื่อห้อง ‘บวรเดช’ ที่มาจากพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งชื่อนี้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็คือเหตุการณ์ ‘กบฎบวรเดช’ แต่ชื่อห้องดังกล่าวได้ตัดคำว่า ‘กบฎ’ ออกไป โดยทาง ทบ. เป็นผู้ตั้งชื่อห้อง โดยไม่ได้มาจาก พล.อ.ประยุทธ์ แต่อย่างใด

สำหรับเหตุการณ์กบฎวรเดชเกิดขึ้นเมื่อ 11 ต.ค.2476 ถือเป็นกบฏแรกหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 หลังฝ่ายคณะราษฎร นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ส่งกำลังมาปราบ ‘คณะกู้บ้านเมือง’ ทำให้ฝ่ายพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงครามพ่ายแพ้ จนเป็นที่มาของ ‘กบฎบวรเดช’ ต่อมา จอมพล ป. ได้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่กำลังฝั่งคณะราษฎรที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยใช้ชื่อว่าอนุสาวรีย์พิทักษ์ธรรมนูญ หรือ อนุสาวรีย์ปราบกบฎ ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนหลักสี่ กทม. โดยอนุสาวรีย์กลับถูกเคลื่อนย้ายหายไปกลางดึก 28ธ.ค.2561

อีกเหตุการณ์สำคัญคือการที่ พล.อ.อภิรัชต์ พูดถึงตัวเลขปี 2475 ผ่านเวทีแผ่นดินของเราในนุมมองด้านความมั่นคง ที่ บก.ทบ. เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2562 โดยโยงถึงกลุ่มการเมืองที่เป็นพวก ‘ซ้ายจัด ดัดจริต’ สมคบคิดกับ ‘Mastermind’ ระหว่างผู้มีแนวคิดคอมมิวนิสต์เดิมกับนักเรียนนอก แล้วอ้างตัวเลข 2475 ซึ่งการขึ้นเวทีทอล์กครั้งนั้นของ พล.อ.อภิรัชต์ ถือเป็นการเปิดเหน้าชนระหว่าง ‘ฝ่ายอำมาตย์-อำนาจเดิม’ กับ ‘พวกฮ่องเต้ซินโดรม-พวกซ้ายจัด’ ที่เปรียบเป็นตัวแทน (Proxy) ทางการเมือง

พระยาพหลพลพยุหเสนา  คณะราษฎร 111.jpg

(พระยาพหลพลพยุหเสนา)

“นักวิชาการ หรืออาจารย์บางคนที่คบคิดกับพวกคอมมิวนิสต์เดิม เป็น Mastermind เป็นคลังสมอง ร่วมกับนักเรียนนอกซ้ายจัดดัดจริต ที่ไปเรียนจากประเทศที่เคยล่าอาณานิคม อบรมสั่งสอนแบบไร้จรรยาบรรณ ชอบอ้างเลข 2475 เป็นตัวชี้นำ ชอบอ้างว่าตนเป็นนักประชาธิปไตย แต่มีวาทกรรมจาบจ้วง” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว

“นักธุรกิจเจ้าของโรงงานที่เกิดมาคาบช้อนเงินช้อนทอง ชีวิตไม่เคยลำบาก เหมือนพวกฮ่องเต้ซินโดรม เคยชุมนุมร่วมกับคนเผาบ้านเผาเมือง สมคบคิดกับชาวต่างชาติ ชักศึกเข้าบ้าน เจาะพฤติกรรมล้างสมองคนรุ่นใหม่เพื่อเป็นฐานให้กับตนเข้าสู่การเมือง มีพฤติกรรมล้มล้างชาติ สถาบัน” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว

อภิรัชต์

ล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ ออกมากล่าวถึงคำว่า ‘Proxy Crisis’ แต่ยังไม่ใช่ ‘Proxy War’ โดย ‘Proxy Crisis’ คือ วิกฤตการณ์ที่มีคนบางคนอยู่เบื้องหลัง ไม่ออกมาสู้ โดยไม่สามารถต่อสู้กับภาครัฐได้โดยตรงก็ต้องสร้างตัวแทนขึ้นมา

สอดคล้องกับสถานการณ์เมืองไทยในขณะนี้ ส่วนใครอยู่ ‘เบื้องหลัง’ นั้น พล.อ.อภิรัชต์ ไม่ได้ระบุเจาะจงตัวบุคคล แต่เป็นการพูดในมุมมองทางวิชาการเท่านั้น แต่สุดท้ายก็ถูกโยงไปถึง ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นเป้านิ่งใหญ่ของ พล.อ.อภิรัชต์ หลังเปิดหน้าชนเมื่อครั้งจัดทอล์กแผ่นดินของเราฯ แล้วขึ้นภาพเงาปริศนาที่ถ่ายภาพคู่กับ ‘โจชัว หว่อง’ พร้อมกับวาทะ ‘ฮ่องเต้ซินโดรม’ ที่ พล.อ.อภิรัชต์ ทิ้งท้ายไว้

แม้ พล.อ.อภิรัชต์ จะไม่ระบุชัดเจนว่า ‘วิกฤติตัวแทน’ ครั้งนี้คืออะไร แต่ก็มีการมองไปถึงการเผชิญหน้าทางความคิดของสังคมในเรื่องละเอียดอ่อน แน่นอนว่า พล.อ.อภิรัชต์ ก็เป็นตัวแทนของ ‘ฝ่ายอำมาตย์-อำนาจเดิม’ ส่วน ‘ธนาธร’ ก็เป็นตัวแทนของ ‘ฝ่ายอำนาจใหม่’ หรือตามฉายาที่เคยได้ก่อนหน้านี้คือ ‘ไพร่หมื่นล้าน’ นั่นเอง

ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงการบันทึกประวัติศาสตร์ของ ทบ. ที่กำลังมีการชำระประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่

โดยเฉพาะกับประวัติศาสตร์ ‘ทหารคณะราษฎร’ และการจดจำเหตุการณ์ 24มิ.ย.2475 ที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่ไม่ใช่เพียงในรั้ว ทบ. เท่านั้น แต่อาจขยายมายังสังคมภายนอกด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นในรั้ว ทบ. และแอคชั่นของ พล.อ.อภิรัชต์ เป็นเพียงบทหนึ่งเท่านั้น จากมหากาพย์ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นต่อไป

โดยมีบทสรุป คือ ‘ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์’ นั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog