ไม่พบผลการค้นหา
'สันติธาร-พิพัฒน์' มองเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลก แนะใช้นโยบายเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ ควบนโยบายการเงิน การคลัง พยุงเศรษฐกิจปี 62

ในงานสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประจำปี 2562 เรื่อง "คลังคิด เศรษฐกิจเชิงพื้นที่" นายสันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist บริษัท Sea Group กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังคงมีความท้าทายจากเศรษฐกิจโลก โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้จะยังมีการชะลอตัวลง เพราะไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก ดังนั้น สิ่งที่สำคัญในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ยิ่งต้องมีมาตรการเสริมความแข็งแกร่งของฐานราก ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจภายในมากขึ้น เช่น นโยบายเศรษฐกิจการคลังเชิงพื้นที่ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะเมื่อก่อนไทยดูในระดับประเทศ หรือ แมคโครรวมๆ แต่ไม่เคยมาดูในเชิงพื้นที่

ขณะที่ ปัญหาของผู้มีรายได้น้อย กลุ่มคนว่างงาน รวมถึงผู้สูงอายุในแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน โดยหากสามารถจัดสรรงบประมาณให้ถูกจุดก็จะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย

สัมนา สศค.เศรฐกิจเชิงพื้นที่
  • สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist บริษัท Sea Group
“ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเป็นโจทย์ที่สำคัญมากๆ ในภาวะเช่นนี้ยิ่งต้องมีมาตรการเสริมความแข็งแกร่งของฐานรากมากขึ้น ต้องกระตุ้นให้ถูกฝาถูกตัว หากเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส จะสามารถเสริมความแข็งแกร่งเอสเอ็มอีไม่ให้ถูกกระทบหนักในช่วงเศรษฐกิจขาลง จำเป็นที่อาจจะต้องมีเครื่องมือการคลัง การใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริม ซึ่งนโยบายเศรษฐกิจการคลังเชิงพื้นที่จะมีความสำคัญอย่างมาก” นายสันติธาร กล่าว


สัมนา สศค.เศรฐกิจเชิงพื้นที่
  • พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)

ด้าน นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ต้องใช้คำว่ามีแรงกดดันเพิ่มมากขึ้น ทั้งปัญหาภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเริ่มเห็นสภาวะเศรษกิจทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากปัญหาสงครามการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ภาคส่งออกได้รับผลกระทบ ขณะที่ปัจจัยภายในยังรายได้ภาคเกษตรลดลงจากปัญหาภัยแล้ง ขณะเดียวกันเริ่มเห็นสินเชื่อธนาคารชะลอตัวลง จากปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ และรถยนต์ชะลอตัวตามไปด้วย ทำให้เครดิต หรือ สินเชื่อต่างๆ ไหลเข้าสู่ระบบช้าลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ทำให้เงินในกระเป๋าของคนลดลง


"เราต้องเตรียมตัวเก็บกระสุนเอาไว้มาใช้ในอนาคตถ้าปัญหาใหญ่จริงๆ นโยบายการเงินเชื่อว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย ขณะที่มาตรการการคลังอาจจำเป็นที่จะต้องเพิ่มมากขึ้น" นายพิพัฒน์ กล่าว


พร้อมแนะว่า การดูแลเศรษฐกิจของประเทศ ยังจำเป็นที่จะต้องอาศัยมาตรการเข้ามากระตุ้น ทั้งนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการลดดอกเบี้ย รวมถึงนโยบายการคลังต่างๆ ที่เริ่มออกมากระตุ้น ในภาวะที่มีความท้าทายจากภายในและภายนอก อาจจะจำเป็นเพิ่มมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :