ไม่พบผลการค้นหา
อังกฤษเตือนอิหร่าน "ระวังผลร้ายแรงที่จะตามมา" หลังเรือบรรทุกน้ำมันติดธงอังกฤษถูกกักที่ช่องแคบฮอร์มุซ และกองทัพเรือสหรัฐฯ เพิ่งยิงโดรนอิหร่านตกทะเล ส่วนอิหร่านประกาศเพิ่มกำลังผลิต 'ยูเรเนียมเข้มข้น' ที่อาจนำไปใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์

เจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ ประกาศเตือนอิหร่านให้ระวัง 'ผลร้ายแรงที่จะตามมา' ภายหลังอิหร่านสั่งยึดเรือบรรทุกน้ำมันติดธงชาติอังกฤษ 'Stena Impero' ขณะเคลื่อนผ่านช่องแคบฮอร์มุซเมื่อวันศุกร์ที่ 19 ก.ค. โดยอิหร่านระบุว่า เรือสเตนาอิมเพโร ไม่ฟังคำเตือนของหน่วยลาดตระเวนชายฝั่งอิหร่าน ที่พยายามแจ้งว่าผู้ควบคุมเรือกำลังรุกล้ำเข้าสู่น่านน้ำในความดูแลของอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม ฮันต์ยืนยันว่าอังกฤษจะไม่ใช้วิธีทางการทหารตอบโต้อิหร่าน และจะใช้วิธีทางการทูตในการยุติเหตุการณ์ตึงเครียดครั้งนี้ แต่ถ้าหากว่าสถานการณ์ไม่คลี่คลายในเวลาอันรวดเร็ว อิหร่านจะต้องเผชิญกับผลร้ายแรงที่จะตามมาอย่างแน่นอน

ท่าทีดังกล่าวของตัวแทนรัฐบาลอังกฤษ เกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากที่กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาประกาศว่าได้ยิงอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนของอิหร่าน ตกในทะเลอ่าวเปอร์เซียเมื่อวันที่ 18 ก.ค. โดยระบุว่าสหรัฐฯ จำเป็นต้องป้องกันความปลอดภัยของเรือรบและลูกเรือ เนื่องจากโดรนอิหร่านเฉียดเข้าใกล้เรือมากเกินไป

แต่รัฐบาลอิหร่านแถลงปฏิเสธว่าไม่มีโดรนของอิหร่านลำใดถูกยิงตก และหลังจากนั้นเพียง 1 วัน ทางการอิหร่านก็ได้สั่งกักเรือบรรทุกน้ำมันของอังกฤษบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ

  • ทวิตเตอร์ของ 'ไซเอ็ด อับบาส อะรักชี' รมช.กระทรวงต่างประเทศอิหร่าน ระบุว่า อิหร่านไม่ได้เสียโดรนไปสักลำเดียวในช่องแคบฮอร์มุซ และกล่าวว่า "สงสัยเรือรบ USS Boxer ของสหรัฐฯ จะยิงโดรนฝั่งตัวเองร่วง"

ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์สและเดอะวอชิงตันโพสต์รายงานว่า สถานการณ์ตึงเครียดบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ ส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นถึงบาร์เรลละ 62 ดอลลาร์สหรัฐ และอาจทำให้เกิดความผันผวนด้านราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ข้างหน้า 


ลำดับเหตุการณ์ความขัดแย้งอิหร่าน

นักวิเคราะห์ในสื่อต่างประเทศระบุว่า ความขัดแย้งอิหร่านระลอกใหม่เกิดขึ้นนับตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศว่าจะพิจารณาถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ ระหว่างอิหร่าน สหรัฐฯ และประเทศภาคีอื่นๆ ในเดือน พ.ค.2018 พร้อมทั้งสั่งให้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านด้านต่างๆ มีผลบังคับใช้ตามเดิม หลังจากเคยสั่งระงับไปชั่วคราวสมัยอดีตรัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา

ทรัมป์ให้เหตุผลว่า อิหร่านเป็นฝ่ายละเมิดข้อตกลงก่อน อ้างอิงข้อมูลของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ ที่ระบุว่าอิหร่านไม่หยุดพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งยังสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลาง แต่รัฐบาลอิหร่านแย้งว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง

จนกระทั่งเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศว่ากองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม ซึ่งเป็นหน่วยงานทางการทหารของอิหร่าน เข้าข่ายว่าเป็น 'องค์กรเครือข่ายก่อการร้าย' ซึ่งอิหร่านแถลงตอบโต้ และมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ เองก็ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เพราะเกรงจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง

AFP-เรือบรรทุกน้ำมัน-ช่องแคบฮอร์มุซ-Hormuz Strait
  • เรือบรรทุกน้ำมันถูกโจมตีบริเวณช่องแคบฮอร์มุซเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

แม้รัสเซียและจีนจะแถลงกดดันให้สหรัฐฯ ทบทวนนโยบายต่างประเทศที่มีต่ออิหร่าน แต่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น และในวันที่ 20 มิ.ย. อิหร่านได้ยิงโดรนของกองทัพสหรัฐฯ บริเวณช่องแคบฮอร์มุซ โดยอ้างว่าโดรนรุกล้ำอาณาเขตอิหร่าน แต่สหรัฐฯ ยืนยันว่าโดรนของตนเองยังอยู่ในน่านน้ำสากล และการกระทำของอิหร่านถือเป็น 'การคุกคาม'

สถานการณ์ทวีความตึงเครียดขึ้นอีกระดับเมื่ออิหร่านประกาศว่าจะเพิ่มกำลังผลิตยูเรเนียมเข้มข้น เมื่อวันที่ 1 ก.ค. โดยที่ยูเรเนียมดังกล่าวสามารถนำไปใช้ได้ทั้งการผลิตพลังงานและโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ หลังจากนั้นสหรัฐฯ ก็ประกาศว่ากองทัพเรือของตนได้ยิงโดรนอิหร่านตกในวันที่ 18 ก.ค.


ภัยคุกคามความมั่นคงครั้งใหญ่ที่สุดหลังยุค 1980?

ริชาร์ด มีด ผู้อำนวยการสมาคมสื่อสิ่งพิมพ์ด้านอุตสาหกรรมการเดินเรือ เปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า การยึดเรือบรรทุกน้ำมันสเตนาอิมเพโร อาจเรียกได้ว่าเป็น "ภัยคุกคามความมั่นคง" ครั้งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ นับตั้งแต่ยุค 1980 เป็นต้นมา

มีดย้ำด้วยว่า ช่องแคบฮอร์มุซเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญต่อการค้าพาณิชย์ทั่วทั้งโลก หากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ อิหร่าน และอังกฤษ ดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง จะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ อย่างไม่มีทางเลี่ยง

ส่วนโรเบิร์ต แอชลีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาโหมแห่งสหรัฐฯ ประเมินว่าอิหร่านไม่ได้ต้องการก่อสงคราม แต่การยึดเรือบรรทุกน้ำมันและการกักเรือที่แล่นผ่านช่องแคบฮอร์มุซ รวมถึงเหตุโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันหลายลำช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นความพยายามที่จะสร้างอำนาจต่อรองกับสหรัฐฯ ให้กลับสู่โต๊ะเจรจาครั้งใหม่ เพื่อนำไปสู่การผ่อนผันมติคว่ำบาตรอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอิหร่านรายงานว่า กัปตันและลูกเรือของเรือสเตนาอิมเพโร 23 คน ประกอบด้วยชาวอินเดีย รัสเซีย ลัตเวีย และฟิลิปปินส์ ถูกคุมตัวอยู่ที่เมืองท่าบันดาร์อับบาสของอิหร่าน โดยย้ำว่าทั้งหมดปลอดภัยดี แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลอิหร่านกำลังสอบปากคำกรณีที่เรือถูกกล่าวหาว่ารุกล้ำเข้าสู่น่านน้ำอิหร่านโดยไม่ได้ฟังคำเตือนของหน่วยงานลาดตระเวนชายฝั่ง

นอกจากนี้ สถานการณ์ตึงเครียดบริเวณช่องแคบฮอร์มุซระหว่างอิหร่าน สหรัฐฯ และอังกฤษ ที่เป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วเมื่อปี 2012 ซึ่งนำไปสู่การผลักดันในรัฐบาลสหรัฐฯ สมัยนายบารัก โอบามา ให้มีการเจรจากับอิหร่าน จนนำไปสู่การลงนามในข้อตกลงร่วมระหว่างอิหร่าน สหรัฐฯ เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน และอังกฤษ เมื่อปี 2015 แต่ทรัมป์โจมตีว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็น 'ความล้มเหลว' ของรัฐบาลโอบามาที่ยอมอ่อนข้อให้กับอิหร่านมากเกินไป

  • ทวิตเตอร์ของโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยที่ยังไม่ได้รับเลือกเป็น ปธน.สหรัฐฯ เผยแพร่ข้อความโจมตีนโยบายต่างประเทศของอดีต ปธน.บารัก โอบามา ว่าทำให้อิหร่านยึดอิรัก, อัลกออิดะห์ยึดลิเบีย และกลุ่มภราดรภาพมุสลิมยึดอียิปต์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: