ไม่พบผลการค้นหา
'พิธา' นำขบวน 'ส.ส.ก้าวไกล' เข้ารายงานตัว ส.ส. เชื่อคุยกับ ส.ว.เข้าใจ ไม่ติดปมแก้ไข ม.112 ย้ำจุดยืนต้องรักษาสถาบันฯ ด้วยการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับกาลเวลา ไม่ทำเส้นทางนายกฯ สะดุด

วันที่ 27 มิ.ย. ที่อาคารรัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ ส.ส.แบบแบ่งเขต ทั้งหมด 151 คน เดินทางมารายงานตัวเข้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดย พิธา ระบุว่า ในครั้งนี้จำนวน ส.ส.ของพรรคก้าวไกลมีมากกว่าตอนเป็นพรรคอนาคตใหม่ถึง 2 เท่า แต่สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ตัวเลขจำนวน ส.ส. แต่เป็นความตั้งใจที่เราจะทำงานแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ซึ่งเหตุผลที่เลือกมาในวันนี้มีหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งเพราะตนเองติดโควิด-19 และเพราะเป็นวันที่มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ชาติไทย เนื่องด้วยเป็นวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับแรก

อย่างไรก็ตาม สำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.ต่อจากนี้ ตนไม่ได้กังวลใจ เพราะแต่ละท่านคงมีดุลยพินิจในการโหวตเลือก ดังนั้น หาก ส.ส.ได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภา ส่วนตัวเชื่อว่า ส.ว.ก็คงจะโหวตให้ตามมติที่มาจากประชาชน จึงเชื่อว่าหาก ส.ว.ยึดหลักการให้มั่น ก็ไม่น่าจะมีอะไรที่ต้องกังวล พร้อมยืนยันว่าที่ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเจรจากับ ส.ว.เป็นความจริง แต่คงมี ส.ว.เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่มีโอกาสได้พูดคุยกับสื่อมวลชน ดังนั้นขอให้รอเวลาไปก่อน

เมื่อถามว่า ความคืบหน้าในการเจรจากับ ส.ว.นี้ ตีเป็นตัวเลข ส.ว.ได้จำนวนกี่คน พิธา กล่าวว่า เพียงพอสำหรับโหวตให้ตนเป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน ซึ่งเรื่องที่พูดคุยกับส.ว.นั้น ก็มีด้วยกันหลายประเด็นที่เป็นข้อกังวลใจ จึงได้เน้นย้ำให้ ส.ว.ส่วนใหญ่ยึดหลักการโหวตนายกรัฐมนตรีแบบเดียวกับปี 2562 กล่าวคือ หากสภาผู้แทนราษฎรรวมเสียงข้างมากได้ก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องฝืนมติของประชาชน

อย่างไรก็ตาม พิธา ไม่ได้ตอบคำถามว่าได้พูดคุยประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ทั้งนี้ เมื่อถามถึง ส.ว.ส่วนใหญ่ที่ยังมีปัญหากับนโยบายแก้ไขมาตรา 112 พิธา ยืนยันว่า การแก้ไขมาตราดังกล่าว มีการพูดคุยอย่างกว้างขวางในสังคมตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง และยังถือเป็นทางออกของสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาการใช้มาตราดังกล่าวเป็นเครื่องมือทางการเมือง รังแกเยาวชน คนเห็นต่าง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับสถาบันใดเลย

“และการจะรักษาสิ่งที่เรารักคือให้มีการแก้ไขตามบริบท ของสังคมที่เปลี่ยนไป ดังนั้นเรื่องนี้คงไม่เป็นประเด็นที่ทำให้เส้นทางการจัดตั้งรัฐบาลสะดุดลง แต่เมื่อมีข้อมูลหลายฝ่ายอาจจะมีการเข้าใจผิด ย้ำว่าแก้ไขคือแก้ไข ไม่ใช่ยกเลิก และเมื่อได้พูดคุยกับ ส.ว.ก็เข้าใจกันมากขึ้น ว่าในการรักษาระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประมุขก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับประเทศไทยในยุคที่เปลี่ยนผ่านไปเรื่อยๆ”

เมื่อถามต่อว่าเงื่อนไขดังกล่าวจะทำให้ไปไม่ถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ พิธา ระบุว่า หากมีก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเหมือนเป็นการเอาเสียงที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มาปะทะกับสถาบันฯ โดยตรง จึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและอันตรายอย่างยิ่ง ดังนั้นเราไม่ควรหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้าง

ส่วนสำหรับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้อัยการสูงสุดพิจารณารับหรือไม่รับคำร้อง กรณีมีผู้ร้องเรียนให้พรรคก้าวไกลยุติการหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 พิธา กล่าวว่า เป็นเรื่องระหว่าง 2 หน่วยงาน ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะการแก้ไขเพียงกฎหมายเดียวไม่ใช่การล้มล้างระบอบการปกครอง จึงเป็นข้อกล่าวหาที่เกินจริงไปมาก ดังนั้นพรรคก้าวไกลขอยืนยันหลักการว่าเราจะรักษาระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทั้งนี้ พิธา ไม่ได้ตอบคำถามว่า พรรคก้าวไกลยังคงยืนยันว่าตำแหน่งประธานสภาฯ ต้องเป็นของพรรคก้าวไกลหรือไม่ แต่ระบุเพียงว่า ให้รอการแถลงข่าวร่วมกันระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยในวันพรุ่งนี้ (28 มิ.ย.)