ไม่พบผลการค้นหา
อุตสาหกรรมอากาศยานญี่ปุ่นเยือนไทย สนใจร่วมลงทุนในอีอีซี ชี้เอเชียมีศักยภาพ รองรับ 41,030 ฝูงบิน ในช่วง 20 ปีนับจากนี้

วันนี้ (12 กุมภาพันธ์) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี นำโดย นางลักษมณ อรรถพิช รองเลขาธิการสายงานการลงทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ และนายสีห์ศักดิ์ พวงแก้ว ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการต่างประเทศและอดีตเอกอัครราชฑูต ณ กรุงโตเกียว ร่วมกับ นายฮิโรมิ มิทสึมะตะ ประธานเจโทร กรุงเทพฯ และนายเคนสุเคะ ไซโต้ ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและวัสดุอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น หรือ เมติ (METI) กล่าวถึงการมาดูงานและความพร้อมของประเทศไทยของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยานในไทย

ตัวแทนอุตสาหกรรมญี่ปุ่นพบเลขา อีอีซี

(ซ้าย: นายเคนสุเคะ ไซโต้, ขวา: นายฮิโรมิ มิทสึมะตะ)

นายเคนสุเคะ กล่าวว่า ตัวเลขการประมาณการฝูงบินทั่วโลกในระหว่างปี 2560 – 2579 มีอยู่ที่ 41,030 ฝูงบิน โดยแบ่งตามภูมิภาคได้ว่า เอเชียแปซิฟิค 16,050 ฝูงบิน หรือคิดเป็นร้อยละ 39 อเมริกาเหนือ 8,640 ฝูงบิน หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ยุโรป 7,530 ฝูงบิน หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ตะวันออกกลาง 3,350 ฝูงบิน หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ภูมิภาคอื่นๆ อีกร้อยละ 13 โดยตัวเลขข้างต้นนี้แสดงอย่างชัดเจนว่าภูมิภาคเอเชียมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินเป็นอย่างยิ่ง

บริษัทผู้พัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานของญี่ปุ่นหลายบริษัท เริ่มเข้ามาลงทุนการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนมากขึ้น ในประเทศเวียดนาม บริษัทใหญ่อย่างมิตซูบิชิ เข้าไปลงทุนแล้ว ขณะที่บริษัทแจมโก (Jamco) ขยายฐานการผลิตไปทั้งในฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์ นอกจากนี้ มาเลเซียก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกของบริษัทอากาศยานญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน

นายเคนสุเคะ ย้ำว่า ญี่ปุ่นมีความรู้ความสามารถในอุตสาหกรรมประเภทนี้เนื่องจากมีการวิจัยและพัฒนามาเป็นเวลานาน อีกทั้งขณะนี้ เมติ กำลังมองการวิจัยและพัฒนาใหม่ๆ เช่นเดียวกัน และยืนยันว่าญี่ปุ่นอยากที่จะเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานในประเทศไทยเพราะเชื่อมั่นในความพร้อม รวมถึงสนใจพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เป็นพิเศษ


“นอกเหนือจากจะเป็นความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ซึ่งเรามีความสัมพันธ์ด้านอุตสาหกรรมกันยาวนาน ก็หวังว่ามีการต่อยอดการผลิตและการปรับปรุงในกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน” นายเคนสุเคะ กล่าว


ด้านนายฮิโรมิ กล่าวว่า เนื่องด้วยประเทศไทยกำลังดำเนินประเทศด้วยนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งหนึ่งในนั้น คือการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งมีอุตสาหกรรมอากาศยานด้วย เจโทร มองว่า การมาดูงานและความพร้อมในพื้นที่อีอีซีครั้งนี้ของญี่ปุ่น จะเป็นผลดีต่อการกระตุ้นความเชื่อมั่นและการลงทุนของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่เข้มแข็งอยู่แล้วให้เข้มแข็งขึ้นไปอีก เพราะญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีการลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากที่สุด ถึงร้อยละ 46 หรือประมาณ 1.95 แสนล้านบาท ในช่วงระหว่างต้นปี 2560 – กันยายน 2561

ทั้งนี้ เจโทร กรุงเทพฯ และ อีอีซี ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมอากาศยานด้วย หลังนักลงทุนชาวญี่ปุ่นเห็นความคืบหน้าของโครงการโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ตัวแทนอุตสาหกรรมญี่ปุ่นพบเลขา อีอีซี

นางลักษมณ ปิดท้ายการแถลงข่าวด้วยการขอบคุณความร่วมมืออันดีระหว่างอีอีซีกับเจโทร กรุงเทพฯ และเมติ โดยย้ำว่าประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นและพร้อมให้การสนับสนุนในการลงทุนอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องการผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมไปถึงประเด็นภาษี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :