ไม่พบผลการค้นหา
หลัง 'สมยศ พฤกษาเกษมสุข' จำเลยในคดี ม.112 จากการชุมนุมเมื่อ 19-20 ก.ย. 63 ได้ขอให้ศาลตัดสินประหารชีวิตตัวเองเพื่อแลกกับการย่นเวลาการพิจารณาคดีให้กับแกนนำราษฎรคนอื่นนั้น ล่าสุด 'วอยซ์' ได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลของ 'กรมราชทัณฑ์' พบว่ามีนักโทษที่เข้าข่ายต้องโทษประหารชีวิต รวม 257 คน ขณะที่ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยอดคนติดคุกมีตัวเลขที่ไม่ต่ำกว่าปีละ 3 แสนคน

ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ได้สรุปสถิตินักโทษประหารชีวิตทั่วประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 3 มี.ค. 2564 มีจำนวน 257 คน แบ่งเป็นชาย จำนวน 228 คน หญิง 29 คน 

สำหรับนักโทษประหารชีวิตนั้น แบ่งเป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาอุทธรณ์ จำนวน 225 คน ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาฎีกา จำนวน 14 คน และนักโทษเด็ดขาดเมื่อคดีถึงที่สุด จำนวน 18 คน 

ขณะที่ เรือนจำกลางบางขวาง มีนักโทษประหารชีวิตมากที่สุดของประเทศ รวมจำนวน 146 คน แบ่งเป็นเพศชายทั้งหมด มาจาก 1.คดียาเสพติดให้โทษ แบ่งเป็นอุทธรณ์ 88 คน ฏีกา10 คน นักโทษเด็ดขาด 10 คน

2.คดีความผิดทั่วไป อุทธรณ์ 29 คน ฎีกา 3 คน นักโทษเด็ดขาด 6 คน  

รองลงมาเป็นเรือนจำกลางสงขลา มีนักโทษประหารชีวิต จำนวน 46 คน มาจาก 1.คดียาเสพติดให้โทษ อุทธรณ์ 12 คน 2.คดีความผิดทั่วไป อุทธรณ์ 27 คน และ 3. คดีความมั่นคง เป็นผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์ 7 คน

ห้องฉีดยา Voice TV.jpg-โทษประหาร-ประหารชีวิต

นักโทษประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษล่าสุดเมื่อปี 61

สำหรับนักโทษเด็ดขาดรายล่าสุดที่ถูกศาลพิพากษาด้วยการประหารชีวิตนั้น ย้อนไปเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 พ.ต.อ.ณรัช เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ในขณะนั้น เปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชาย อายุ 26 ปี ในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้าย เพื่อชิงทรัพย์ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2555 เหตุเกิดที่จังหวัดตรัง ซึ่งนักโทษเด็ดขาดดังกล่าวได้ทำร้ายและบังคับให้เอาทรัพย์สิน คือ โทรศัพท์มือถือ และกระเป๋าสตางค์ รวมทั้งใช้มีดแทงผู้ตาย รวม 24 แผล เป็นเหตุให้เหยื่อถึงแก่ความตาย

ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน เป็นผลให้คดีถึงที่สุด

"การบังคับโทษประหารชีวิตดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ประกอบมาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ.2546 ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการด้วยวิธีการฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย นับเป็นผู้ต้องขังรายที่ 7 นับแต่มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 ซึ่งเปลี่ยนวิธีการบังคับโทษประหารชีวิตจากการยิงเสียให้ตายเป็นการฉีดสารพิษ" พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว

แถลงการณ์ของกรมราชทัณฑ์ ระบุเมื่อครั้งที่ดำเนินการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชายคนดังกล่าวว่า การประหารชีวิต ถือเป็นบทลงโทษทางอาญาที่หนักที่สุดตามกฎหมายไทย ซึ่งมีโทษ 5 อย่าง คือ ปรับ ริบทรัพย์สิน กักขัง จำคุก และประหารชีวิต แม้หลายประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วก็ตาม แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่เช่นเดียวกับประเทศไทย อาทิ สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งเน้นการปกป้องสังคมและพลเมืองส่วนใหญ่ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมมากกว่าเน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย 

กรมราชทัณฑ์ หวังว่าการประหารชีวิตในครั้งนี้ จะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่คิดจะก่ออาชญากรรมร้ายแรงหรือกระทำผิดกฎหมายได้ยั้งคิดถึงบทลงโทษนี้

อย่างไรก็ตาม บทลงโทษประหารชีวิตในสหรัฐฯ ไม่ได้มีการบังคับใช้ทั่วประเทศ โดยกว่า 30 รัฐยังมีการประหารชีวิต แต่อีก 19 รัฐมีกฎหมายห้ามประหารชีวิต ขณะที่ข้อมูลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ระบุว่า 142 ประเทศทั่วโลกยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว ส่วนไทยยังคงเป็นหนึ่งใน 56 ประเทศที่ยังใช้โทษประหารชีวิตอยู่ และ 5 ประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุด คือ จีน อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อิรัก ปากีสถาน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ

ไทยประหารชีวิตนักโทษแล้ว 326 ราย

สำหรับการบังคับโทษประหารชีวิตในประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 ถึงปัจจุบัน มีการบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว จำนวน 326 ราย โดยแบ่งเป็น 1.การใช้อาวุธปืนยิงจำนวน 319 ราย (ยิงรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2546) 2.การฉีดยาสารพิษ จำนวน 7 ราย (ฉีดสารพิษครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2546) ซึ่งรายล่าสุด เป็นการบังคับโทษประหารชีวิตในรอบ 9 ปี เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561

เรือนจำพิเศษ_3.jpg

คนคุกทั่วประเทศกว่า 3.1 แสนคน

กรมราชทัณฑ์ยังรายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ข้อมูลสำรวจ ณ วันที่ 1 มี.ค. 2564 แบ่งประเภทได้ดังนี้

1.นักโทษเด็ดขาด แบ่งเป็นชาย 219,676 คน หญิง 30,945 คน รวม 250,621 คน (80.429%)

2.ผู้ต้องขัง แบ่งเป็นชาย 52,816 คน หญิง 6,893 คน รวม 59,709 คน (19.1%)

อุทธรณ์-ฎีกา แบ่งเป็นชาย 26,747 คน หญิง 3,441 รวม 30,188 คน (9.6%)

ไต่สวน-พิจารณา แบ่งเป็นชาย 7,795 คน หญิง 1,270 คน รวม 9,065 คน (2.9%)

สอบสวน แบ่งเป็นชาย 18,274 คน หญิง 2,182 คน รวม 20,456 คน (6.5%)

3.เยาวที่ฝากขัง แบ่งเป็นชาย 24 คน หญิง 2 คน รวม 26 คน (0.008%)

4.ผู้ถูกกักกัน แบ่งเป็นชาย 36 คน หญิง 6 คน รวม 42 คน (0.013%)

5.ผู้ต้องกักขัง แบ่งเป็นชาย 1,105 คน หญิง 102 คน รวม 1,207 คน (0.38%)

รวมผู้ต้องราชทัณฑ์มีจำนวนทั้งสิ้น 311,605 คน (ชาย 275,657 คน หญิง 37,948 คน) 

ประยุทธ์ สมศักดิ์ กระทรวงยุติธรรม  142327000000.jpg

สถิตินักโทษถูกขังเทียบระหว่างยุค 'ประยุทธ์' พุ่งทะลุ 3 แสนรายต่อปี

กรมราชทัณฑ์ ได้รวมรวมสถิติจำนวนผู้ต้องขังในช่วงปี 2553 -2564 

หากดูสถิติในช่วงปี 2557 - 2563 ในช่วงที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน หลังการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 จนกระทั่งมาเป็นรัฐบาลสมัยที่สองหลังการเลือกตั้ง

ปี 2557 มีจำนวนผู้ต้องขัง 320,732 คน

ปี 2558 มีจำนวนผู้ต้องขัง 312,429 คน

ปี 2559 มีจำนวนผู้ต้องขัง 299,668 คน

ปี 2560 มีจำนวนผู้ต้องขัง 314,239 คน

ปี 2561 มีจำนวนผู้ต้องขัง 365,480 คน

ปี 2562 มีจำนวนผู้ต้องขัง 363,482 คน

ปี 2563 มีจำนวนผู้ต้องขัง 358,077 คน

โดยตลอด 7 ปี สถิติผู้ต้องขังในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ที่ปีละไม่ต่ำกว่า 3.334 แสนคนต่อปี

ขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินนั้น ปี 2554 มีผู้ต้องขัง จำนวน 159,787 คน

ปี 2555 มีผู้ต้องขัง จำนวน 209,683 คน 

ปี 2556 มีผู้ต้องขัง จำนวน 296,076 คน 

สถิติผู้ต้องขัง กรมราชทัณฑ์ คุก  1 Untitled.png
  • ยอดผู้ต้องขังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา : กรมราชทัณฑ์

ศูนย์ทนายฯ เผยสถิติ 81 รายถูกดำเนินคดีเอาผิด ม.112

ขณะที่เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รายงานสถิติผู้ถูกดำเนินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2563-30 มี.ค. 2564 ภายหลัง เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ประกาศว่าจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ในการดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดำเนินคดีต่างๆ ให้เป็นไปตาม “กระบวนการยุติธรรมของประเทศ” จากนั้นก็ปรากฏรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะเริ่มกลับมาบังคับใช้ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกครั้ง หลังจากมีการเปลี่ยนแนวทางการบังคับใช้มาตั้งแต่ช่วงปี 2561 เป็นต้นมา

ศูนย์ทนายความฯ รายงานว่า นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 81 ราย ใน 72 คดี (นับคดีที่มีผู้ได้รับหมายเรียก แต่ยังไม่ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาด้วย)

  • เป็นคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 30 คดี และคดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 7 คดี ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา
  • เป็นคดีที่เกี่ยวกับการปราศรัยในการชุมนุมจำนวน 25 คดี, คดีการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น การติดป้าย, พิมพ์หนังสือ, แปะสติ๊กเกอร์ เป็นต้น จำนวน 20 คดี, คดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 25 คดี และยังไม่ทราบสาเหตุ 2 คดี
  • ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเยาวชน อายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 6 ราย
  • ศาลมีการออกหมายจับ อย่างน้อย 10 หมายจับ และยังมีการจับตามหมายจับเก่าตั้งแต่ช่วงปี 2559 อย่างน้อย 2 หมายจับ
ม็อบ เพนกวิน พริษฐ์ BTSอโศก

สำหรับ แกนนำการชุมนุมถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนทั้งหมด ดังนี้

พริษฐ์ ชิวารักษ์ 20 คดี

อานนท์ นำภา 12 คดี

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 9 คดี

ภาณุพงศ์ จาดนอก 8 คดี

ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 4 คดี

เบนจา อะปัญ 4 คดี

พรหมศร วีระธรรมจารี 4 คดี

ชินวัตร จันทร์กระจ่าง 4 คดี

ชูเกียรติ แสงวงค์ 4 คดี

วรรณวลี ธรรมสัตยา 3 คดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง