นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร่างพระราชกำหนดกู้เงินเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ได้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ และรอโปรดเกล้าฯ ก่อนประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งก็จะเป็นไปตามกระบวนการ แล้วหลังจากนั้น จึงน่าจะเบิกจ่ายสำหรับดูแลด้านสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท เยียวยาแรงงานอิสระ ลูกจ้างชั่วคราว เกษตรวงเงิน 555,000 ล้านบาท และวงเงินสำหรับฟื้นเศรษฐกิจและสังคม อีก 400,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการช่วยเหลือครอบครัวเกษตรกร ครัวเรือนละ 15,000 บาท ซึ่งเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ ในวันนี้ ยังไม่ได้มีรายละเอียดและกำลังอยู่ระหว่างการประสานงานกับกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งคาดว่า ไม่เกินเดือน พ.ค. จะทราบรายละเอียด
ส่วนเรื่องแหล่งเงินที่จะมาดำเนินการในการเยียวยา บรรเทาทุกข์ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยืนยันว่า ส่วนหนึ่งนำมาจากงบกลางในงบประมาณรายจ่ายปี 2563 พร้อมกับปรับปรุงแผนงานงบประมาณรายจ่ายปี 2564 เพื่อนำมาไว้ในงบกลางเพื่อดูแลผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งหากไม่พอจึงจะใช้เงินจากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ตามที่วางกรอบไว้คือ 45,000 ล้านบาทสำหรับดูแลด้านสาธารณสุข วงเงิน 555,000 ล้านบาท เยียวยาแรงงานอิสระ ลูกจ้างชั่วคราว เกษตรกร และวงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
"ตอนนี้มีจำนวนผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน แล้ว 27.5 ล้านคน และได้รับเงินเยียวยาล็อตแรกแล้ว 3 ล้านคนเศษ และเราตั้งใจว่า ภายในวันอาทิตย์ที่ 19 เม.ย. นี้จะสามารถตรวจสอบสิทธิของผู้ลงทะเบียนทั้งหมดเสร็จสิ้น และในวันที่ 20 เม.ย. จะให้ประชาชนที่ไม่ได้รับสิทธิรับเงินในลอตแรกยื่นเรื่องขอทบทวนสิทธิ" นายประสงค์ กล่าว
นอกจากนี้ ในเอกสารผลประชุม ครม. 15 เม.ย. ยังให้รายละเอียดเรื่องการปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระบุว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้
1. รายจ่ายประจำ ในทุกงบรายจ่ายที่ไม่มีข้อผูกพันหรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ อาทิ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าพาหนะ และการดำเนินกิจกรรม (Event) ที่มีการจ้างผู้จัดกิจกรรม (Organizer) หรือดำเนินการเอง ให้พิจารณาทบทวนวงเงินงบประมาณลง ร้อยละ 25
2. รายจ่ายลงทุน ในทุกงบรายจ่ายที่ไม่มีข้อผูกพัน (รายการปีเดียว) ที่เป็นครุภัณฑ์ทดแทนหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานที่สามารถชะลอการดำเนินงานได้ ให้พิจารณาทบทวนวงเงินงบประมาณลง ร้อยละ 50
3. รายการและงบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถชะลอการดำเนินการได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ ตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการบรรเทาหรือแก้ไขผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
พร้อมกับให้หน่วยรับงบประมาณเสนอการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณฯ ตามแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เสนอคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เพื่อให้ความเห็นชอบและส่งข้อเสนอการปรับปรุงให้สำนักงบประมาณ ภายในวันที่ 22 เม.ย. 2563