ไม่พบผลการค้นหา
มีการมองกันถึงอนาคต ‘พรรคพลังประชารัฐ’ หากถึงวันที่ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไปรอดหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาถูกมองเป็น ‘พรรคเฉพาะกิจ’ ในการดัน พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็น นายกฯ อีกครั้งเท่านั้น อีกทั้งถูกจัดตั้งด้วยระยะเวลาอันสั้น

ทั้งการธุรการและการสร้างบารมีของพรรค ผ่านปรากฏการณ์ ‘พลังดูด’ ก่อนหน้านี้

อีกทั้งมีการจับตาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจลงเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคหรือไม่ ซึ่งมีความเชื่อกันว่ายินยอมแน่นอน หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยินยอม สิ่งที่พรรคทุ่มลงไปก็อาจไร้ความหมาย เพราะไม่มี ‘ไอคอนของพรรค’ เช่นพรรคอื่นๆ ในการเรียกคะแนนเสียง รวมทั้งแคมเปญหาเสียงที่ชูชื่อ ‘ลุงตู่’ และเน้นย้ำเรื่องความสงบเป็นหลักตามมาด้วย

จุดสำคัญอยู่ที่เหตุการณ์ ‘บิ๊กเซอร์ไพรส์’ 2-3 ครั้ง ที่ต้องยอมรับว่ามีผลทำให้คะแนนสวิงไปยังพรรคพลังประชารัฐจากขั้วที่ไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และแรงสวิงหลัง ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่าไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกฯ ต่อไป เพราะเป็นการสืบทอดอำนาจ ทำให้เกิดความขัดแย้ง ยิ่งทำงานนี้เข้าทางพรรคพลังประชารัฐมากขึ้น เพราะมีการมองกันว่างานนี้ต้องถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ ในการมางัดข้อกับขั้วพรรคเพื่อไทย ทำให้แสงของพรรคประชาธิปัตย์ลดลง

แต่จากโผ ครม. ที่เกิดขึ้นงานนี้พรรคพลังประชารัฐ หวังปักธงอยู่ในสนามการเมืองยาว ด้วยผลงานพรรคที่ได้ ส.ส.อันดับ 2 และได้ Popular Vote สูงสุด โดยเฉพาะการฝ่ากระแสต้าน ในการดัน ‘2ป.บูรพาพยัคฆ์’ กลับมาร่วม ครม. อีกครั้ง ทั้ง ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในตำแหน่งเดิม รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม และ ‘บิ๊กป๊อก’พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รีเทิร์น มท.1 อีกครั้ง ซึ่งทั้ง ‘ป.ป้อม-ป๊อก’ ก็ไม่ได้ปิดช่องหรือปฏิเสธใดๆ แต่เพียงสงวนท่าทีเท่านั้น

“ก็ไม่รู้ อยากได้ ก็แล้วแต่ท่าน กาลข้างหน้ายังไม่รู้เลย ว่าท่านจะเป็นนายกฯรึเปล่า ใช่ไหม” พล.อ.ประวิตร กล่าว

“อยู่ที่ว่าใครจะมาเป็นนายกฯ มีการพูดคุยกันอย่างไร ให้เกิดความลงตัว ระหว่างพูดคุยจะมีคนที่ตั้งคนในตำแหน่งต่างๆ ตามที่ข่าวลือออกมา ก็จะต้องให้เกียรติคนที่จะเข้ามาเป็นนายกฯ” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว


ประวิตร วงษ์สุวรรณ

อย่างไรก็ตามชื่อ พล.อ.ประวิตร ที่ตกเป็นเป้ามากที่สุด ก็ยังไม่หลุดจากเก้าอี้เดิม แม้มีการมองว่า พล.อ.อนุพงษ์ อาจมานั่ง รมว.กลาโหม แทน แต่มีรายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ ยังคงชิงเก้าอี้ มท.1 ที่เดิม ไม่ได้ไป รมว.กลาโหม ตามที่มีกระแสข่าว ‘รมว.กลาโหมสำรอง’ ออกมา แต่ในส่วน รมช.กลาโหม ยังคงเป็นชื่อ ‘บิ๊กช้าง’พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ที่อาจรีเทิร์นกลับมาช่วยงาน พล.อ.ประวิตร ต่อด้วย

ที่ผ่านมาแม้จะมีกระแสข่าวพรรคร่วม ไม่ต้องการให้ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ มาร่วมรัฐบาล เพราะเกรงว่าจะเป็นการสืบทอดอำนาจ แต่สุดท้ายจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ เปิดใจกับสื่อ ถือเป็นสิ่งยืนยันว่า 2 เก้าอี้ รมว.กลาโหม-มท.1 ต้องการคนที่ไว้วางใจมาทำงานและเป็นของพรรคหลัก

“ก็ควรจะอยู่กับฝ่ายความมั่นคงและพรรคหลักหรือไม่ เพื่อดูแลให้เดินหน้าไปได้ ขอย้ำว่าผมไม่หวงผลประโยชน์ ผมไม่เคยมีผลประโยชน์” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“ถ้าพูดถึงอยาก ก็โอเค อยาก เพราะไว้ใจกันมา แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวท่านเองด้วยว่าจะรับแค่ไหนอย่างไร รวมถึงเรื่องสุขภาพด้วย ผมเป็นห่วงกังวลตรงนี้ เรื่องอย่างนี้ไม่ต้องชวน ถึงเวลาก็คุยกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึง พล.อ.ประวิตร

“ก็แล้วแต่ท่าน เพราะวันนี้ไม่ใช่แค่ตนเพียงคนเดียว(พิจารณา)” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึง พล.อ.อนุพงษ์

แต่เก้าอี้ มท.1 ถือว่ามีเดิมพันที่สูงมาก แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะระบุว่ากระทรวงฝ่ายความมั่นคงควรเป็นของพรรคหลักก็ตาม แต่พรรคร่วมก็ต้องการจะได้ที่นั่ง ด้วยเป็นกระทรวงใหญ่ คุมทั้งประเทศ จึงมีผลต่อการสร้างฐานเสียงไม่น้อย จึงทำให้เป็นที่หมายปองของพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่การจัดโผ ครม. ในเวลานี้ชื่อ พล.อ.อนุพงษ์ ยังคงเป็นเต็งหนึ่ง มท.1 ส่วน รมช.กลาโหม หรือ มท.2 เป็นของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เป็นโควต้าของพรรคภูมิใจไทย

จึงเป็นอีกสัญญาณที่ชัดเจนว่า พรรคพลังประชารัฐก็หวังทำการเมืองในระยะยาว ลบคำสบประมาทว่าเป็น ‘พรรคเฉพาะกิจ’ อย่าลืมว่ายังมีการเลือกตั้งท้องถิ่นและผู้ว่าฯ กทม.รออยู่ข้างหน้า ที่ทุกพรรคต่างเริ่มเตรียมขุนพลใน ‘สนามรอง’ นี้แล้ว ไม่นับรวมอายุรัฐบาลชุดใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะยาวหรือไม่ เพราะสถานการณ์ในเวลานี้เป็น ‘รัฐบาลปริ่มน้ำ แต่ละพรรคจึงต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมเสมอ

แม้แต่พรรคพลังประชารัฐก็ต้องประเมินตัวเอง เพราะการเลือกตั้งในอนาคต แต่ละพรรคเห็น ‘จุดแข็ง-จุดอ่อน’ ของตัวเอง และมีเทคนิคแก้เกมรับมือกับระบบเลือกตั้งรัฐธรรมนูญ 2560 แต่อย่าลืมว่าข้อเสนอการแก้ขีรัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงเกิดขึ้นได้เสมอในอนาคต และพร้อมที่จะ ‘จุดติด’ ได้เสมอ หากประโยชน์ลงตัวพรรคส่วนใหญ่


สุดารัตน์และธนาธร 7พรรค ตั้งรัฐบาล สัตยาบัน

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แม้ขั้วพรรคเพื่อไทยจะส่งเพียง 250 เขต และอยู่ในบริบทที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบไป แต่จำนวนเก้าอี้ ส.ส. ยังคงมาเป็นอันดับที่ 1 และพรรคอนาคตใหม่ก็ได้ ส.ส. ลำดับที่ 3 กว่า 80 คน ซึ่งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ที่ได้เพียงพรรคละ 50 ที่นั่ง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่กลายเป็นพรรคต่ำร้อยและไม่ได้ ส.ส.ในกรุงเทพฯเลย แถมเสียเก้าอี้ในภาคใต้ด้วย จนถูกปรามาสว่า ‘สูญพันธุ์’ เลยทีเดียว

ดังนั้นศึกการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้น จึงไม่ใช่เพียงชัยชนะ แต่เป็น ‘ศึกแห่งศักดิ์ศรี’ ด้วย ที่แต่ละพรรคจะต้องรักษาไว้และกอบกู้กลับมา โดยเฉพาะศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่ในเวลานี้พรรคขนาดใหญ่เริ่มวางตัวทีมงานแล้ว เก็บตัวแคนดิเดตไว้ไม่ให้มีแผลทางการเมืองมากนัก เพื่อปักหมุดคุมเมืองหลวงให้ได้


คสช.-ประยุทธ์-ประวิตร-ขาลง เตรียมทหาร

ทั้งหมดนี้ในโอกาสครบ 5 ปี คสช.เข้าคุมอำนาจ 22พ.ค.57 แม้คสช.จะผ่องถ่ายงานและอำนาจต่างๆไปยังหน่วยงานและกฎหมายปกติแล้ว

รวมทั้งการจัดขุนพลต่างๆไว้ โดยเฉพาะ 250 ส.ว. ที่รายชื่อล้วนเป็นบุคคลที่เคยทำงานกับ คสช.มา

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะให้เหตุผลเพื่อมาสานต่องานก็ตาม

รวมทั้งโผ ‘ครม.ตู่รีเทิร์น’ ที่มีบุคคลใน ‘ครม.ประยุทธ์เดิม’ กลับมาร่วมงานหลายคน ทั้ง 2ป.บูรพาพยัคฆ์

‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ และ ‘วิษณุ เครืองาม’ ที่อาจรีเทิร์นนั่งรองนายกฯอีกครั้ง

รวมทั้งตำแหน่งรีเทิร์นอื่นๆ เช่น ‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’ รมว.การต่างประเทศ ‘อุตตม สาวนายน’ รมว.คลัง ‘สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์’ รมว.พาณิชย์ ‘กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ รมว.สำนักนายกฯ ‘สุวิทย์ เมษินทรีย์’ รมว.ศึกษาธิการ เป็นต้น

แม้ครบรอบ 5 ปี คสช.ลงหลังเสือ แต่ คสช. ก็ไม่ได้ไปไหน แต่เป็น คสช. ภาค 2 นั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog