ทันทีที่รัฐบาลออกมาตรการเคอร์ฟิว-ล็อกดาวน์ 13 จังหวัด พื้นที่สีแดงเข้ม ค่ำวันเดียวกันก็ปรากฏภาพคนป่วยล้มตายริมถนนถึง 4 ราย สร้างความหดหู่ใจแก่สังคม สะท้อนถึงภาวะรัฐล้มเหลวในการแก้ปปัญหาสถานการณ์โควิด ประชาชนเข้าไม่ถึงการรักษาตามสิทธิพลเมือง
หนึ่งในสี่รายที่ตายบริเวณฟุตบาทหน้าศึกษาภัณฑ์ ถนนราชดำเนิน แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวบสอบทราบชื่อเสรี เรืองโรจนฤทธิ์ อายุ 59 ปี ชาวจังหวัดระยอง โดยมูลนิธิอิสรชน ให้ข้อมูลว่าเขาเป็นคนเร่ร่อนหน้าใหม่ที่เพิ่งตกงานในช่วงโควิดระลอกล่าสุด และเพิ่งมาขอรับบริจาคถุงปันสุข (ถุงยังชีพ) จากมูลนิธิฯ ไปไม่ถึงวัน
ส่วนรายแรก เสียชีวิตภายในตรอกบ้านพานถม แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร รายที่สองเสียชีวิตในพื้นที่บริเวณวัดสุทัศน์ฯ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร ใกล้สน.สำราญราษฎร์ ทราบชื่อ บรรพต เจิมเจนการ อายุ 81 ปี และรายที่สามเสียชีวิตในพื้นที่ สน.ทองหล่อ บริเวณหน้าศูนย์การค้าเทสโก โลตัส สาขาพระรามที่ 4 ไม่มีเอกสารประจำตัว (บุคคลเร่ร่อน)
สองวันต่อมา คือวันที่ 22 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ.ครั้งที่ 3/2564ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ได้กล่าวในที่ประชุม ศบศ.ตอนหนึ่งว่า "ท่านจะต้องช่วยผมคิดว่าทำอย่างไรเราจะลดคนติดเชื้อที่อยู่ที่บ้าน แล้วคอยรถไปรับ หรือไม่ก็คอยอยู่ตามถนนหนทาง”
“จะต้องไม่เห็นภาพนี้อีก ท่านจะต้องไปคิดมาเป็นความรับผิดชอบของทุกหน่วยงานนะครับ ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขอย่างเดียว หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาวิธีการให้ได้ว่าทำยังไงคนเหล่านี้จะมาสู่โรงพยาบาลสนาม" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ข้อเสนอของ ธณิกานต์ พรพงษ์สาโรจน์ ส.ส.กทม.เขตบางซื่อ-ดุสิต พรรคพลังประชารัฐ จี้ไปยังผู้มีอำนาจใน กทม. ว่า สาเเหตุที่มีคนตายเพราะได้รับการช่วยเหลือไม่ทันท่วงที
“ในฐานะผู้แทน ชาวกทม. รู้สึกเศร้าใจอย่างยิ่ง จึงได้สะท้อนปัญหาและเรียกร้องกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ให้เกิดการแก้ปัญหาให้ตรงประเด็นเป็นการเร่งด่วน เพื่อป้องกันการสูญเสียใน 5 ประเด็น คือ
(1.) การเร่งตรวจเอกซเรย์ ปูพรมชุมชน แยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนแออัด ด้วย Rapid Antigen Test
(2.) การแก้ปัญหาคอขวดการตรวจ RT-PCR โดยตั้งจุดตรวจให้ครบทุกเขต ป้องกันการเดินทางข้ามเขต ซึ่งอาจเกิดการแพร่กระจายเชื้อเพิ่ม
(3.) การใช้งบฯกทม.จัดซื้อและส่งยาฟาวิพิราเวียร์แก่กลุ่มผู้ติดเชื้อที่เข้าสู่กระบวนการ Home Isolation และ Community Isolation
(4.) การเข้าสู่กระบวนการ Community Isolation ณ ศูนย์พักคอย ซึ่งจำเป็นมากสำหรับคนชุมชนที่ไม่สามารถแยกรักษาตัวที่บ้านแบบ Home Isolation ได้ โดยจัดให้มีอย่างน้อย 1 เขต 1 ศูนย์พักคอย และวางแผนในการเพิ่มศูนย์รองรับผู้ติดเชื้ออย่างเพียงพอ
(5.) การจัดระบบ Telemedicine เพื่อดูแลผู้ป่วยที่เข้าสู่กระบวนการรักษาที่บ้านหรือที่ศูนย์ฯ
“งบประมาณกรุงเทพมหานคร ปี 2564 วงเงิน 75,500 ล้านบาท และปัจจุบันมีงบเหลือจ่ายในไตรมาสสุดท้ายนี้ อีกประมาณ 20,000 ล้านบาท จึงอยากตั้งข้อสังเกตในส่วนงบกลาง ที่ผู้ว่าฯ กทม. สามารถใช้บริหารจัดการดูแลป้องกันพี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ให้ปลอดภัยจากโควิด-19 มากที่สุด ประเด็นสำคัญจึงไม่น่าจะเป็นส่วนของงบประมาณ แต่อาจเป็นการบริหารจัดการและการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งในฐานะผู้แทนฯ ชาวกรุงเทพฯ จะผลักดันและติดตามจนกว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะสามารถกลับสู่วิถีชีวิตที่ปลอดภัยได้” ธณิกานต์ ระบุ
จากปรากฏการณ์คนตายกลางถนน อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ให้สัมภาษณ์ ‘วอยซ์’ ว่า จริงๆ แล้ว ทุกปีจะมีคนเร่ร่อนเสียชีวิตข้างถนนอยู่แล้ว ประมาณ 10-20 คน ด้วยโรคต่างๆ ที่ไม่ได้เข้าสู่สวัสดิการของการรักษาตามสิทธิพลเมืองเลย
“เราเรียกร้องมาตั้งนานแล้ว เราพยายามสะท้อนเรื่องนี้แล้ว”
เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ระบุว่า พื้นที่รับผิดชอบเป็นพื้นที่ของ กทม. สิ่งที่อยากเห็นคือ กทม. ควรออกมาแอคชั่นด้วยการทำงานร่วมมือกัน แต่ไม่ใช่ปราบปราม เพราะว่าสุดท้ายแล้วจะทำให้เกิดคนกลัว
“เขาก็ไม่อยากอยู่ตรงนั้น เขาก็กระจายไปที่อื่น ก็เสี่ยงอีก” เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ย้ำ
ปี 2563 ช่วงวิกฤตโควิดรอบแรก มูลนิธิอิสรชนพบว่ามีคนไร้บ้าน-เร่ร่อนกว่า 4,500 คน มีสาเหตุหลักจากวิกฤตเศรษฐกิจ บางส่วนมีภาวะป่วยทางจิตเวช ขณะที่ปี 2564 แนวโน้มของตัวเลขสูงขึ้นแน่นอน
อัจฉรา สรวารี บอกว่าระบบส่วนใหญ่ของรัฐพัง แต่รัฐยังไม่ยอมรับว่าพัง คนในชุมชนแอดอัดเองยังหาเตียงไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน จะเป็นกลุ่มเข้าถึงสิทธิยากที่สุด
หลังแคมป์คนงานปิด คนงานบางส่วนถูกซีลไว้ในแคมป์ ไม่ได้ออกมาข้างนอก แม้โฆษกฯ ศบค. มีนโยบายให้กลับไปพักที่บ้านต่างจังหวัด (เถียงนาโมเเดล) แต่จากการทำงานกับคนตกงาน-เร่ร่อนมาหลายสิบปี อัจฉรา สรวารี บอกว่า “คนกลุ่มนี้ ถ้ากลับไปต่างจังหวัดเขายังทำมาหากินอะไรไม่ได้ แล้วถ้ากลับไปอย่างคนแพ้ คนไม่มีเงิน เขารู้สึกมันเป็นภาระครอบครัวที่อยู่ทางบ้าน เขาก็ไม่กลับ สิ่งที่เขาเลือกได้คืออาศัยอยู่ในที่สาธารณะเพื่อรอวันที่กลับมาทำงานได้ปกติ”
โดยปกติ มูลนิธิอิสรชนทำการแจกอาหารให้กับคนตกงาน เร่ร่อน ไร้บ้าน อยู่ที่ประมาณ 150 คนต่อวัน (แจกทุกวันอังคารและศุกร์) ตอนหลังพบว่ามีถึง 300 คนที่มาขอรับอาหาร และล่าสุดมีมากเพิ่มเป็นเท่าตัวถึง 600-700 คน
เมื่อจำนวนผู้ขอรับอาหารประทังชีวิตเพิ่มขึ้นเท่าตัว อัจฉรา สรวารี บอกว่าความท้าทายในวิกฤตคือมีคนเร่ร่อนหน้าใหม่เกิดขึ้น จากภาวะอดยาก ตกงาน สังคมไม่มีเวลาฟื้นตัวเลย คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงระบบการเยียวยา
“พวกเขาไม่รู้จักแอปพลิเคชันที่รัฐให้ใช้ ไม่มีบัตรประชาชน ไม่รู้สิทธิใดๆ ตามมาตรานั้น มาตรานี้”
ข้อเสนอฝ่าวิกฤตเร่งด่วนที่มูลนิธิอิสรชนเสนอเพื่อยับยั้งความตายดั่งใบไม้ร่วง คือ ถ้ารัฐบาลไม่ต้องการเห็นคนเร่ร่อนป่วยตายบนถนน กทม. ต้องเปิดสวนสาธารณะที่ปิดอยู่เวลานี้
“คุณไม่ต้องสนับสนุนอะไรก็ได้ คุณแค่เซ็นให้เราใช้พื้นที่ เราเชื่อว่าเต็นท์หาได้ น้ำเราหาได้ อาหารเราหาได้ อย่างน้อยให้เขาอยู่รวมตรงนั้น แล้วค่อยๆ ตรวจ ค่อยๆให้วัคซีนเขาไป
“ส่วนวัคซีนก็ควรมีขามาหาประชาชนเอง เพราะว่าช่องทางการเข้าถึงวัคซีนของพวกเขามีเงื่อนไขหลายออย่าง หนึ่ง บัตรประชาชนไม่มี สอง บางคนไม่ทราบพื้นที่ฉีด ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน บางคนไม่มีช่องทางรับข่าวสาร” เลขาฯ มูลนิธิอิสรชน ย้ำ
สอดคล้องกับข้อเสนอของ ‘ชมรมแพทย์ชนบท’ ที่เสนอในภาพใหญ่ระหว่างที่กรุงเทพฯ กำลังวิกฤตว่า
(1.) ขอให้กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลต่างๆ และหน่วยงานต่างๆในเมืองหลวง ต้องช่วยกันเพิ่มจุดตรวจโควิดให้มากขึ้นอีกหลายๆ เท่า ให้เพียงพอกับสถานการณ์การระบาดที่หนักหน่วง
(2.) ขอให้โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามทุกแห่ง ยอมรับผลของ Rapid Ag Test และอย่าได้ผลักภาระการตรวจ rtPCR ให้เป็นภาระของคนไข้ที่เขาต้องไปหาที่ตรวจเอง ซึ่งไม่ควรอย่างยิ่ง ควรเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลที่จะต้องตรวจยืนยันให้เขา
(3.) ขอให้รัฐบาลส่งเสริมให้มีการตรวจโควิดด้วยตนเองโดย Ag Test Kid ให้กว้างขวาง ทั้งด้วยการส่งให้ตรวจฟรีสำหรับคนที่ร้องขอ หรือการวางขายตามร้านขายยา โดยที่มีการควบคุมคุณภาพและควบคุมราคาให้เหมาะสม
ทั้งสามข้อจะทำให้ทั้งประชาชนคนกรุงและต่างจังหวัดด้วยเข้าถึงการตรวจโควิดได้มากขึ้นอย่างมาก เพราะต้องยอมรับว่า การรู้ตัวว่าตนเองติดโควิดคือหัวใจของการควบคุมโรค เฉกเช่นที่อารยะประเทศเขาปฏิบัติกัน