วันที่ 13 ธ.ค.2565 ที่ Victor Clubs อาคาร FYI Center ถนนพระราม 4 พรรคไทยสร้างไทย จัดงานเสวนาปลดล็อกเศรษฐกิจ Thailand’s Future Food Trends 2023 ทิศทางอุตสาหกรรมอาหารโลกและโอกาสในปี 2023 เกี่ยวกับอนาคตและทิศทางของอุตสาหกรรมอาหารและเทรนด์ด้านอาหารของโลกในอนาคต โดยมี รณกาจ ชินสำราญ ผู้ร่วมก่อตั้งร้านอาหารญี่ปุ่น Maguro และ คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย ดำเนินรายการ สุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทยและประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร อนงค์ ไพจิตรประภากรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร และ ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้ก่อตั้งร้าน Penguin Eat Shabu ร่วมเสวนา
วิศิษฐ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารในไทย เป็นอุตสาหกรรมที่กระทบน้อยมากจากสถานการณ์โควิด - 19 โดยมีรายได้กว่า 1 ล้านๆบาท ต่อปีจากการส่งออกในประเทศ และ กว่า 4 แสนล้านบาทจากอุตสาหกรรมในด้านอาหารและมูลค่าการบริโภคในประเทศกว่า 2 ล้านล้านบาท ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ช่วงโควิดต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก แต่ผู้ผลิตต้องยอมขาดทุนมากกว่าหยุดการผลิตเพราะจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากกว่า ตอนนี้ธุรกิจเริ่มกลับมาเดินได้เพราะมีการคลายล็อก และในปีนี้ ตัวเลขการส่งออกในอุตสาหกรรมอาหารเติบโตเพิ่มอย่างก้าวกระโดดกว่า 20 % คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้าน
สินค้าที่ทำรายได้เพิ่มขึ้น 5 อันดับแรกคือ น้ำตาล โดยมีรายได้เพิ่มกว่า 139% ต่อมาคือไขมัน- น้ำมันทั้งจากพืชและสัตว์ เพิ่มขึ้น 62% เนื่องจากสถานการณ์ตลาดน้ำมันปาล์มโลก ที่น่าสนใจคืออาหารทะเลกระป๋อง เติบโตสูงขึ้นมากโดยเฉพาะตั้งแต่โควิดเป็นต้นมา ต่อมาคือไก่สดและแช่แข็ง เติบโต 42% และมีโอกาสเติบโตขึ้นได้อีก แต่ติดปัญหาในการส่งออกไปยังตะวันออกกลางที่ยังติดปัญหาเรื่องฮาลาลและข้าวเติบโตเพิ่มขึ้น 32% เพราะแหล่งข้าวสาลีโลก อยู่ที่ รัสเซียและยูเครน ทำให้โลกต้องหาแหล่งคาร์โบไฮเดรตทดแทน
ปัญหาของอุตสาหกรรมการส่งออกอาหารตอนนี้คือเรื่องมาตรฐานการส่งออก มาตรฐานการวางขาย เช่น GHP HACCP ที่แต่ละพื้นที่ที่จะส่งออกไปมีมาตรฐานที่ต่างกัน รวมถึงอาหารออแกนิค ที่น่าจะชูได้แต่ก็มีมาตรฐานที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความลำบากในการเข้าใจความแตกต่างของมาตรฐานแต่ละที่
ด้าน อนงค์ นำเสนอว่าในอนาคตเทรนด์กำลังก้าวไปสู่ Future Food โดยคำนิยามปัจจุบันมีอยู่ 4 อย่าง คือ อาหารฟังก์ชั่น, อาหารทางการแพทย์, อาหารออแกนิค และ อาหารใหม่ หรืออาหารที่ยังต้องการผลวิจัยมารองรับอยู่ ใน 4ด้านนี้ หลายอย่างง่ายกับเรา เช่นอาหารฟังก์ชั่น ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสมนไพรเยอะ สามารถทานเข้าไปแล้วทำให้แก้ร้อน หรือ สร้างความอบอุ่นได้ สิ่งที่สำคัญคือต้องมีองค์กรที่มาดูแลเรื่อง Functional Ingedient Claim แทน อ.ย. เพราะจะทำให้ทุกอย่างไปคอขวดอยู่ที่องค์กรเดียว ต้องกระจายออกไป อาหารทางการแพทย์ เราก็สามารถทำได้และสามารถพัฒนาเพิ่มได้อีกมาก อาหารออแกนิค ยังติดปัญหาด้านข้อกำหนดต่างๆอยู่เยอะและอาหารใหม่ที่ยังรอการวิจัยและพัฒนา โดยอนงค์เห็นว่า งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาด้านอาหารควรจะต้อเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารสร้าง GDP ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล แต่ทำไมงบประมาณที่มาช่วยเหลืออุตสาหกรรมอาหารยังน้อยอยู่
ส่วน ธนพงศ์ กล่าวว่าต้ังแต่สถานการณ์โควิดเป็นต้นมาทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น เนื้อสัตว์ อาหารปรุงสุกต่างๆราคาสูงขึ้น แต่ความโชคดีของไทยคือ เรามีวัตถุดิบอยู่เองในประเทศที่จำแพลนท์เบส เราจึงมีต้นทุนแพลนท์เบสที่ค่อนข้างถูกกว่าที่อื่นในโลก ตอนนี้ราคาอาหารโดยปรกติ ราคาเริ่มถีบตัวมาเท่าแพลนท์เบสแล้วแต่การบริโภคยังต่ำอยู่ เพราะปัจจุบันเรารู้ว่าแพลนท์เบสทัดเทียมเนื้อสัตว์จริงๆ ทั้งสารอาหาร และ ราคา แต่ที่ติดอยู่คือ ด้านความรู้สึก คนจำนวนมากยังคิดว่าทำไมเราต้องกินเนื้อเทียม ทำไมเราต้องกินหมูเทียมไก่เทียม ถ้าเราสร้างความตระหนักรู้เรื่องคุณค่าอื่นๆ ให้แก่ผู้บริโภค เช่น การลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ หรือ สวัสดิการสัตว์ อาจทำให้คนหันมาบริโภคอาหารแพลนท์เบสมากขึ้น
ปัญหาตอนนี้คือ ผู้ผลิตรายย่อยกำลังจะตาย ในอดีตผู้ผลิตรายเล็ก เป็นผู้ริเริ่มไอเดียด้านธุรกิจต่างๆเหล่านี้ ตลาดยังค่อนข้างแคบ แต่ปัจจุบันผู้เล่นใหญ่เริ่มเข้ามามากขึ้นแม้จะมีข้อดีคือตลาดขยายตัวขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ SMEs ไม่สามารถแข็งขันได้ ตรงนี้ต้องเริ่มมีความคิดเรื่องเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ตัวใหญ่ต้องรู้จักแบ่งปันใหรายย่อย และ รัฐต้องเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้มากขึ้นด้วย
ขณะที่ สุพันธุ์ เสนอว่าใน3ปีที่ผ่านมาไทย เจอสถานการณ์โควิด แต่อาหารเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ยังคงไปได้อยู่ ซึ่งตรงกับความคิดว่าต้องกลับมามองว่า คนไทยมีความชำนาญอะไร อุตสาหกรรมที่เราเก่งคืออุตสาหกรรมอาหารและเกษตร พรรคไทยสร้างไทยเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความจำเป็น เราจึงต้องแก้ปัญหาทั้งระบบโดยอันดับแรก ต้องแก้ปัญหา ชลประทานทั้งระบบ เพื่อช่วยเหลือด้านการเกษตรก่อน และต้องมีการจัดโซนนิ่ง ต้องมีการพัฒนาพืชพันธุ์ โดยเฉพาะข้าวที่วันนี้เราหยุดพัฒนาพันธุ์ข้าวไปหลายปี จนถูกต่างชาติแซงไปหมด ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง
"ที่น่าแปลกใจอีกเรื่องหนึ่งคือ ไทยเป็นประเทศที่ถนัดเรื่องอาหาร แต่ไม่มีนิคมอุตสาหกรรมด้านอาหารโดยเฉพาะ ไทยสร้างไทยเห็นว่าจะต้องมี Cluster อุตสาหกรรมด้านอาหาร โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาตั้งอยู่ในนั้น เพื่อให้ SMEs ได้ใช้ ต้องมีศูนย์บริการในการขอใบอนุญาตต่างๆ ทั้งที่ต้องใช้ในประเทศ และ เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ทั้ง GHP GMP และ HACPP ต้องทำได้ง่ายและรวดเร็ว โดยรัฐจะต้องเป็นผู้ลงทุนโครงส้รางพื้นฐานเหล่านี้ให้ และสุดท้ายคือ กฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการทำมาหากินของประเทศต้องถูกแขวน โดยพรรคไทยสร้างไทยจะออก พ.ร.ก.หนึ่งฉบับ เพื่อแขวนกฎหมายกว่า 1,300 ฉบับ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของประเทศ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน และเพื่อให้เราก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในด้านอุตสาหกรรมอาหารโลกให้เร็วที่สุด” สุพันธุ์กล่าว