เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 5 ก.ค. 2565 ที่กระทรวงกลาโหม ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 นำโดย พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายในวัดปทุมวนาราม พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดา ของ สมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 เข้าพบ พล.อ. คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พ.อ.วันชนะ สวัสดี และ พ.อ.จิตนาถ ปุณโณทก รองโฆษกกระทรวงกลาโหม เพื่อหารือในการรับฟังความคิดเห็นของผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยกระทรวงกลาโหมต้องการรับฟังปัญหา
ด้าน พะเยาว์ กล่าวตอบว่า วันนี้มาด้วยกรณีการพบศพ 6 รายในวัดปทุมวนาราม ซึ่งศาลชั้นต้นชี้มูลการเสียชีวิตแล้ว ทว่าพนักงานอัยการส่งคดีกลับมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อตรวจสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติม เนื่องจากศาลมองว่าเจ้าหน้าที่ทหารมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยระบุว่าทหาร 8 นายบนรางรถไฟฟ้านั้นเป็นผู้กระทำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในห้องรับรองมี พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของ สมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ เฌอ เยาวชนผู้เสียชีวิต หลังถูกยิงบนฟุตบาทบริเวณถนนราชปรารภ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมผู้ถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชา ด้วย
จากนั้นเวลา 17.04 น. ญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมด้วย พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมประชุมหารือตามแนวคิดโฆษกกระทรวงที่ให้ประชาชนเข้าพูดคุยเรียกร้องได้โดยตรง
โดย พะเยาว์ กล่าวว่า วันนี้มีการพูดคุยกันด้วยดี ทางโฆษกกระทรวงกลาโหมรับฟังและมีแนวโน้มหลายเรื่องที่น่าจะได้รับการแก้ไขต่อไป
ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องคดีความที่หยุดอยู่กับที่นั้น พะเยาว์ กล่าวว่า เรามาพูดคุยในเรื่องนี้เพื่อให้กระบวนการที่หยุดไปตรงอัยการ ศาลทหารให้ท่านได้พิจารณาดำเนินการต่อ โดยให้มีการรื้อฟื้นคดีมาพิจารณาใหม่ เอาความจริงมาให้เป็นที่ปรากฏ อย่าปิดบังและซุกใต้พรม
“ถือว่าบรรยากาศเป็นที่พอใจมาก เป็นครั้งแรกที่เราเริ่มพูดคุยกัน บอกเผื่อเลยว่ากลุ่มใดคิดต่าง อยากเข้าพูดคุย คิดว่าก็ควรเข้ามาพูดคุยกัน” พะเยาว์ กล่าว
ด้าน พล.อ.คงชีพ กล่าวถึงการหารือกันในวันนี้ว่า ถือเป็นประตูที่เปิดให้เข้ามาพูดคุยกัน ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกที่เข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น ทางกระทรวงกลาโหมก็จะนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาว่าอะไรที่เดินหน้าต่อไปได้ก็จะดูกันต่อไป เพราะความรู้สึกเราก็สะเทือนใจ
“ถือเป็นการเข้าหารือกันครั้งแรก เชื่อว่าทุกปัญหาจบได้ด้วยการพูดคุย เมื่อข้อมูลมากขึ้นก็จะเข้าใจกันมากขึ้น แต่หากเราพูดกันผ่านสื่อ โพสต์กันไปมา ก็ทำให้เราห่างและไม่เข้าใจกัน” พล.อ.คงชีพ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางคดีความจะรับปากว่าพร้อม ดำเนินการตามข้อเรียกร้องหรือไม่ พล.อ. คงชีพ ตอบว่า ดูเป็นกรณีไปว่าอะไรบ้างที่ขับเคลื่อนกันต่อได้
ถามว่า หากมีข้อเรียกร้องที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางกระทรวงกลาโหม จะประสานให้หรือไม่ พล.อ.คงชีพ ตอบว่า เบื้องต้นอยากให้หารือตามกรอบภารกิจของกระทรวงกลาโหมก่อน หน่วยงานอื่นเราจะไม่ก้าวล่วง แต่คิดว่าน่าจะประสานให้ได้
พล.อ.คงชีพ เน้นย้ำเจตนารมณ์ของแนวคิดนี้ว่า ถือเป็นอีกช่องทางที่เราพูดคุยกับกลุ่มที่มีปัญหาหรือข้อเรียกร้องกับกระทรวงกลาโหม ถือว่ารับฟังปัญหาแบบภายนอกสู่ภายใน (outside-in) เชื่อว่าจะเกิดการพัฒนาที่รอบด้านมากขึ้น ก้าวพ้นความขัดแย้ง และเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะสร้างความรัก ความสมัครสมานสามัคคีร่วมกันกับทุกฝ่ายต่อไป