ข้อมูลจากงานวิจัยชี้ การที่มนุษย์รู้สึกว่าสุนัขพยายามสื่อสารหรือเรียกร้องความสนใจ อาจมาจากวิวัฒนาการเพื่อควบคุมสัญชาติญาณของมนุษย์ โดยใช้เวลากว่า 33,000 ปี หลังสุนัขเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยในฐานะสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการปรับตัวเพื่อให้สายพันธุ์ดำรงอยู่ได้โดยการสร้างความประทับใจให้กับมนุษย์
ผลจากวิวัฒนาการส่งผลให้สุนัขค่อยๆพัฒนากล้ามเนื้อบริเวณหน้าผากที่มีชื่อว่า 'เลวาทอร์ แอมกูลิ โอคูลิ เมเดียลิซ' (levator anguli oculi medialis) หรือ LAOM ซึ่งใช้เพื่อแสดงสีหน้าเศร้าหมองที่มีพลังทำลายล้างหัวใจมนุษย์อย่างถึงที่สุด
กล้ามเนื้อบนใบหน้าสุนัขนั้นอนุญาตให้ดวงตาของมันแสดงท่าทางและอารมณ์ที่คล้ายคลึงกับเด็กแรกเกิดและเป็นแรงกระตุ้นสัญชาติญาณการปกป้องลูกของมนุษย์ได้อย่างดี
ศ. บริดเจ็ต วอลเลอร์ ผู้อำนวยการสถาบันทฤษฎีจิตวิทยาวิวัฒนาการและจิตวิทยาแปรียบเทียบ จากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัท กล่าวว่า มนุษย์ให้ความสำคัญกับการแสดงออกทางสีหน้า ดังนั้นการแสดงออกของสุนัขจึงทำมันให้ดูเหมือนเด็กและดูเหมือนเศร้า ซึ่งกระตุ้นการตอบสนองเพื่อดูแล และอาจเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยความน่ารักของมัน
"พวกมันเป็นสัตว์ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการช่วงชิงหัวใจของเรา" บริดเจ็ต กล่าว
'คิ้วแห่งการแสดงออก'
ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้อธิบายวิธีการที่สุนัขใช้ในการแสดงออกทางสีหน้าเพื่ออ้อนมนุษย์ โดยเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงกายวิภาคบริเวณดวงตาของสุนัข ซึ่งนักวิจัยเรียกพฤติกรรมนี้ว่า "คิ้วแห่งการแสดงออก" (expressive eyebrows) ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการสื่อสารแบบอวัจนภาษาของมนุษย์
การเคลื่อนไหวบนใบหน้าของสุนัขในรูปแบบดังกล่าวจะทำให้มันมีดวงตาที่กลมโตขึ้น คล้ายเด็กแรกเกิดมากขึ้น และเรียกร้องความสนใจจากมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
นอกจากงานวิจัยจะค้นพบสาเหตุที่ทำให้มนุษย์เราหลงรักสายของสุนัขแบบถอนตัวไม่ขึ้นแล้วนั้น ยังเป็นการตอกย้ำว่ามนุษย์ให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านการแสดงออกทางสีหน้าอย่างมาก
Photo by Alexandre Debiève on Unsplash / Photo by Lydia Torrey on Unsplash / Photo by Ramesh Casper on Unsplash
อ้างอิง; BBC, The Guardian