นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชี้ว่า เด็กเยาวชนยากจนที่สุดของประเทศมีโอกาสเรียนต่อระดับอุดมศึกษาเพียงร้อยละ 5 เพราะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ครัวเรือน นักเรียนอายุ 15 ปีในชนบทมีความรู้ความสามารถล้าหลังกว่านักเรียนในเมืองใหญ่เกือบ 2 ปีการศึกษา โจทย์สำคัญของ กสศ. คือ ทำอย่างไรที่จะเพิ่มคุณภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมุ่งไปที่เด็กและเยาวชนจากครอบครัวรายได้ต่ำสุด 20 เปอร์เซ็นต์แรกของประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ก้นบึ้งของสังคมไทย ให้มีโอกาสศึกษาต่อเต็มศักยภาพ กสศ. จึงได้มีโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สนับสนุนให้เยาวชนชั้น ม.3 -ม.6-ปวช.3 ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้อยโอกาส แต่มีศักยภาพปีละประมาณ 2,500 คนในทุกภูมิภาคของประเทศไทย
โดยในช่วงเดือนมีนาคมนี้ สถาบันการศึกษาที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” กว่า 37 แห่ง ต่างเร่งลงพื้นที่พื่อค้นหาเยาวชนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ เพื่อให้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการอย่างแท้จริงจริง
ดร.กรรณิกา สุภาภา ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนตราด กล่าวว่า เมื่อมาลงพื้นที่คัดกรองความยากจนเด็กจะรู้เลยว่า ประเทศไทยมีคนขาดโอกาสทางการศึกษาจำนวนมาก หากไม่ลงพื้นที่จริง อาจทำให้เยาวชนหลุดออกจากวงการศึกษา ดังนั้นทุนการศึกษาดังกล่าว ทำให้เด็กมีโอกาสพัฒนาตนเองและได้นำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด
ด้านนายพงษ์พัฒน์ จันทร์เหลา หรือ พงษ์ อายุ 18 ปี นักเรียนโรงเรียนแหลมงอบวิทยาคม คือหนึ่งในเยาวชน ที่ได้รับทุนดังกล่าว เล่าว่า พ่อและแม่มีอาชีพจ้างทำงานก่อสร้าง เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว แต่ละครั้งไปทำงานต่างจังหวัดนานกว่า 4-5 เดือน ทำให้ตนต้องอยู่กับพี่ชายที่ป่วยเป็นโรคปอดติดเชื้อขั้นรุนแรงเพียงสองคน ทำให้ตนเองเกิดภาวะกังวลและเครียด เพราะเป็นห่วงพี่ชายและพ่อแม่ จึงตัดสินใจไม่ไปโรงเรียนเมื่ออยู่ชั้น ม.5 เพื่อไปหางานทำ โดยที่ไม่บอกพ่อกับแม่ ซึ่งนายอุทัย ลิมชลา ครูวิชาพละศึกษา พบว่าขาดเรียนถึง 3 สัปดาห์ มาตามที่บ้าน และรับทราบเรื่องราวดังกล่าว จึงหางานให้ทำพร้อมกับเรียนไปด้วย ทำให้เรียนหนังสือจนจบ ม. 6 แต่เมื่อจบ ม.6 แล้ว คิดว่าจะไม่ได้เรียนต่อ เพราะทางบ้านไม่น่าจะมีเงินส่ง แต่ได้รับความช่วยเหลือจากครูแนะแนว ให้เข้าถึง โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. ทำให้ได้เรียนจนถึงปัจจุบัน
นายอุทัย กล่าวว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เริ่มดำเนินการปีนี้เป็นครั้งแรก โดยสนับสนุนทุน 2 ระดับ คือ ทุน 5 ปี ปวช.ต่อเนื่อง ปวส. หรืออนุปริญญา สำหรับนักเรียนที่กำลังศึกษาชั้นม.3หรือเทียบเท่า และทุน 2 ปี ปวส. อนุปริญญา สำหรับนักเรียนที่กำลังศึกษาชั้นม.6/ปวช.3 หรือเทียบเท่า ในสาขาเป้าหมายของประเทศ สาขาขาดแคลน สาขา STEM และเทคโนโลยี ดิจิทัล ซึ่งทุกสถาบันการศึกษาที่ร่วมโครงการจะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการโดยตรง ทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับคุณสมบัติของผู้ได้รับทุนจะต้องเป็นเยาวชน ที่กำลังศึกษาระดับชั้น ม.3/ม.6 หรือเทียบเท่า/ปวช.3 ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส มีรายได้ครอบครัวเฉลี่ยต่อคนไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน โดยจะมีกระบวนการตรวจสอบความยากจนเพิ่มเติม และเป็นนักเรียนที่มีศักยภาพในการเรียนต่อ โดยพิจารณาจากเกรดเฉลี่ยสะสม หรือมีความสามารถพิเศษ มีศักยภาพโดดเด่นด้านทักษะฝีมือ นวัตกรรม เป็นนักประดิษฐ์ และมีประสบการณ์ในกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อส่วนรวมที่พิสูจน์ได้ ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายประจำเดือน และค่าธรรมเนียมการศึกษาในอัตราประหยัด โดยไม่มีข้อผูกมัดที่ผู้รับทุนจะต้องชดใช้ทุนในอนาคต หากเรียนจนจบการศึกษา