ไม่พบผลการค้นหา
ผอ.อนามัยโลกรับมีอุปสรรค 'เข้าไม่ถึง' ข้อมูลดิบโควิด-19 ด้านนานาชาติ 14 ประเทศ วิจารณ์ WHO ทำงานล่าช้า-เคลือบแคลงจีนไม่จริงใจเผยข้อมูล

นพ.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก แถลงเมื่อ 30 มี.ค. กล่าวถึงรายงานการสอบสวนต้นเหตุการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากที่องค์การอนามัยโลกส่งทีมสอบสวนนานาชาติ ลงพื้นที่เมืองอู่ฮั่นช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อสอบสวนหาต้นต่อการระบาดของโคโรนาไวรัส

ในรายงานของอนามัยโลกไม่ได้มีข้อมูลใหม่ใดๆเพิ่มเติม โดยทีมสอบสวนยังคงไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ 2019 อย่างชัดเจน โดยระบุเพียงว่า ไวรัสเกิดจากค้างคาว ไม่ได้ไม่ได้อุบัติขึ้นภายในห้องแล็ปทดลองตามที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มักกล่าวอ้าง

อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการอนามัยโลกยอมรับว่ารายงานฉบับดังกล่าว ถูกทำขึ้นภายใต้ 'อุปสรรค' 'ความยากลำบาก' และ 'ข้อจำกัด' หลายประการของทีมภาคสนามของคณะทำงานนานาชาติที่ลงพื้นที่นครอู่ฮั่น ในการเข้าถึงข้อมูลดิบ หรือข้อมูลระดับปฐมภูมิ ของการเริ่มต้นระบาดช่วงแรก รวมถึงแทบไม่มีข้อมูลที่เป็นรูปธรรมว่าไวรัสแพร่กระจายไปยังมนุษย์ที่ไหนและอย่างไร

"อนามัยโลกหวังว่า จะมีการทำงานลักษณะนี้อีกในอนาคต ภายใต้กรอบระยะเวลาและแหล่งข้อมูลที่เหมาะสมที่จะถูกคำนึงถึงมากกว่านี้" นพ.เทดรอส กล่าว

ขณะเดียวกัน ไม่นานหลังอนามัยโลกเผยแพร่รายงานสรุปผลการสอบสวนที่อู่ฮั่น ด้านทีมนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก อิสราเอล ลัตเวีย ลิทัวเนีย เอสโตเนีย สโลวีเนีย นอร์เวย์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมถึงสหภาพยุโรป ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันโดย "ตั้งข้อสังเกต" เกี่ยวกับรายงานดังกล่าวของอนามัยโลกซึ่งล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก ทั้งยังเป็นรายที่ถูกเขียนขึ้นโดย "ข้อมูล" ที่รัฐบาลจีนจัดหาให้อย่างจำกัด

แถลงการณ์ร่วมของนานาชาติ ยังสนับสนุนให้มีศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัตว์ เพื่อหาว่าต้นต่อของไวรัสโควิด-19 ติดต่อสู่มนุษย์ได้อย่างไร และเรียกร้องให้สมาชิกอนามัยโลก โปร่งใสในการเข้าถึงข้อมูลตลอดเวลา

ทีมนานาชาติจากอนามัยโลกลงพื้นที่นครอู่ฮั่นหลังการระบาดเกิดขึ้นผ่านไปแล้ว 1 ปี โดยนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่รัฐบาล ต่างระบุในแถลงการณ์ร่วม ตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่จัดหาโดยรัฐบาลปักกิ่ง รวมถึงอิทธิพลของรัฐบาลจีนที่มีเหนือองค์กรระหว่างประเทศ 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปักกิ่งได้ตอบโต้แถลงการณ์นี้ โดยกล่าวหาว่าสหรัฐฯ กับนานาชาติมีวาระซ้อนเร้น ในการทำให้วิกฤตไวรัสเป็นประเด็นทางการเมือง

ที่มา : CNN , TheGuardian , Reuters