ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ประกันตัว สมบัติ ทองย้อย ในคดีหมิ่นกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีการโพสต์เฟซบุ๊ก 2 ข้อความ ซึ่งศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 6 ปี ทั้งนี้ศาลให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 3 แสนบาท กำหนดเงือนไขประกันตัวให้ติดกำไร EM ห้ามกระทำ-เข้าร่วมกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้อง ในคดีนี้ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
อย่างไรก็ตาม สมบัติ ยังคงเหลือหมายขังอีกหนึ่งคดีคือ คดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ 'คดีหมิ่นประยุทธ์' ซึ่งถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 8 เดือน 20 วัน โดยทนายความได้ยื่นประกันตัวเพื่ออุทธรณืคดีแล้ว ยังรอผลประกัน หากได้รับการประกันตัว สมบัติ จะถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำทันทีภายในวันนี้
สมบัติ ถูกนำตัวเข้าเรือนจำ หลังถูกอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่ามีความผิดตาม ม.112 ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. 2565 แม้ที่ผ่านมาเขาได้ยื่นประกันตัวในชั้นอุทธรณ์หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่รับสิทธิประกันตัว ต่อมาระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เขาถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐาน หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา อีกครั้ง โดยศาลสั่งลงโทษจำคุก 8 เดือน 20 วัน
ในส่วนของคดี 112 สมบัติถูกพิพากษาว่ามีความผิด เนื่องจากโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ประกอบกับภาพบันทึกหน้าจอโทรศัพท์เป็นข่าวจากเว็บไซต์มติชนเรื่องบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 คณะ ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นการกระทำอันเป็นการ “การต่อต้านพระมหากษัตริย์”
และการโพสต์ข้อความว่า “เขาให้ลดงบประมาณที่เอาไปใช้จ่าย ไม่ใช่ลดตัวลงมาใกล้ชิดประชาชน เข้าใจอะไรผิดไหม เรื่องการลดตัวลงมาแนบสนิทชิดใกล้ประชาชนแบบที่เห็น แสดงให้เห็นว่ารู้ตัวสินะว่าคนเขาไม่เอา เลยต้องลงมาทําขนาดนี้ ถ้าจริงใจต้องทํามานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทําเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา แต่น่าจะช้าไปแล้วจริงๆ ละครหลังข่าวชัดๆ” และข้อความที่ว่า “มีแจกลายเซ็นต์ด้วยเซเลปชัดๆ” โดยไม่ได้ระบุว่าหมายถึงใคร ซึ่ง
ซึ่งศาลเห็นว่า การโพสต์ข้อความดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 เป็นช่วงเวลาที่ใดล้เคียงกับเหตุการณ์ที่รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดําเนินไปในการพระราชพิธีวันปิยมหาราช ในวันที่ 23 ต.ค. 2563 และที่เสด็จพระราชดําเนินไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต ในวันที่ 1 พ.ย. 2563 แล้วทรงมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานแก่ประชาชน
ศาลเห็นว่า การโพสต์ข้อความดังกล่าว ไม่ใช่การติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา แต่เป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะทําให้พระมหากษัตริย์ทรงเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาท และยังมีความหมายเป็นการดูถูกด้อยค่าอันเป็นการดูหมิ่นด้วย
สำหรับคดีหมิ่นประยุทธ์ เขาถูกพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 ว่ามีความผิดจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 2 ข้อความคือ
1. เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 โพสต์ข้อความแบบสาธารณะว่า “มีตบไหม” และลงภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมข้อความบนภาพว่า “อีฉ้อ” และ “(ฉ้อฉลมันทุกรูปแบบ)”
2. เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2563 โพสต์ข้อความแบบสาธารณะว่า “อังกฤษเขาใช้เงินปอนด์อังกฤษ บ้านพ่องงงง ใช้เงินดอลลาร์ #มึงนี่นะควายจริงๆ” โดยลงภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และมีข้อความด้านล่างภาพนายกฯ ว่า “สมมติว่าอังกฤษมีการเรียกร้องว่าเมื่อจบการศึกษามาแล้วจะต้องมีงานได้เงินเดือนละ 5,000 ดอลลาร์ จะได้ให้ได้หรือไม่ ก็คงไม่ได้
โดยคดีนี้มี อภิวัฒน์ ขันทอง ประธานกรรมการตรวจสอบและดําเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เป็นผู้แจ้งความ