ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ชี้ว่า ตัวเลขการส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ประจำไตรมาส 1/2563 ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 9.77 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกประจำไตรมาสนี้อยู่ที่ 37,910 ล้านบาท
โดยที่มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมดังกล่าวในปี 2562 อยู่ที่ 172,235 ล้านบาท ซึ่งจากผลผลิตทั้งหมด 1,108,523 ตัน คิดเป็นการขายในประเทศเพียงร้อยละ 22 และเป็นการส่งออกต่างประเทศถึงร้อยละ 78 ทั้งนี้ สินค้าสำคัญของอุตสาหกรรมนี้คือ ทูน่า-ซาดีนกระป๋อง อาหารสัตว์จากทูน่า กุ้ง หมึก และปลา และมีประเทศส่งออกสำคัญได้แก่ สหรัฐฯ ในสัดส่วนร้อยละ 21.4 ตามมาด้วย ญี่ปุ่น จีน และออสเตรเลีย ในสัดส่วนร้อยละ 20.7 6.3 และ 5.4 ตามลำดับ
ท่ามกลางแนวโน้มลบกับอุตสาหกรรมการส่งออกของประเทศ นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยง ชี้ว่า คำสั่งซื้อทูน่ากระป๋องจากไทยเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10-15 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการกักตุนสินค้าในต่างประเทศ
ขณะที่นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เสริมว่า อาหารทะแลแช่แข็งและแปรรูปของไทย ทำการค้าใกล้ชิดกับร้านค้าปลีก อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ตในต่างประเทศ มากกว่าผู้ให้บริการอาหาร อาทิ ร้านอาหาร หรือ โรงแรม ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในปัจจุบัน ดังนั้นแนวโน้มการสั่งซื้อสินค้าจำพวกนี้ของไทยจึงมีมากขึ้นเพราะเป็นที่ต้องการ
ปัจจุบัน ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ประเทศไทยครองส่วนแบ่งตลาดการส่งออกทูน่ากระป๋องมากที่สุดในโลก โดยมีประเทศผู้นำเข้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ด้วยสัดส่วนร้อยละ 28.5 ทั้งยังมีมูลค่าการส่งออกในปี 2562 ทั้งสิ้น 69,760 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขการเติบโตในไตรมาสแรกของปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีแนวโน้มว่าในไตรมาสที่ 2 สัดส่วนอาจปรับตัวสูงถึงร้อยละ 10
นอกจากสถานการณ์ผู้เลี้ยงกุ้งที่ต้องเผชิญหน้ากับราคาที่ต่ำลงนั้น นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธาน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ยังแสดงความกังวลเพิ่มเติมกับปัจจัยบั่นทอนเรื่องโรคระบาด รวมไปถึงกำลังการผลิตที่จะน้อยลง และเรียกร้องให้ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งโดยเร่งด่วน
"พ.ค.-ธ.ค.7 เดือนนี้ต้องช่วยให้รอด ห้องเย็นยังไม่ต้องช่วยเขา" นายฤทธิรงค์ กล่าว
มิติเรื่องกำลังการผลิตกุ้งมีผลสำคัญต่อระบบสายการผลิตและเกี่ยวข้องกับธุรกิจเอสเอ็มอีของประเทศอีกหลายทอด ทั้งธุรกิจห้องเย็นไปจนถึงการขนส่งต่างๆ นอกจากนี้ นายฤทธิรงค์ ยังแสดงความกังวลว่า หากภาครัฐปล่อยให้เกษตรกรต้องเผชิญกับภาวะที่ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้จะทำให้ประเทศเสียความน่าเชื่อถือลงไป และสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มไปอีก ดังนั้น หากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรอดจากวิกฤตนี้อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะรอดตามไปด้วยเช่นเดียวกัน
นายฤทธิรงค์ กล่าวว่า "ประเทศไทยเคยผลิตได้ถึง 600,000 ตัน/ปี ปีนี้เราอาจจะได้แค่ 230,000 ตัน/ปี สิ่งที่เราต้องการคือความช่วยเหลือที่จะทำให้กำลังการผลิตขึ้นมาเป็น 350,000 ตัน/ปี ประเทศไทยเคยส่งออกมาเป็นที่ 1 ตอนนี้เราอยู่อันดับที่ 5-6 แล้ว ผมไม่อยากให้ถึงวันที่เราต้องนำเข้ากุ้ง ถ้าเป็นแบบนั้นร้องไห้ดีกว่า"
สำหรับคำแนะนำที่นายฤทธิรงค์ มองว่ามีประโยชน์กับเกษตรกรคือการลดต้นทุนการเลี้ยงกุ้งลง อาทิ การช่วยลดค่าไฟ รวมไปถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำต่างๆ พร้อมย้ำว่า การจำนำกุ้งนั้นดูไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร และหากจะช่วยให้ช่วยเรื่องการชดเชยราคาดีกว่า
ในที่ประชุมคณะผู้บริหารระหว่างรัฐบาลและเอกชน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า ที่ประชุมได้มีแนวทางปฏิบัติทั้งหมด 4 ข้อ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
นายจุรินทร์ ชี้ว่า หลังหารือกันครั้งนี้ ตนเชื่อว่าจะสามารถทำให้อุตสาหกรรมการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปกลับขึ้นมาเป็นบวกให้ได้ภายในปีนี้ โดยนายพจน์ มองแนวทางการเติบโตของอุตสาหกกรมฯ ว่า หลังจากติดลบเกือบร้อยละ 10 ในไตรมาสแรก ตัวเลขน่าจะขึ้นมาอยู่ในระดับเสมอตัว (ร้อยละ 0) ในไตรมาสที่สอง ก่อนจะกลับมาบวกร้อยละ 10 ในไตรมาสที่สาม และหวังให้บวกได้มากที่สุดเพื่อให้ตัวเลขรวมทั้งปีกลับมาเป็นบวกในที่สุด