นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมนัดพิเศษ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา พร้อมกับประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาร้อยล 0.25 ทำให้ล่าสุดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.75 และตามกำหนดการปกติ กนง. จะมีการประชุมในวันพุธที่ 25 มี.ค. นั้น ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดว่า ในการประชุมวันที่ 25 มี.ค. ที่จะถึงนี้ กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 0.75 โดยคาดว่าจะเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 ในไตรมาสที่ 2 และในไตรมาสที่ 3 ทำให้ ณ สิ้นปี อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 0.25 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติการณ์
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะลดสู่ระดับร้อยละ 0 หรือติดลบ แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอีกหลายส่วนที่ต้องพิจารณาประกอบ โดยนโยบายการคลังจะมีส่วนสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ และไม่ทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงไปสู่ระดับร้อยละ 0 หรือติดลบ
นอกจากนี้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดว่า ธปท.จะปรับคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2563 จากที่เดิมคาดว่าจะมีการเติบโตเป็นหดตัว เนื่องจากปัจจัยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 และราคาน้ำมันโลกที่ลดลง
อีกด้านหนึ่งธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวร้อยละ 1 ดังนั้นจึงเหลือโอกาสใช้เครื่องมือการลดดอกเบี้ยน้อยลงทุกที และนโยบายการคลังของรัฐบาลดูเหมือนยังสร้างความมั่นใจให้กับตลาดและธุรกิจ ไม่เพียงพอ โดยตลาดรอฟังอยู่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมาตรการหรือเครื่องมืออื่นใดมาช่วยแก้ปัญหา หากจะใช้ QE (Quantitative Easing) หรือมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน สำหรับประเทศไทย ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีประสิทธิภาพส่งผ่านไปถึงภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงตลาดการเงินได้
ดังนั้น การใช้ QE จะมีประโยชน์หรือไม่ และจะทำอย่างไรให้นโยบายของ ธปท.ส่งผลไปถึงกลุ่มผู้ที่เผชิญปัญหาอยู่อย่างแท้จริง ตลาดยังรอฟังการสื่อสารจากธปท. ในประเด็นนี้ รวมถึงรอฟังความชัดเจน ความรวดเร็ว ความเป็นไปได้ ประโยชน์ และข้อจำกัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :