นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการเสวนาปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉินและแนวทางแก้ไขปัญหาที่แพทยสภาจัดขึ้นว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล จนบุคคลากรทางการแพทย์ได้รับอันตรายถึงขั้นพิการและเสียชีวิต เริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2558 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาตรการในระยะต่างๆ ตามนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงขององค์การอนามัยโลก (WHO) สำหรับมาตรการระยะสั้น คือ ปรับปรุงสถานที่ให้ปลอดภัย โดยเฉพาะห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลชุมชน ได้หารือกับกองแบบแผนออกแบบห้องฉุกเฉินใหม่ให้มีทางเข้า - ออก 2 ทาง พร้อมให้มีระบบควบคุมประตูเพื่อความปลอดภัยและจะเร่งทบทวนการจำกัดจำนวนญาติและจัดโซนห้ามเข้าภายในโรงพยาบาล
ส่วนมาตรการระยะต่อไป คือ จะขยายการทำประกันอุบัติเหตุให้เจ้าหน้าที่ในห้องฉุกเฉินทุกคน จากที่ก่อนนี้ได้ทำประกันให้บุคคลากรทุกคนบนรถพยาบาล นอกจากนี้ได้ให้สถานพยาบาลทุกแห่งบูรณาการกับหน่วยงานด้านความปลอดภัย และจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะการป้องกันตัวเมื่อเผชิญเหตุ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ผู้รับบริการรับทราบว่าการก่อเหตุรุนแรงในโรงพยาบาลเป็นความผิดร้ายแรงทางอาญาที่ไม่สามารถยอมความได้
ด้านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในโรงพยาบาลถือเป็นปัญหาสังคมที่ทุกคนต้องช่วยกันให้ความสำคัญและดูแลโรงพยาบาลเหมือนบ้านตัวเอง โดยถือว่าความปลอดภัยของโรงพยาบาล คือความปลอดภัยของทุกคน
ทั้งนี้ ในแง่กฎหมายไม่จำเป็นต้องแก้ไขเพียงแต่ต้องบังคับใช้อย่างเข้มงวดและจริงจัง ซึ่งทางอัยการยืนหยัดช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงในโรงพยาบาล โดยจะช่วยทำบรรยายพฤติกรรมผู้ก่อเหตุความรุนแรงในโรงพยาบาล เพื่อให้ศาลเชื่อว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นความอุกอาจร้ายแรงท้าทายกฎหมาย สมควรได้รับโทษสูงสุดตามกรอบกฎหมายอาญา กรณีเจตนาทำร้ายมีโทษสูงสุดจำคุก 15 ปี บุกรุกโทษจำคุก 5 ปี และหากมีเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ชีวิตถือเป็นเจตนาฆ่ามีโทษสูงสุด คือ ประหารชีวิต
นอกจากนี้ต่อไปจะให้โรงพยาบาลที่ได้รับความเสียหายฟ้องเอาผิดทางแพ่ง เพื่อให้ผู้กระทำผิดชดเชยความเสียหายที่เกิดโดยเฉพาะกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาสูง โดยไม่มีการยอมความต้องชดใช้เงินครบตามจำนวน หากไม่มีทรัพย์สินก็จะมีเจ้าหน้าที่ติดตามยึดทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตตลอดช่วงที่คดีมีอายุความ คือ 10 ปี