ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.ชาติพันธุ์ “อนาคตใหม่” ให้กำลังใจ “ดีเอสไอ” ทวงถามเหตุอัยการไม่สั่งฟ้องคดี “บิลลี่”-ชี้กระบวนการยุติธรรมกำลังทำให้ประชาชนและผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน "ไม่เชื่อมั่น"

นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้แทนจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) กล่าวถึงกรณีอัยที่การไม่สั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ในกรณีที่ต้องสงสัยว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมและบังคับให้สูญหาย นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” ที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีมติสั่งฟ้องต่ออัยการไป ว่า บิลลี่เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่สำคัญในผืนป่าแก่งกระจาน โดยเฉพาะจากกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐบังคับให้ชาวบ้านกะเหรี่ยงในหมู่บ้าน “ใจแผ่นดิน” ที่มีผู้นำชุมชนคือ 'ปู่คออี้' หรือนายโคอิ มิมิ โยกย้ายออกจากพื้นที่ มีการเผายุ้งฉางของชาวบ้านเพื่อขับไล่และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ในปฏิบัติการตะนาวศรีเมื่อปี 2554 

นายมานพ กล่าวว่า บิลลี่เป็นคนช่วยเหลือชาวบ้านและปู่คออี้ในกรณีบ้านใจแผ่นดิน เป็นคนที่เปิดเผยเรื่องราวทั้งหมด พร้อมรวบรวมและเปิดเผยหลักฐานว่าปู่คออี้และชาวบ้านเป็นคนที่อาศัยอยู่มาแต่ก่อนในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน ซึ่งในที่สุดศาลปกครองก็มีคำวินิจฉัยยืนยัน ว่าปู่คออี้เป็นคนดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ เป็นคนไทยสัญชาติไทย มีหลักฐานทางราชการคือกรมประชาสงเคราะห์ได้ออกมาสำรวจ และในแผนที่ทหารก็ปรากฏชัดเจนว่าพื้นที่นั้นเป็นหมู่บ้านใจแผ่นดินมาแต่เดิม

“เป็นที่ประจักษ์แล้ว ว่าการที่บิลลี่ช่วยเหลือปู่คออี้และชาวบ้าน และการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในผืนป่าแก่งกระจาน คือสาเหตุของการบังคับให้สูญหาย สิ่งนี้รัฐมีหน้าที่ในการสืบค้น ค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้นบิลลี่ ความชัดเจนเกิดหลังจากที่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอป็นคนมารับผิดชอบคดี หลังจากที่กระบวนการยื่นเรื่องหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นต่อศาลในระดับจังหวัดหรือตามขั้นตอนปกติอื่นๆไม่สามารถจะนำไปสู่ความคืบหน้าได้ จึงไปอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ซึ่งพิสูจน์ทราบแล้วว่าการสูญหายเกิดจากการฆาตกรรม โดยสิ่งที่ยืนยันเป็นหลักฐานในการฆาตกรรม ก็คือชิ้นส่วนมนุษย์ที่เป็นกะโหลกศรีษะที่พบเจอในเขื่อนแก่งกระจาน และในทางนิติวิทยาศาสตร์ก็ยืนยันว่าเป็นของบิลลี่” นายมานพกล่าว

นายมานพ กล่าวว่า ดังนั้น กรณีที่ล่าสุดอัยการสั่งไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์ในคดีบิลลี่ ดีเอสไอควรมีหนังสือไปโต้แย้งหรือเพื่อขอทราบเหตุผลว่าทำไมไม่สั่งฟ้องในกรณีบิลลี่ถูกฆาตกรรมและบังคับให้สูญหาย เพราะหากปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมปรากฏขึ้นอย่างที่เป็นอยู่นี้ ย่อมส่งผลถึงความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมโดยรวม และที่สำคัญ ประชาชนที่พบเจอกับเหตุการณ์คล้ายๆ กัน คือ การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการใช้อำนาจทางกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไปละเมิดหรือเข้าข่ายในการละเมิด ย่อมจะมีความเกรงกลัว ไม่กล้าที่จะออกมาพูดความจริง เพราะกรณีอย่างที่เกิดขึ้นของบิลลี่ ก็ไม่สามารถที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งประชาชนก็คาดหวังว่าจะเป็นที่พึ่งพาของประชาชนได้

“ขอเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานดีเอสไอซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการชื่นชมจากพี่น้องประชาชนว่ามีความเป็นกลาง ทำให้หลายๆเรื่องได้รับการยกย่องจากประชน ว่าสามารถค้นหาความจริงจนเป็นที่ยอมรับจากประชาชน กรณีเรื่องบิลลี่นี้ดีเอสไอที่รับผิดชอบตั้งแต่ต้น มีเนื้อหาสาระประเด็นครบถ้วน จำเป็นต้องมีเอกสารไปยังอัยการ หรือส่งฟ้องเองต่ออัยการสูงสุด” นายมานพ กล่าว

นายมานพ ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่ควรจะมีการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการเช่นนี้นี้อีก คือการที่หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐที่ดูแลในพื้นที่ป่าอย่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรจะออกมาบังคับใช้มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ซึ่งพูดถึงการคุ้มครองฟื้นฟูสิทธิชุมชนพี่น้องชาวกะเหรี่ยงและพี่น้องชนเผ่าอื่นๆที่อยู่ในเงื่อนไขลักษณะแบบนี้

ขณะเดียวกัน ตอนนี้รัฐบาลมีความพยายามผลักดันกลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการมรดกโลกหรือยูเนสโกได้มีข้อท้วงติงมายังประเทศไทยสองสามเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขตแดน หรือเรื่องของการอนุรักษ์ หรือศักยภาพหรือพื้นที่ๆ ควรจะเป็นมรดกโลก และที่สำคัญคือเรื่องของสิทธิชุมชน เรื่องของสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ที่จะต้องได้รับการคุ้มครอง ตรงนี้รัฐควรจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

“สุดท้าย ภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการออกกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งจะมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จากการปราบปราม การทรมาน การทำให้บุคคลต้องสูญหาย เป็นกฎหมายสำคัญที่รัฐบาลชุดนี้หรือทุกๆ ฝ่ายจะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นมาให้ได้” นายมานพ กล่าว

อ่านเพิ่มเติม