การบังคับเกณฑ์ทหารภาคบังคับในเมียนมา เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (10 ก.พ.) โดยกองทัพเมียนมาได้กำหนดให้ผู้ชายทุกคนที่มีอายุ 18-35 ปี และผู้หญิงทุกคนที่มีอายุ 18-27 ปี ต้องเข้ารับราชการอย่างน้อย 2 ปีภายใต้คำสั่งของกองทัพ หลังในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาประสบกับความพ่ายแพ้ในการต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์และกลุ่มต่อต้านรัฐประหารทั่วประเทศ
อย่างไรก็ดี ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ เพิ่มเติมต่อการเรียกเกณฑ์ทหารในครั้งนี้ แต่ในแถลงการณ์ ของเผด็จการเมียนมาระบุว่า กระทรวงกลาโหมเมียนมาจะ "ออกข้อบังคับ ขั้นตอน คำสั่งประกาศ ประกาศ และคำสั่งที่จำเป็น" ตามมา
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้อย่างน่าอับอายหลายครั้ง โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว กองทัพกบฎของกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กองทัพในรัฐฉาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ที่ต่อต้านเผด็จการเมียนมา ได้เข้ายึดจุดผ่านแดนและถนนที่เป็นเส้นทางการค้าทางบกส่วนใหญ่ของเมียนมากับจีน
เมื่อเดือนที่แล้ว กองทัพอาระกัน (AA) แถลงว่า พวกเขาได้เข้าควบคุมพื้นที่ปาเลตวาในรัฐชิน และที่ทำการทหารเมียนมาแห่งสุดท้ายในเมืองปาเลตวา ซึ่งเป็นฐานทัพบนยอดเขาที่พื้นที่มีวา
มหยิ่นซเว ประธานาธิบดีเมียนมาที่ได้รับการแต่งตั้งโดยกองทัพ ซึ่งเคยเป็นอดีตนายพล ได้ออกมากล่าวเตือนก่อนหน้านี้ว่า เมียนมากำลังตกอยู่ในอันตรายที่อาจทำให้ประเทศแตกสลาย หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการต่อสู้ได้
ก่อนหน้านี้ ทางการเมียนมาได้ออกกฎหมายอนุญาตให้มีการเกณฑ์ทหาร ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2553 แต่ตัวกฎหมายกลับไม่มีการบังคับใช้จริงจนถึงขณะนี้ โดยภายใต้กฎหมายดังกล่าว ข้อกำหนดในการเข้ารับราชการจากการเกณฑ์ทหารสามารถขยายออกไปได้สูงสุด 5 ปีในช่วงภาวะฉุกเฉิน และผู้ที่เพิกเฉยต่อหมายเรียกรับเกณฑ์ทหารจะถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา 5 ปี
เผด็จการเมียนมาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในปี 2564 และเพิ่งขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือนเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งนี้ เมียนมาต้องประสบกับชะตากรรมภายใต้การปกครองเกือบ 50 ปีของระบอบทหารที่กดขี่ ก่อนที่จะก้าวเข้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 2554
เป็นช่วงเวลาเพียงแค่ 10 ปี ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 กองทัพเมียนมาได้ทำรัฐประหาร และประกาศเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ จนถึงปัจจุบันนี้ ความวุ่นวายและการรบพุ่งยีงคงส่งผลกระทบต่อเมียนมานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้งนี้ มีผู้พลัดถิ่นในเมียนมาแล้วมากกว่า 1 ล้านคนและเสียชีวิตอีกหลายพันคน
อย่างไรก็ดี ความสามารถของกองทัพเมียนมาในการสู้รบกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เมื่อเร็วๆ นี้ จบลงด้วยความพ่ายแพ้และการล่าถอย ส่งผลให้กลายมาเป็นจุดชนวนของกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ และการตั้งความสงสัยในหมู่ผู้สนับสนุนกองทัพเมียนมาให้รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่มา: