เมื่อปี 1993 สหประชาชาติ (UN) ประกาศให้มีวันเสรีภาพสื่อโลก โดยมีการตกลงให้วันที่ 3 พ.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบปฏิญญาวินด์ฮุก เป็นวันเสรีภาพสื่อโลก เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อ พร้อมทบทวนสถานการณ์เสรีภาพสื่อทั่วโลก
สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวนานาชาติ (IFJ) เปิดเผยว่า ช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา มีผู้สื่อข่าวเสียชีวิตระหว่างการทำงานอย่างน้อย 95 ราย แม้ตัวเลขนี้จะสูงกว่าปี 2017 แต่ก็ยังไม่เท่าช่วงปี 2016 ที่สงครามในอิรักและซีเรียรุนแรง
การเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวที่ทั่วโลกสนใจมากที่สุดคือ การเสียชีวิตของจามาล คาชอกกี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบียที่ถูกสังหารในสถานทูตซาอุดีฯ ในนครอิสตันบูลของตุรกีเมื่อต.ค. 2018 หลังจากที่วิพากษ์วิจารณ์เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฏราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุดีฯ
เสรีภาพสื่อในอาเซียนถดถอยพร้อมประชาธิปไตย
ในวันเสรีภาพสื่อโลก สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ออกรายงานระบุว่า เสรีภาพสื่อถดถอยลงทั่วภูมิภาค ขณะที่ประชาธิปไตยไม่ได้เพียงถดถอย แต่กำลังถูกคุกคาม โดยรัฐเป็นผู้ข่มขู่และโจมตี อินเทอร์เน็ตกลายเป็นอาวุธในการเผยแพร่วาทกรรมแห่งเกลียดชังและข่าวปลอม สร้างความแตกแยก และมุ่งโจมตีกลุ่มชายขอบในสังคม
ในปี 2018 เสรีภาพสื่อในประเทศส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูก Free House จัดอยู่ในกลุ่ม "เสรีบางส่วน" หรือ "ไม่เสรี" และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงอยู่ในกลุ่มรั้งท้าย 3 อันดับสุดท้ายในดัชนีขององค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) โดยเสรีภาพสื่อของ 6 ใน 11 ประเทศของภูมิภาคนี้ตกอันดับจากปีก่อน 8 ประเทศอยู่ในกลุ่ม "ยากลำบาก" และอีก 2 ประเทศอยู่ในกลุ่ม "สถานการณ์ร้ายแรงมาก"
SEAPA ระบุว่า เสรีภาพสื่อในกัมพูชาล่มสลายโดยสิ้นเชิง รัฐบาลกัมพูชาคุกคามสื่ออย่างหนัก และบังคับใช้มาตรการบีบบังคับและควบคุมการทำงานของสื่ออย่างเข้มงวด โดยเฉพาะช่วงการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับมาเลเซียและไทยที่มีข้อบังคับในการจำกัดเสรีภาพสื่อในการทำข่าวและให้ข้อมูลที่สำคัญกับประชาชนในช่วงเลือกตั้ง
สารพัดวิธีที่รัฐบาลอาเซียนควบคุมสื่อ
ผู้นำประเทศในภูมิภาคนี้พยายามผูกขาดข้อมูล พยายามปิดกั้นหรือตั้งข้อหาสำนักข่าว ผู้สื่อข่าว นักเคลื่อนไหวและประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หลายคนถูกจำคุกหรือสังหาร ทำให้สื่อมวลชนจำนวนมากต้องเซนเซอร์ตัวเอง
SEAPA ยกตัวอย่างกรณีที่โด่งดังไปทั่วโลกที่ศาลเมียนมาสั่งจำคุกวาโลน และจ่อโซอู ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สจากข้อหาละเมิดข้อมูลลับของทางการ ระหว่างที่พวกเขาทำข่าวการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในหมู่บ้านอินดิน รัฐยะไข่
นอกจากนี้ สื่อที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ก็มักถูกโจมตีอย่างหนัก โดยสำนักข่าว Rappler สำนักข่าวออนไลน์ และมาเรีย เรสซา ผู้ก่อตั้ง Rappler ถูกรัฐบาลฟ้องคดีอาญารวมกันกว่า 8 คดี รวมถึงถูกคุกคามทางออนไลน์และออฟไลน์ด้วยสารพัดวิธี
SEAPA ยังกล่าวว่า ไทยและกัมพูชามีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในการปกป้องสถาบันกษัตริย์ รัฐบาล และกองทัพจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนมาเลเซียก็มีกฎหมายกบฏที่ถูกนำมาใช้ปกป้องผู้นำประเทศ
การปราบข่าวปลอมและความมั่นคงไซเบอร์ในอาเซียน
แม้รัฐบาลปากาตันฮารัปปันของมาเลเซียจะสัญญาไว้ระหว่างหาเสียงว่าจะแก้ไขกฎหมายปราบข่าวปลอมที่ถูกวิจารณ์มีไว้ใช้ปราบผู้เห็นต่าง แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถแก้ไขกฎหมายนี้ได้สำเร็จ ส่วนสิงคโปร์ออกกฎหมายปราบปรามข่าวปลอมสำเร็จแล้ว ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าอาจถูกนำมาใช้คุกคามผู้สื่อข่าวและประชาชนที่วิจารณ์รัฐบาล ขณะที่ฟิลิปปินส์และกัมพูชาก็จ่อจะผ่านกฎหมายลักษณะออกมาเช่นเดียวกัน
รัฐบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พยายามจัดตั้งกองทัพไซเบอร์ในการสอดส่องอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย เพื่อคอยปราบ "ข้อมูลเท็จ" ขณะเดียวกันก็นำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการสอดส่องการโจมตีไซเบอร์ ข้อมูลรั่วไหว และปราบปรามผู้เห็นต่าง
สิงคโปร์ ไทย และเวียดนามได้ผ่านกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ออกมาแล้ว แต่กลับให้นิยามภัยคุกคามความมั่นคงของชาติที่กว้างและไม่ชัดเจน ซึ่งอาจถูกนำไปตีความเพื่อเล่นงานคนบางกลุ่มได้
สื่อกับประชาธิปไตยทั่วโลก
UN เน้นย้ำว่า ปีนี้เป็นปีที่เสรีภาพสื่อมีความสำคัญมากสำหรับประชาธิปไตย โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้ง โดยอันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการ UN ระบุในแถลงการณ์ว่า ไม่มีประชาธิปไตยไหนที่จะสมบูรณ์โดยปราศจากการเข้าถึงข้อมูลที่โปร่งใสและเชื่อถือได้
ส่วน CPJ ก็ระบุว่า วาทกรรมต่อต้านสื่อเป็นเหมือนโรคติดต่อไปในหลายประเทศโดยเฉพาะในฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ขณะที่โซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นอีกความท้าทายของผู้สื่อข่าว เพราะผู้สื่อข่าวมักถูกข่มขู่คุกคามบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวหญิง
ในดัชนี้ชี้วัดเสรีภาพสื่อโลกของ RSF ระบุว่า สถานการณ์เสรีภาพสื่อในสหรัฐฯ อยู่ในระดับ "มีปัญหา" ปัจจุบัน ผู้สื่อข่าวถูกขู่ฆ่าหรือต้องพึ่งพาบริษัทรักษาความปลอดภัยส่วนตัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
สหรัฐฯ ตกอันดับเสรีภาพสื่อลงไปมาก เช่นเดียวกันกับอีก 2 ประเทศใหญ่ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างอินเดียและบราซิล ขณะเดียวกันประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ยิ่งได้คะแนนเสรีภาพสื่อน้อยลงกว่าปีก่อนๆ
ประเทศอันตรายสำหรับผู้สื่อข่าว
อัฟกานิสถานยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้สื่อข่าวเสียชีวิตมากที่สุด โดยปีที่แล้วมีผู้สื่อข่าวเสียชีวิต 16 ราย โดยเหตุระเบิดในกรุงคาบูลมีผู้สื่อข่าวเสียชีวิตไป 9 รายภายในเหตุการณ์เดียวกัน
เม็กซิโกมีผู้สื่อข่าวเสียชีวิต 11 ราย ซีเรียและเยเมนประเทศละ 8 ราย อินเดีย 7 ราย ส่วนสหรัฐฯ ก็มีผู้สื่อข่าวถูกกราดยิงเสียชีวิตไป 5 รายที่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์แคปิทัลกาเซตต์ในมลรัฐแมรีแลนด์ โดยผู้ก่อเหตุเคยฟ้องร้องสำนักข่าวนี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
IFJ กล่าวว่า ปัจจุบัน ความไม่อดกลั้นต่อการรายงานข่าวที่แตกต่างไปจากความเห็นของผู้อ่านหรือผู้ชม ประชานิยม คอร์รัปชันและอาชญากรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าวในชุมชน ในเมืองหรือในประเทศของตัวเอง มากกว่าจะไปเสียชีวิตระหว่างการไปรายงานข่าวในพื้นที่ความขัดแย้ง
ผู้สื่อข่าวถูกจำคุกทั่วโลก
เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว คณะกรรมการปกป้องผู้สื่อข่าว (CPJ) ได้เก็บข้อมูลผู้สื่อข่าวที่ถูกจำคุกทั่วโลกอยู่ที่ 251 คน ถือเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้วที่จำนวนผู้สื่อข่าวถูกจำคุกเกิน 250 คน โดยประเทศที่จำคุกผู้สื่อข่าวมากที่สุด ได้แก่ ตุรกี 68 คน จีน 47 คน อียิปต์ 25 คน ซาอุดีอาระเบียและเอริเทรียประเทศละ 16 คน
ในจำนวนผู้สื่อข่าวทั้งหมดที่ถูกจำคุก มี 33 คนเป็นผู้หญิง คิดเป็นร้อยละ 33 เพิ่มขึ้นมาจากปี 2017 ร้อยละ 8 และในบรรดาผู้สื่อข่าวที่ถูกจำคุกทั้งหมด มีอยู่ร้อยละ 30 ที่เป็นผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์
ผู้สื่อข่าวการเมืองเป็นผู้สื่อข่าวที่มีความเสี่ยงถูกจำคุกมากที่สุด ตามด้วยผู้สื่อข่าวด้านสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าวที่ถูกจำคุกถึงร้อยละ 70 ที่ถูกจำคุกในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านรัฐ เช่น เป็นสมาชิกหรือให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่รัฐบาลระบุว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย และจำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกตั้งข้อหาว่ารายงานข่าวปลอมเพิ่มถึงมาเป็น 28 คนทั่วโลก จากเมื่อปี 2016 ที่มี 9 คนเท่านั้น