ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรีติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค และชื่นชมแต่ละโครงการมีพัฒนาที่ก้าวหน้าขึ้น ซึ่งเป็นผลงานต่อเนื่องมาจากรัฐบาลที่แล้ว และรัฐบาลนี้ตั้งใจเร่งดำเนินการเพื่อให้เห็นผลสำเร็จ

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้าโครงการที่ไทยดำเนินการร่วมกับมิตรประเทศเพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค และชื่นชมแต่ละโครงการมีพัฒนาที่ก้าวหน้าขึ้น ซึ่งเป็นผลงานต่อเนื่องมาจากรัฐบาลที่แล้ว และรัฐบาลนี้ตั้งใจเร่งดำเนินการเพื่อให้เห็นผลสำเร็จ โดยมีรายละเอียดการพัฒนาดังนี้

งานก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) 1.ได้รับงบก่อสร้างปี 63 แบ่งเป็น 3 สัญญาก่อสร้าง

• สัญญา 1 งานถนนฝั่งไทย ค่างาน 831 ล้านบาท ผ่านการประกวดราคา ได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว คาดว่าจะเซ็นสัญญาเดือน ก.ค.63

• สัญญา 2 งานด่านฝั่งไทยรวมถนนภายใน ค่างาน 883 ล้านบาท ผ่านการประกวดราคา ได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว คาดว่าจะเซ็นสัญญาเดือน ก.ค.63

• สัญญา 3 งานสะพาน ไทย-ลาว ค่างาน 1,263 ล้านบาท (ไทย 787 ล้านบาท ลาว 476 ล้านบาท โดยลาวกู้เงิน NEDA จากไทย) คาดว่าจะประกาศประกวดราคาภายในเดือน ก.ค. 63 และคาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ภายในเดือน ส.ค. 63

2.ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี (ผูกพันงบประมาณปี 63-65) โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ก.ค.60 โดยมีก้าวหน้าใน 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่

1.ส่วนงานโยธา แบ่งออกเป็น 14 สัญญา โดยกำลังดำเนินการก่อสร้าง 2 สัญญา อยู่ระหว่างรอลงนาม 7 สัญญา อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อนุมัติสั่งจ้าง 3 สัญญา จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา 1 สัญญา และอยู่ระหว่างพิจารณาเอกสารประกวดราคา 1 สัญญา และ 2.ส่วนผลการจัดทำร่างสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมถึงจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 28 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาร่วมกันจนได้ข้อยุติในส่วนของร่างสัญญา 2.3 และเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.63 ที่ประชุมคณะกรรมการ รฟท. ได้เห็นชอบร่วมกันในหลักการร่างสัญญา 2.3 โดยเมื่อผ่านขั้นตอนตามกฎหมายครบถ้วนแล้ว คาดว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมลงนามในสัญญาดังกล่าวได้ไม่เกินเดือน ต.ค.นี้

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างเพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาคเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับประชาชน พัฒนาระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ เสริมสร้างโครงข่ายเส้นทางคมนาคมไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน สนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และภูมิภาค ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวต่อไป