ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 ก.ค. 2565 ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 19 ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2565 และสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 2565
โดยเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 18) ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565 และสิ้นสุดในวันที่ 31 ก.ค. 2565 เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศ
การดำเนินการที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใกล้จะสิ้นสุดลง ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) จึงได้จัดการประชุมเพื่อประเมินและกลั่นกรองการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ก.ค. 2565 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล และได้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)ครั้งที่ 10/2565 เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ก.ค. 2565 มีมติเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไปด้วยแล้ว โดยมีเหตุผลและความจำเป็นตามสรุปสาระสำคัญของการประชุมรายละเอียด ดังนี้
1. กรมควบคุมโรคได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด ดังนี้
1.1 สถานการณ์ในระดับโลก มีแนวโน้มพบการติดเชื้อเพิ่มทั้งในทวีปเอเชียและทั่วโลกเพิ่มขึ้นแบบระลอกเล็กและระบาดในวงจำกัด (Small Wave) ภายหลังทั่วโลกมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดและการเดินทางระหว่างประเทศ ขณะที่แนวโน้มผู้เสียชีวิตยังคงที่
1.2 สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบอัตราการครองเตียงระดับ 2 (สีเหลือง) และระดับ 3 (สีแดง) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นจากการใช้เตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนักของโรคอื่นด้วย นอกจากนี้ยังมีการเน้นย้ำให้แต่ละจังหวัดดำเนินการตามมาตรการ 3 พอ ได้แก่ เตียง ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน บุคลากรให้บริการ
2. สำหรับแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดในห้วงที่ผ่านมา พบการระบาดในลักษณะเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ในสถานที่เสี่ยงจากสายพันธุ์ใหม่ BA.4 และ BA.5 โดยเฉพาะในโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนในห้องปรับอากาศในหลายจังหวัด ทำให้พบการแพร่โรคไปสู่ครอบครัวและคนใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง (608) และเด็กเล็ก ที่ทำให้มีอาการป่วยหนักตามมา ทั้งนี้ ได้มีการใช้มาตรการควบคุมโรคในโรงเรียนตามแผนเผชิญเหตุของจังหวัดหรือโรงเรียน และเสนอให้คงมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล (Universal Prevention) และใช้การสื่อสารสาธารณะแนะนำประชาชนให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT เมื่อมีอาการป่วย ขณะร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากหรืออยู่ในสถานที่ปิด รวมทั้งเร่งรัดการฉีดวัคซีนในทุกเข็มตามมาตรการ Universal Vaccination ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงและกลุ่มเปราะบาง (608) เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนักซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
3. มติของที่ประชุม ที่ประชุมมีความเห็นว่า ยังคงมีความจำเป็นจะต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อไปอีกคราวหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อแพร่กระจายจำนวนมาก
อีกทั้งมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นและระบาดแพร่หลายเป็นระยะ กรณีจึงยังคงมีสถานการณ์ฉุกเฉินอันกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน และเพื่ออาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการบูรณาการการปฏิบัติงานและการดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความต่อเนื่อง จึงเห็นสมควรให้เสนอ ครม.พิจารณาขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปในคราวที่ 19 เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2565 จนถึงวันที่30 ก.ย. 2565