รัฐบาลของ ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดี ฝ่ายขวาสุดโต่ง แห่งบราซิล มีการเสนอระงับงบจัดสรรรายปี 30 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของงบสำหรับครึ่งหลังของปีนี้ของมหาวิทยาลัยรัฐ ซ้ำเติมความไม่พอใจที่มีอยู่แต่เดิมจากการปรับลดทุนการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ส่งผลให้กลุ่มครู นักเรียน และนักวิชาการหลายหมื่นคนทั่วประเทศ ลงถนนประท้วง ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 30 พฤษภาคม ที่กรุงบราซีเลีย และค่อยๆ เริ่มลุกลามไปในอีกประมาณ 100 เมือง มีการรายงานว่าในเมืองซัลวาดอร์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล มีผู้ชุมนุมประท้วงราว 70,000 คน
ในรีโอเดจาเนโร นักเรียน นักศึกษาหลายพันรายร่วมเดินประท้วงภายในตัวเมืองพร้อมถือป้ายซึ่งระบุข้อความว่า "การศึกษาไม่ใช่รายจ่าย แต่เป็นการลงทุน" และมีป้ายที่ระบุว่า โบลโซนารูเป็น "ศัตรูของการศึกษา"
"ประเด็นหลักก็คือการตัดงบการศึกษาลง 30 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องที่บ้าบอมาก แล้วมันก็ทำให้การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นเข้าถึงไม่ได้ในประเทศนี้ด้วย" ลีนา วิเลลา ครูผู้ร่วมการชุมนุมประท้วง กล่าว
ตานีเนีย มารีอา อัลเมย์ดา นักศึกษาปริญญาโทผู้ประท้วงในรัฐเซร์ชีปี ทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล กล่าวว่ารู้สึกกังวลว่าการตัดงบจะทำให้นักเรียนจากครอบครัวยากจนเข้าถึงการศึกษาได้ยากขึ้น โดยอัลเมย์ดาเอง ชี้ว่าเธอจบปริญญาตรีสาขาการแพทย์ชีวภาพ และเรียนต่อในสหรัฐอเมริกาได้ ก็เพราะโครงการการศึกษา มหาวิทยาลัยเพื่อคนทั้งมวล (University For All) และวิทยาศาสร์ไร้พรมแดน (Science without Borders) ซึ่งก่อตั้งโดยรัฐบาลฝ่ายซ้ายอย่างรัฐบาลของ ลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวา และจิลมา รูเซฟ
"ฉันเสียใจเพราะถ้าเกิดการตัดงบเหล่านี้ คนแบบฉันที่ไม่ได้มาจากครอบครัวร่ำรวย ก็จะไม่ได้รับโอกาสแบบที่ฉันได้" อัลเมย์ดา กล่าว
กระทรวงการศึกษา แถลงในวันที่ 30 พฤษภาคม ว่าบรรดาครู นักเรียน และแม้แต่ผู้ปกครอง ไม่ได้รับอนุญาตให้ เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงในเวลาเรียน
อย่างไรก็ตาม อิซาร์ดอรา ดูอาร์เต นักศึกษามหาวิทยาลัย เห็นต่างออกไปว่าการออกมาประท้วงเป็นเรื่องจำเป็น
"การประท้วงเป็นทางเดียวที่เราจะสามารถแสดงให้เห็นว่าเราไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เราอยู่ในประเทศประชาธิปไตย เรามีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วย" ดูอาร์เต กล่าว
ญาโกวีนี วัย 33 ปี หนึ่งในผุ้ชุมนุมประท้วง ชี้ว่ารัฐบาลของโบลโซนารู แสดงให้เห็นแล้วว่ารัฐบาลนี้ไม่เพียงแต่เป็นรัฐบาลอนุรักษนิยมเท่านั้น แต่ยังเป็นรัฐบาลอนุรักษนิยมที่ไร้ความสามารถและหลุดจากความเป็นจริงอย่างรุนแรงอีกด้วย
"เรารู้นะว่ามันจะแย่ แต่ไม่คิดว่าจะแย่ขนาดนี้" ญาโกวีนี กล่าวถึงการบริหารงานของรัฐบาลโบลโซนารู
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 15 พฤษภาคม ก็มีการชุมนุมประท้วงโดยชาวบราซิลนับหมื่นๆ คนมาแล้ว ในคราวนั้น โบลโซนารู ประธานาธิบดีผู้ต่อต้านสังคมนิยมด้วยแนวคิดอนุรักษนิยมสุดโต่ง ชี้ว่ากลุ่มผู้ประท้วงในวันที่ 15 พฤษภาคม เป็นพวก "เก่งแต่เรื่องโง่ๆ" และนักเรียน นักศึกษาที่มาประท้วง เป็นเด็กไม่รู้เรื่องรู้ราวว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่และถูกบงการโดยครู พร้อมกล่าวหาว่ากองกำลังทหารฝ่ายซ้ายเป็นผู้ปลุกระดมมวลชนให้เกิดการประท้วง
ทางโบลโซนารูและผู้สนับสนุนเขาได้ประกาศสงครามกับ 'การปลูกฝังความคิด' โดยอาจารย์ที่มีแนวคิดเอียงซ้ายในโรงเรียน โบลโซนารูได้กระตุ้นให้นักเรียนอัดคลิปครูที่สอนแนวคิดฝ่ายซ้าย
"ครูมีหน้าที่สอนก็สอน อย่ามาปลูกฝังความเชื่อ" โบลโซนารู ระบุในทวิตเตอร์หลังรีทวิตคลิปจากนักเรียนที่ถ่ายคลิปครูมารายงานว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำฝ่ายขวาสุดโต่งคนนี้ คาร์ลอส โบลโซนารู ลูกชายของเขาก็ได้แสดงความคิดเห็นในทวิตเตอร์สนับสนุนผู้เป็นพ่อด้วยเช่นกัน
"การถ่ายคลิปหรืออัดเสียงในโรงเรียน เป็นการป้องกันตัวตามกฎหมายต่อนักล่าทางอุดมการณ์ที่แฝงคตัวมาในคราบของครู" คาร์ลอส โบลโซนารู ระบุ
ความขัดแย้งทางศึกษาในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นสงครามทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวโบลโซนารูตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าพยายามแก้ไขประวัติศาสตร์โดยปฏิเสธ 21 ปีที่บราซิลตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ด้วยการจัดงานเฉลิมฉลองวันครบรอบ 55 ปีรัฐประหารซึ่งนำไปสู่ระบอบเผด็จการ แม้ว่าวันเฉลิมฉลองจะถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่ปี 2011
โบลซานารู ชนะการเลือกตั้งด้วยเสียง 55.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2018 ด้วยแรงหนุนจากความโกรธเกรี้ยวในสังคมต่อนักการเมืองฝ่ายซ้ายซึ่งมีส่วนทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยครั้งร้ายแรงที่สุด และการคอร์รัปชันที่อื้อฉาวที่สุด
อย่างไรก็ตาม ภายใน 6 เดือนหลังเข้ารับตำแหน่ง มีโพลซึ่งระบุว่า 36 เปอร์เซ็นต์ของผู้ออกเสียงเลือกตั้งรู้สึกการบริหารงานของรัฐบาลนี้ย่ำแย่ สูงขึ้นจากโพลในเดือนกุมภาพันธ์ที่มีเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่พอใจ
ที่มา: AFP / The Guardian