ไม่พบผลการค้นหา
ซีไอเอ็มบี ไทย-เอ็กซิมแบงก์ ประเมินผลกระทบราคาน้ำมันตกฮวบ ใครได้-ใครเสียในสงครามราคาครั้งนี้

จากกรณีซาอุดีอาระเบีย​ ขยายกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดกลับมาเป็นเบอร์​ 1 ของการเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก​ ก่อนหน้านี้ซาอุฯ ร่วมกับกลุ่มโอเปกและรัสเซียลดกำลังการผลิตลงหวังดึงราคาน้ำมันให้สูงขึ้น​ แต่กลายเป็นว่าสหรัฐฯ​ รวมถึงรัสเซีย ยังมีการผลิตน้ำมันในระดับสูง​ ทำให้ซาอุฯ ต้องกลับมาเร่งผลิตน้ำมันหวังให้ปริมาณน้ำมันออกสู่ตลาดมาก​ ทำให้ราคาน้ำมันร่วงลงแรง​ จนผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นสุดทนจนต้องลดการผลิตลงเอง​ สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ลดลงนี้​ ใครได้​ ใครเสีย?

สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ใช้โมเดลจากอ๊อกฟอร์ดอิโคโนมิกส์ คาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศสำคัญ (เทียบกับฐาน) กรณีราคาน้ำมันร่วงลงร้อยละ​ 50 พบว่า กลุ่มอาเซียนสำคัญ หรือ ประเทศที่จีดีพีจะได้รับอานิสงส์มากที่สุดคือ ฟิลิปปินส์ เพราะเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิปริมาณมาก​ สำหรับประเทศไทย จีดีพีจะได้รับผลที่ดีขึ้นราวร้อยละ​ 0.3 เทียบกรณีฐาน​ (เช่น ล่าสุดสำนักวิจัยฯ คาดการณ์จีดีพีขยายตัวได้ร้อยละ 1.7 ก็อาจสูงขึ้นเป็นร้อยละ 2.0 แต่อาจปรับลดประมาณการจากปัญหาไวรัสโควิดแทน)

ค่าเงิน

ส่วนประเทศที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิอย่างมาเลเซียจะได้รับผลลบจากราคาน้ำมันที่ลดลง​ ส่วนประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ​ เช่น​ ถ่านหิน​ อย่าง​อินโดนีเซียและออสเตรเลีย​ก็ได้รับผลกระทบด้านลบจากราคาน้ำมันที่ลดลงด้วยเช่นกัน เพราะราคาสินค้าเหล่านั้นเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน​ ขณะที่ ซาอุฯ เองอาจเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้หากปล่อยให้ราคาน้ำมันลดลงเช่นนี้ตลอดทั้งปี ถ้าซาอุฯ ก็ได้รับผลกระทบแรงจากราคาน้ำมันที่ลดลง ซาอุฯ คงไม่ปล่อยให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้นาน เพราะพึ่งพารายได้จากน้ำมัน ดังนั้น สำนักวิจัยฯ มองว่า วิกฤติราคาน้ำมันน่าจะสงบได้ในไม่ช้า สุดท้ายราคาน้ำมันน่าจะอยู่ในระดับต่ำราว 40-45 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลแทนที่จะอยู่ในระดับ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลดังเช่นกรณีก่อนที่ซาอุฯ จะเพิ่มกำลังการผลิตรอบนี้ ด้วยทั้งอุปทานน้ำมันที่มีมาก และจากอุปสงค์ที่อ่อนแอจากปัญหาไวรัสโควิดที่กระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก

แนะผู้ประกอบการส่งออกตลาดตะวันออกกลาง-รัสเซีย หาแนวทางป้องกันความเสี่ยง

ด้านฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่อง 'ราคาน้ำมันดิ่งเหว นัยต่อการส่งออกของไทย' ไว้ว่า ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว เปรียบเสมือนเหรียญสองด้านที่จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจไทย

ด้านบวก จะทำให้ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ ประหยัดเงินในการนำเข้าน้ำมันดิบได้บางส่วน โดยในแต่ละปีไทยนำเข้าน้ำมันดิบเกือบ 7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการก็จะมีต้นทุนการผลิตลดลง โดยเฉพาะต้นทุนค่าขนส่ง ขณะที่ผู้บริโภคก็จะมีกาลังซื้อเพิ่มขึ้น จากรายจ่ายด้านพลังงานที่ลดลง ซึ่งจะหนุนให้อุปสงค์ในประเทศกระเตื้องขึ้น

ด้านลบ ราคาน้ำมันที่ลดลงอาจบั่นทอนการส่งออกสินค้าและบริการของไทยในหลายมิติ ได้แก่


  • การส่งออกของไทยไปประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันในสัดส่วนสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ OPEC และรัสเซีย ซึ่งไทยส่งออกคิดเป็นสัดส่วนรวมกันราวร้อยละ 3 ของมูลค่าส่งออกรวม ทั้งนี้ ประเทศเหล่านี้มีรายได้หลักมาจากการขายน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและปิโตรเคมีเป็นหลัก ดังนั้น หากราคาน้ำมันลดต่ำลง ก็เท่ากับว่าประเทศเหล่านี้มีรายได้ลดลง และอาจทำให้รัฐบาลของประเทศดังกล่าวต้องปรับลดงบประมาณรายจ่ายเพื่อพัฒนาประเทศลง ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของกลุ่มประเทศข้างต้นชะลอลง ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่ไทยพึ่งพาตลาด OPEC และรัสเซียสูง ได้แก่ รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง ข้าว เครื่องปรับอากาศ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น ก็จะได้รับผลกระทบ


  • การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันถูกกดดันต่อเนื่อง อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติกมีแนวโน้มชะลอลง กลุ่มสินค้าดังกล่าวมีสัดส่วนรวมกันราวร้อยละ 15 ของมูลค่าส่งออกรวม ทั้งนี้ นอกจากราคาน้ำมันที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อส่วนต่าง (Margin) ของการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวแล้ว ในด้านปริมาณก็ยังคงถูกกดดันจากอุปสงค์ที่ลดลงจากผลกระทบของโควิด-19 โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันอันดับ 1 ของไทยอีกด้วย


  • การส่งออกสินค้าเกษตรอาจได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากราคาสินค้าดังกล่าวมักเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะยางพารา โดยปัญหาดังกล่าวจะเข้ามาซ้าเติมภาวะอุปทานยางพาราล้นตลาดในปัจจุบันมากขึ้นไปอีก


  • การส่งออกบริการมีแนวโน้มหดตัว จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลางและรัสเซียซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 10 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในไทยอาจลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายจ่ายเฉลี่ยต่อหัวสูงและเป็นกลุ่มลูกค้าอันดับ 1 ที่เข้ามาใช้บริการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Medical Tourism) ในประเทศไทย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจซ้ำเติมภาคการท่องเที่ยวที่ปัจจุบัน ก็ได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิด-19 ที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง


จะเห็นได้ว่านอกจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของไทย โดยรวมแล้ว ความปั่นป่วนในตลาดน้ำมันก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ส่งออกไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าสงครามราคาน้ำมันข้างต้นจะจบลงอย่างไร โดยหากรัสเซียเปลี่ยนใจกลับสู่โต๊ะเจรจากับซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง ก็อาจทำให้ราคาน้ำมันเด้งกลับได้เช่นกัน

ดังนั้นผู้ส่งออกจึงควรต้องติดตามทิศทางราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ เอ็กซิมแบงก์ระบุว่า มีบริการทางการเงินและเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และราคาน้ำมันที่ปรับลดลง อันจะช่วยประคับประคองการส่งออกของไทยปี 2563 ไม่ให้แย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: