องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่าโรคติดต่อโดยทั่วไปจะเริ่มจากการแพร่ระบาดในพื้นที่จำกัด หรือ epidemic ก่อนจะเข้าสู่ 'การแพร่ระบาดไปทั่วโลก' หรือ pandemic และก่อนหน้านี้ WHO เคยประเมินว่า 'มีความเป็นไปได้สูงมาก' ที่โควิด-19 จะเข้าสู่ภาวะแพร่ระบาดไปทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม WHO ยังยืนยันว่าขณะนี้สถานการณ์ โควิด-19 ยังไม่เข้าสู่ภาวะ pandemic แต่ก็ไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนว่า ต้องมีกี่ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อ จึงจะประกาศว่าโควิด-19 เข้าสู่การแพร่ระบาดทั่วโลกอย่างเป็นทางการ ทำให้รัฐบาลหลายประเทศพิจารณาแนวทางรับมือภาวะแพร่ระบาดดังกล่าวกันเอง
ทั้งนี้ หากเกิดการแพร่ระบาดพร้อมๆ กันในระดับโลก จะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ ที่จะใช้รับมือกับโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ยารักษาโรค หรืออุปกรณ์ป้องกันด้านสาธารณสุขต่างๆ
ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกวันที่ 28 ก.พ.2583 อยู่ที่ประมาณ 83,300 ราย และผู้เสียชีวิต 2,854 ราย เกือบทั้งหมดอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ และอีก 66 รายพบในประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่ประเทศที่พบผู้เสียชีวิตมากที่สุดรองจากจีน คือ อิหร่าน 26 ราย ตามด้วยอิตาลี มีผู้เสียชีวิต 17 ราย และเกาหลีใต้ เสียชีวิต 13 ราย
สำนักข่าวบีบีซีรายงานกรณีของประเทศอังกฤษที่ใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าโควิด-19 เข้าสู่ภาวะแพร่ระบาดทั่วโลกแล้วหรือไม่ โดยจะประเมินจากการติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากคนสู่คนซึ่งไม่เกี่ยวกับจีนแผ่นดินใหญ่ที่เป็นต้นตอการแพร่ระบาดอีกต่อไป
เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษประเมินว่า บุคลากรการแพทย์ต้องเพิ่มความระมัดระวังผู้ติดเชื้อที่มีอาการเพียงเล็กน้อย และเฝ้าระวังผู้เดินทางเข้าออกประเทศที่พบการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกเหนือจากจีนเพิ่มเติม โดยเฉพาะ อัฟกานิสถาน คูเวต บาห์เรน อิรัก เลบานอน และโอมาน เพราะพลเมืองของประเทศเหล่านี้เกี่ยวโยงกับอังกฤษ ขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่ระบบสาธารณสุขไม่ได้มีประสิทธิภาพเพียงพอ
บีบีซีรายงานด้วยว่า WHO เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาก่อนเมื่อสิบปีที่แล้ว ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A/ H1N1 ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่ WHO ประกาศภาวะแพร่ระบาดทั่วโลก แต่ระดับความรุนแรงของโรคนั้นเบากว่าที่ประเมิน จึงมีผู้มองว่า WHO นั้นด่วนตัดสินใจเกินไป
หลังจากนั้น แม้จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบล่าและไข้เลือดออกซิกา แต่ WHO ก็ไม่ประกาศให้โรคเหล่านี้อยู่ในระดับภาวะแพร่ระบาดทั่วโลกอีก
เดอะการ์เดียนรายงานกรณีของออสเตรเลียเพิ่มเติมว่า มีการประเมินสถานการณ์ตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อ 22 รายในประเทศ และคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดำเนินต่อไปอีกอย่างน้อย 10 เดือน และ 40 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มประชากรวัยทำงานจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะผู้ติดเชื้อที่พบ ทำให้ต้องกักตัวสมาชิกครอบครัวของคนเหล่านี้เพิ่มเติมเพื่อรอดูอาการ รัฐบาลจึงต้องออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจส่งผลให้จีดีพีของประเทศลดลงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์
หน่วยงานสาธารณสุขออสเตรเลียยังประเมินด้วยว่า การตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้ามาในประเทศเพื่อหาตัวผู้ติดเชื้อจะไม่ช่วยอะไรมากนัก เพราะผู้ติดเชื้อจำนวนมากอาจยังไม่แสดงอาการ เพราะฉะนั้นจึงขอความร่วมมือบริษัทห้างร้านต่างๆ ในประเทศสั่งให้พนักงานทำงานจากบ้าน เพราะเกรงว่าโควิด-19 จะซ้ำเติมภาวะแพร่ระบาดของโรคหวัดที่เกิดขึ้นเป็นประจำตามฤดูกาล
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้สั่งเตรียมความพร้อมให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลให้แก่ประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก วัยรุ่น ผู้สูงวัย เพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่จะยิ่งบั่นทอนสุขภาพเพิ่มเติม และเปิดช่องให้การติดเชื้อโควิด-19 ง่ายดายขึ้น
ทางด้านรัฐบาลท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกา เช่น ที่มลรัฐนิวยอร์ก ประกาศกักตัวประชากรเกือบพันราย เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่โควิด-19 จะแพร่ระบาดในประเทศเพิ่มเติม
ส่วนสำนักงานควบคุมและป้องกันโรค หรือ CDC ของสหรัฐฯ ออกประกาศห้ามประชาชนเดินทางไปยังจีนและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่แพร่ระบาดรุนแรง ทั้งยังแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงหรือทบทวนการเดินทางไปยังญี่ปุ่น อิตาลี และอิหร่าน
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับประกาศว่า อีกไม่นานสถานการณ์โควิด-19 ก็จะลดระดับความรุนแรงไปเอง ทำให้ซีเอ็นเอ็นและวอชิงตันโพสต์ สื่อในประเทศ วิจารณ์ว่า การที่หน่วยงานรัฐและผู้บริหารระดับสูงออกมาให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกันเอง จะส่งผลกระทบต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด เพราะทำให้ประชาชนสับสน และปฏิบัติตัวไม่ถูก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: