ใครดูประชุมสภาฯ ที่ผ่านมาแล้วไม่รู้สึกอะไรเลย ต้องยอมรับว่าโคตรใจแข็ง และมีอุเบกขาวางเฉยอย่างสูงสุด เพราะต่อให้ไม่รู้สึกอะไรกับความไม่ชอบธรรม ความไม่สมเหตุสมผล ก็คงจะต้องรู้สึก “ลำไย” หรือรำคาญการเตะถ่วง ประท้วงโหยหวน หรือการอภิปรายเลอะเทอะสักแต่ว่ามีไมค์ กันไม่มากก็น้อย
หน้าฉากของสภาที่เห็นๆ กันในถ่ายทอดสดว่ายุ่งเหมือนยุงตีกันแล้ว ฉากหลังคงมีอะไรอีกมากมาย ที่เห็นอันนึงก็คือที่ “คุณช่อ พรรณิการ์ วานิช” โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ได้ทวีตข้อความว่า "เข้าสภามาแค่ 2 วัน เจอผู้แทนฯ ชาย ที่ยังเคยชินกับวัฒนธรรมเดิมๆ พูดจาแทะโลมแซวผู้แทนฯ หญิง หลายคน นี่คือหนึ่งในประเด็นที่ #อนาคตใหม่ ต้องการผลักดัน สภาคือสถานที่สำคัญของประชาธิปไตย หัวใจของประชาธิปไตยคือคนเท่ากัน พฤติกรรมเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ จะต้องไม่เกิดขึ้นที่นี่"
คำว่า “แซว” ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายในเชิงภาษาปากไว้อย่างน่ารักว่า “กระเซ้า” ซึ่งกระเซ้าเป็นคำกิริยามีความหมายว่า “พูดรบเร้า, พูดเย้าแหย่” ส่วนคำว่า “แทะโลม” หมายถึงการพูดเกี้ยวพาราสีในเชิงชู้สาว เมื่อรวมกันความหมายจึงค่อนไปทางน่ารำคาญ และไม่พึงปรารถนาต่อผู้ถูกกระทำ
คำที่คุณช่อเขียนเปรียบไว้ว่าการพูดจาแทะโลมเป็น “วัฒนธรรมเดิมๆ” ส่วนตัวฉันมองว่าไม่เกินจริง เพราะเป็นสิ่งที่มีมานาน ถามแม่ดูสิ ถามยายดูสิ น่าจะเคยประสบพบเจอกันมาแล้วทุกรุ่น และเพราะอะไรเหล่าผู้ชายพายเรือต้องแซว ถ้าไม่นับเรื่องแรงขับทางเพศที่ผลักให้ปากพูดไป นั่นอาจมาจากสภาพสังคมในอดีตที่มักมีธรรมเนียมไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ชายหญิงได้เสวนากัน เหมือนที่ราชทูตฝรั่งเศส “ลา ลูแบร์” บันทึกไว้ว่า “ประเพณีในประเทศนี้ (หมายถึงอยุธยา) ไม่อนุญาตให้หญิงสาวสนทนาพาทีกับชายหนุ่ม” เมื่อไม่มีโอกาสอย่างเป็นทางการ การพูดแซวจึงถือเป็นการ “ระบายความอัดอั้น” และอาจเป็นการแสดง “ความกล้าหาญ” ของผู้ชาย นัยว่ากล้าที่จะละเมิดธรรมเนียมก็เป็นได้
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นการแทะโลมเกี่ยวพันกับ “การแสดงออกถึงความเป็นชาย” อยู่บ่อยๆ ในวรรณคดี ซึ่งนับเป็นภาพสะท้อนสังคมอย่างหนึ่ง ยกมาให้อ่านบทหนึ่งมาจาก “บทละคร อิเหนาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ” แต่งช่วงรัตนโกสินทร์นี่เอง
พวกบัณฑิตสึกใหม่ไปเป็นหมู่ แต่ล้วนเหล่าเจ้าชู้ฉุยฉาย
ชักจ้องหน่องเป่าขลุ่ยทำกรุยกราย เที่ยวแวดชายหมายดูสตรี
ครั้นเห็นสาวสาวชาวร้าน ก็เกี้ยวพานเลียมล้อขอบุหรี่
บ้างกินเหล้าเมามึนเต็มที ชกตีวิวาทบังอาจใจ
แปลง่ายๆ ก็คือพวกพระสึกใหม่รวมกันเป็นกลุ่ม ไปเที่ยวเล่นเห็นแม่ค้าสาวๆ ก็เข้าไปพูดแซว เสร็จแล้วก็กินเหล้าและปิดจ็อบด้วยการตีกัน
การแทะโลมเป็นพฤติกรรมในสังคมที่ดูจะกลายเป็นเรื่อง “ธรรมดา” อย่าไปถือสาหาความ แม้แต่คำกลอนสุภาษิตสอนสุภาพสตรีของ “สุนทรภู่” ก็ยังสอนสาวๆ ว่า “ถึงชายใดเขาพอใจมาพูดเกี้ยว อย่าโกรธเกรี้ยวโกรธาว่าหยาบหยาม” ซึ่งครูสุนทรภู่ท่านก็แต่งสอนหญิงไปตามยุค เพราะว่ากันตามจริงสมัยโบร่ำโบราณสาวๆ ไปด่าสวนต่อปากต่อคำก็คงไม่ปลอดภัยกับตัว พวกโมโหอาจมาฉุดเอาได้ง่ายๆ
แต่นี่มันยุคพุทธศตวรรษที่ 26 แล้ว ค่านิยมอะไรๆ ก็ควรจะทันต่อสมัย ไม่ชอบใจต้องปฏิเสธได้ และต้องไม่ปล่อยผ่านพฤติกรรมที่สะท้อนความคิด “คนไม่เท่ากัน” หรือ “ไม่ให้เกียรติคนอื่น” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาของประเทศประชาธิปไตย เพราะถ้าหากสถานที่แห่งนี้ยังสร้างความเท่าเทียมแม้แต่เรื่องเพศไม่ได้ ประชาชนก็อาจไม่มีอะไรต้องหวัง
ให้กำลังใจทุกท่านที่ต้องการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะการจะพลิกวัฒนธรรมเดิมๆ ของผู้แทนฯ ชายที่มีแนวคิดย้อนไปไกลเป็นร้อยปีคงไม่ใช่เรื่องง่าย