ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ระบุ รัฐประหารจะยิ่งสร้างความซับซ้อนให้การเมือง ยึดอำนาจไม่รู้จบ เชื่อวงจรอุบาทว์ เกิดเพราะไม่มั่นคงใน ปชต. มองรัฐประหาร 57 รวม ผบ.ทบ. เป็น รมต.มาก เพราะรอโอกาสเข้าเสวยสุขมานาน

งานเสวนาทางวิชาการเปิดพื้นที่พูดคุย ในโอกาสครบรอบ 13 ปีรัฐประหาร 2549 ภายใต้หัวข้อ "13 ปี รัฐประหาร 49 ก้าวพ้นหรือย่ำวนในวงจรของทรราช"

ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำรัฐประหารนำไปสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่ ซึ่งเป็นการถกเถียงในทางวิชาการ โดยเชื่อว่าในท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การรัฐประหาร การเกิดขึ้นของมวลชนในทางการเมือง และนำมาสู่ความซับซ้อนในทางการเมืองมากขึ้น

การรัฐประหารปี 2557 รูปแบบมีการเปลี่ยนแปลง คือความพยายามสืบทอดอำนาจ โดยไม่ให้การรัฐประหารเสียของ ผ่านคำพูดของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งสะท้อนถึงความต่างออกไปของขนบในการรัฐประหารปี 2549 และหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเชื่อว่ามาจากปฏิกิริยาและทิศทางการเมืองที่อาจทำให้ชนชั้นนำตกใจ และความไม่พอของฝ่ายรัฐประหารเอง 

ดังนั้นสิ่งที่ต้องคิดต่อคือหากได้ประชาธิปไตยมาแล้ว จะรักษาประชาธิปไตยได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้ ประชาธิปไตยมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะกลไกการควบคุมอำนาจที่แท้จริง อาจอยู่กับฝ่ายเสียงข้างน้อย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจที่แท้จริง เป็นผู้ที่สามารถจัดสรรทรัพยากรทางอำนาจได้ 

ด้าน ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เห็นว่าหลายต่อหลายเหตุการณ์ทางการเมืองสร้างความไม่พอใจในตัวอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ก่อนที่จะมีการรัฐประหารปี 2549 แม้แต่ตนเองก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น จนกระทั่งได้ทบทวนตนเองและมองภาพรวมทางการเมือง ความรู้สึกนึกคิด จึงเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการอธิบายต่อการรัฐประหารเป็นครั้งๆ โดยไม่มองภาพรวมถือเป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาด และนำไปสู่ทฤษฎีวงจรอุบาทว์ ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ทหารเท่านั้น แต่นักวิชาการก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่มั่นคงต่อประชาธิปไตย

ผศ.ธำรงศักดิ์ ชี้ว่า การรัฐประหารและอยู่ในอำนาจมี 2 ลักษณะ โดยได้ยกตัวอย่างการรัฐประหารปี 2557 เหตุที่มีผู้บัญชาการทหารบก อยู่ในคณะรัฐมนตรีหลายคน เรียกว่ารวมดาวผบ.ทบ. เนื่องจากรอคอยจังหวะมานาน เมื่อมีโอกาสจึงต้องเข้ามาเพื่อเสวยสุขร่วมกัน ซึ่งต่างจากการรัฐประหารปี 2549 ซึ่งอยู่ในอำนาจระยะเวลาสั้น เพราะต้องรื้อฟื้นสถานการณ์และความเชื่อมั่นของทหารให้กลับเข้าสู่การเมืองอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นยุทธวิธีของทหารที่จะเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง 

ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มองประเทศไทย กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ปรากฏการณ์ของรัฐประหาร เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชนชั้นนำ นักธุรกิจขนาดใหญ่ กลุ่มเก่าความคิดเดิม ความคิดของโลกสมัยสงครามเย็น มีความรู้สึกว่า กำลังสูญเสียอำนาจ และหาวิธีที่จะคงอำนาจไว้โดยการรัฐประหาร 

ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นในยุคที่มีการรัฐประหารจะถูกครอบงำในทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะบุคคลที่ประสบความสำเร็จรวมถึงทหารที่เข้ามามีบทบาทในทางการเมือง สิ่งเหล่านี้ยังสะท้อนด้วยว่าชนชั้นนำพยายามดึงสังคม ไม่ให้ไปสู่สิ่งใหม่ โดยเรื่องเหล่านี้จะไม่ประสบความสำเร็จหากไม่ได้รับความร่วมมือจากคนที่ถือปืน

ทั้งนี้ ศ.ดร.ผาสุก ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญ 2540 มีหลักการในการกระจายอำนาจแต่หลักการดังกล่าว ไปขัดต่อแนวความคิดของชนชั้นนำที่ต้องการให้อำนาจกระจุกตัว เพื่อให้เกิดการใช้อำนาจแบบรวมศูนย์

ขณะเดียวกันเห็นว่า การรัฐประหารในปี 2549 เจตนารมณ์ ไม่ต้องการให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีที่มาจากประชาชน มีหลักคิดในการกระจายอำนาจ กระจายทรัพยากร รวมถึงเม็ดเงินลงไปยังภูมิภาค