ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับ อ.นพพล ผลอำนวย จากรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง วิเคราะห์พรรคขนาดกลาง 'ตัวแปร' การเลือกตั้งครั้งหน้า / ทำความเข้าใจลักษณะ 'พื้นที่เลือกตั้ง' 2 แบบ / ความสำคัญของ 'บ้านใหญ่' เกิดขึ้นได้เพราะการออกแบบระบบเลือกตั้ง

ในภาพใหญ่ของการเมืองไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘พรรคขนาดกลาง’ คือ ‘ตัวแปร’สำคัญ ในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะภูมิใจไทยที่เพียง ‘พลิก’ ตัวนิดเดียว หน้าตารัฐบาลก็เปลี่ยนขั้วชั่วคืน

เช่นเมื่อปี 2551 เพียงละมือจากพรรคพลังประชาชน “มันจบแล้วครับนาย” ตามที่ ‘ครูใหญ่’ เนวิน ชิดชอบกล่าวไว้ ตัดขาดพรรคพลังประชาชนที่กำลังลำบากเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกฯ การเปลี่ยนขั้วของกลุ่มเนวินทำให้ฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็กลายเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลใต้การนำของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ล่าสุด ปี 2562 จากที่อนุทิน ชาญวีรกูล เคยบอกว่า “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคภูมิใจไทยจะสนับสนุน ต้องเป็น ส.ส.” สุดท้ายก็โหวต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ จนได้โควต้ารัฐมนตรีกระทรวงเกรด A ไปหลายกระทรวง

 คงไม่ผิดหากกล่าวว่า ปรัชญาของพรรคขนาดกลางคือ ยังไงก็ได้ แต่ไม่อยู่กับฝ่ายแพ้

 ท่ามกลางการเมืองไทยที่รัฐประหารกันบ่อยและมีความพยายามสืบทอดอำนาจทหารผ่านเสื้อคลุมประชาธิปไตย จึงเกิดคำถามว่า พรรคขนาดกลางเหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อระบอบประชาธิปไตยไทย เพราะจุดชี้ขาดการการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ในมือพรรคขนาดกลางเสมอ

และท่ามกลางการแบ่งขั้วทางอุดมการณ์การเมืองของประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมืองกันอย่างมาก ทำไมพรรคกลางๆ ‘อุดมการณ์ไม่ชัดเจน’ จึงยังได้รับเลือกตั้ง มีฐานที่แข็งแกร่งและดูจะขยายตัวได้อีก หรือแท้จริงแล้วประชาชนอาจไม่ได้พิจารณาเลือก ส.ส.ของตัวเองผ่าน ‘นโยบาย’ หรือ ‘อุดมการณ์’ มากมายขนาดนั้น

อาจารย์นพพล ผลอำนวย คณะรัฐศาสตร์ ภาคปกครอง ม.รามคำแหง ให้ข้อคิดเห็นต่อคำถามเหล่านี้ พร้อมนำเสนอมุมมองในการมอง ‘พื้นที่เลือกตั้ง’ แบบใหม่เพื่อทำความเข้าใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ


พรรคขนาดกลาง ฟูหรือแฟ่บ อยู่ที่ ‘ระบบเลือกตั้ง’

“ถ้าพูดถึงพัฒนาการ ในอดีตนักการเมืองทุกคน ไม่มีใครอยากทำพรรคขนาดกลาง เขาอยากเป็นพรรคใหญ่ แต่เผอิญด้วยกฎกติกา ระบบเลือกตั้ง มันทำให้เป็นพรรคขนาดใหญ่ไม่ได้ ก็เลยต้องเป็นพรรคขนาดกลาง”

“ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นปีแรกที่ใช้ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่ไม่เคยใช้มาก่อน จาก Multi Member District ภาษาชาวบ้านเรียกว่า เหมาเข่งยกพวง ซึ่งเป็นเขตใหญ่และไม่มีปาร์ตี้ลิสต์ ระบบแบบนี้ธรรมชาติของมันจะไม่ค่อยมีพรรคใหญ่อยู่แล้ว แต่รัฐธรรมนูญ 2540 ใช้ระบบ parallel (คู่ขนาน) คือ แยกคะแนนเขต กับ คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ และคะแนนทั้งสองไม่มีวันบรรจบกัน ระบบแบบนี้เอื้อพรรคใหญ่ๆ เพราะมันคำนวณแล้วจะเฟ้อ พรรคใหญ่จะได้มากกว่าที่ควรได้ เหตุที่เป็นอย่างนั้นคิดว่าเป็นเป้าประสงค์ของคนออกแบบ เพราะถ้าดูการเมืองก่อนหน้าปี 2540 แค่จากพฤษภา 2535 ถึง 2540 ในเวลา 5 ปี เรามีนายกฯ 4 คน”

“รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้พรรคขนาดใหญ่อย่างไทยรักไทยได้เปรียบ หลายพรรคก็กลายเป็นพรรคขนาดกลางโดยอัตโนมัติ แล้วคุณทักษิณก็ควบหลายพรรคเข้ามาในพรรคตัวเองเลย ไม่นับว่าปี 2548 รัฐบาลทักษิณ2 อันนั้นเรียก ‘แลนด์สไลด์’ ของแท้ 377 ที่นั่ง ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 19 ล้านเสียง ตอนปี 2544 มีพรรคในสภา 6-7 พรรค พอปี 2548 มีอยู่ 4 พรรค กลายเป็นขั้วพรรคใหญ่ไปเลย พรรคขนาดกลางไม่มีแล้ว เพราะระบบเลือกตั้งคู่ขนานที่ออกแบบไว้นั่นเอง”


ไม่มีคำตอบสุดท้าย ระบบเลือกตั้งแบบ ‘ดีที่สุด’ ขึ้นกับโจทย์การเมือง
นพพล ผลอำนวย
  • อ.นพพล ผลอำนวย

“เราพูดไม่ได้ว่าระบบเลือกตั้งแบบไหนดีที่สุด มันขึ้นอยู่กับว่าสภาพสังคมการเมืองตอนนั้น เราต้องการให้รูปร่างหน้าตามันเป็นยังไง เพราะแต่ละระบบมันมีข้อดีข้อเสียต่างกัน”

 “คณะรัฐประหาร 2549 เขากลัวมาก กลัวผีพรรคใหญ่ ก็เลยออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ แต่เขาพลาดอย่างหนึ่ง ถ้าเขาอยากจะฆ่าพรรคใหญ่เขาไม่ควรไปต่อกับระบบคู่ขนาน เขายังใช้ระบบคู่ขนาน แต่ไปทำแบบ ‘คู่ขนานเปลี่ยนไส้’ โดย ส.ส.เขตย้อนกลับไปเป็นยกพวงแบบเก่า เพราะเชื่อว่ายิ่งเขตใหญ่ ยิ่งทำให้พรรคขนาดกลางมีโอกาสแทรกที่นั่ง เช่น เขตหนึ่งมี ส.ส.3 คนเขาเชื่อว่าพรรคใหญ่จะไม่ได้ยกเขต 3 คน ส่วนปาร์ตี้ลิสต์ก็เปลี่ยนจากเขตประเทศบัญชีเดียว แบ่งเป็น 8 บัญชีย่อยๆ บัญชีละ 10 คน แต่ใจความสำคัญคือ คะแนนก็ยังถูกแยกคิดอยู่ดี” 

 “ระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2550 นี้เองเป็นโอกาสให้พรรคขนาดกลางกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง เป็นโอกาสทอง ถ้าดูรัฐบาลคุณสมัคร สุนทรเวช เราจะเห็นพรรคเกิดใหม่ที่เป็นพรรคขนาดกลางที่เขาคิดว่าลงทุนแบบนี้คุ้ม เพราะมีต้นทุนในพื้นที่ตัวเอง เช่น พรรคพลังชลได้แน่ๆ 6-7 ที่นั่ง ต่อรองตำแหน่ง รมต.ได้ 1 ที่ แต่ถ้าไปอยู่พรรคใหญ่ไม่รู้จะได้โควตาไหม เราจะเห็นพรรคลุ่มแม่น้ำยม พรรคมัชฌิมาธิปไตยของคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน กลุ่มของคุณเสนาะ เทียนทอง”

 “มันจึงเกิดวิกฤตงูเห่าในสมัยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่เจ้ากรรม เขาก็ไปแก้รัฐธรรมนูญอีก คนที่เป็นตัวตั้งตัวตีให้แก้รัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้ระบบเลือกตั้งกลับไปเป็นคู่ขนานเหมือน 2540 นั่นคือ คุณบรรหาร ศิลปอาชา คุณบรรหารเอ็นจอยระบบคู่ขนานมากๆ บางคนอาจบอกว่าระบบนี้มันเอื้อพรรคใหญ่ แต่สำหรับบรรหาร ข้อดีของมันคือ หาเสียงง่ายเพราะเขตเล็กลง เขามีฐานของเขาอยู่แล้ว และพรรคคุณบรรหารได้ปาร์ตี้ลิสต์ตลอด จึงเอ็นจอยกับระบบนั้น”

 
พรรคขนาดกลาง ได้เป็นรัฐบาลตลอดกาล

“ระบบคู่ขนานแบบ 2540 และที่เรากำลังจะกลับไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า สำหรับพรรคเล็กไม่ดีแน่ โอกาสแทรกเข้ามาจะยาก แต่สำหรับพรรคขนาดกลางต้องดูบริบทของแต่ละพรรค บางพรรคคิดว่าสามารถฉวยจากระบบนี้ได้ เขาก็จะชอบมากที่เป็นพรรคขนาดกลาง ไม่ต้องการเป็นพรรคขนาดใหญ่ ไม่เหมือนในอดีตที่ทุกคนอยากจะใหญ่ ผมคิดเอาเองว่าบางพรรคเขาเอ็นจอยกับความเป็นพรรคขนาดกลาง เพราะร่วมรัฐบาลง่าย คล่องตัว ตาอินกับตานาไม่รู้ใครจะได้ แต่เราเป็น ‘ตาอยู่’ แบบนี้ก็มี”

“รัฐธรรมนูญ 2540 มันมีกลไกอันหนึ่งที่ทำให้จำนวนพรรคการเมืองน้อย คือ มีเกณฑ์คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ขั้นต่ำว่าต้องได้ 5% ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ถือว่าเยอะนะ พรรค 70,000-80,000 คะแนนไม่มีสิทธิ แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ตัดเกณฑ์ 5% ทิ้ง ทำให้ให้มีพรรคเล็กเพิ่มมากขึ้น”  

รัฐธรรมนูญ 2560 สร้างราคาให้ ‘พรรคขนาดกลาง’ เต็มๆ

“กลับมาที่รัฐธรรมนูญ 2560 มันเป็นระบบเลือกตั้งที่พิศดาร ทั้งโลกเขาไม่ใช้แล้ว คนคิดค้นครั้งแรกคือ เยอรมนี หลังการล่มสลายของฮิตเลอร์ เขากลัวผีฮิตเลอร์ เลยใช้ MMA บัตรใบเดียวแต่มีสองบัญชีเหมือนรัฐธรรมนูญ 2560 นี่แหละ แต่ใช้ได้ทีเดียวเลิกเลย เพราะคิดว่าไม่เวิร์ค แล้วก็เปลี่ยนมาเป็น MMP เหมือนร่างที่ อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เสนอ (แล้ว สนช.ตีตก) เหมือนที่พรรคก้าวไกลเสนอ ส่วนเกาหลีใต้ก็เคยใช้ทีนึงแล้วเลิกไปแล้ว อะไรที่เขาเลิกแล้วไทยเอา จะเห็นว่ากลยุทธ์ที่สำคัญคือ พรรคใหญ่ไปไม่รอด ต้องทำให้เป็นพรรคขนาดกลางภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 พรรคการเมืองต้องมียุทธการแตกแบงก์พัน พรรคขนาดกลางกลับมามีราคามากๆ”

“ตอนนี้ระบบเลือกตั้งกลับไปเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 อีกครั้ง ดูเผินๆ พรรคขนาดใหญ่เหมือนจะได้เปรียบ ถามว่าตอนนี้พรรคขนาดใหญ่มีกี่พรรค สำหรับผมมี 2 พรรคเท่านั้นคือ พรรคเพื่อไทย กับ พรรคส.ว. ความได้เปรียบของพรรคขนาดกลางตอนนี้คือ การมีพรรค ส.ว.นี่แหละ ทำให้พรรคขนาดกลางที่รวมกัน แม้จะปริ่มน้ำก็ยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้”


ระวัง! ‘พรรคขนาดกลาง’ รวมกันตั้งรัฐบาลปริ่มน้ำ

“ถ้ารอบหน้า ถ้าพรรคขนาดกลางรวมกันได้ 240 เศษผมคิดว่าไม่ใช่ปัญหา เพราะกลไกรัฐธรรมนูญวางกับดักไว้ 2 เรื่อง เรื่องแรกเขามีพรรค ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ แล้วถ้าเสียงไม่มากพอ ไม่มีสเถียรภาพก็ยังมี งูเห่า งูเขียว งูจงอาง เต็มไปหมด แล้วบางทีเขาก็ไม่ได้ซื้อขาด แต่ซื้อตามโหวตเป็นครั้งๆ ไป ดังนั้น ถ้าพรรคขนาดกลางรวมกันได้แม้จะไม่ถึงครึ่งหรือปริ่มๆ เขามองว่าเขามีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้เลย”

“อีกเรื่องหนึ่งคือ ในรัฐธรรมนูญ 2540 ถ้าคุณไม่ฟังมติพรรค เขาขับออกได้เลยนะ คุณดื้อกับพรรคไม่ได้ ในอดีตคุณเสนาะ เทียนทอง ถึงกับโจมตีคุณทักษิณเรื่องกฎ 90 วัน เพราะด้านหนึ่งทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ไม่มีใครแตกแถว แต่อีกด้าน ส.ส.ก็ขาดอิสรภาพ เขาก็หาว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา แล้วมาดูรัฐธรรมนูญ 2560 พรรคทำอะไรกับ ‘งูเห่า’ ได้บ้าง ทุกคนดูก็เอ็นจอยดี ไม่มีใครทำอะไรได้” 

“ด้วยสองกลไกนี้ ทำให้พรรคขนาดกลางมีราคามากๆ เพราะเขาคิดว่าเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ได้ 40 ที่นั่งเผลอๆ ได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกรดเอ นี่เป็นเหตุผลที่เพื่อไทยต้องประกาศ ‘แลนด์สไลด์’ เท่านั้น และเพื่อไทยต้องได้แลนด์สไลด์เท่านั้น สำหรับผมเพื่อไทยต้องได้ 250 บวกลบ ไม่อย่างนั้นเสี่ยงมากๆ เพราะเขามีพรรค ส.ว.หนุน แล้วถ้าพรรคขนาดกลางเขารวมตัวกันได้ ฟอร์มรัฐบาลได้ เขาเอาแน่”


ทำไมพรรคไม่มีอุดมการณ์ถึงอยู่ได้ - พื้นที่เลือกตั้ง 2 ลักษณะ

“สมัยไทยรักไทย งานวิชาการจำนวนมากบอกว่า สังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนตื่นรู้มากแล้ว เลือกตามนโยบาย แล้วเราฝันมากว่าจะเป็นพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคแข่งกัน เหมือน Democrat-Republican เหมือน Labor-Conservative ประชาชนจะอิงกับนโยบายมาก ส่วนตัวผมคิดว่า Mind Set งานพวกนี้ถูกครึ่งเดียว มองไม่ละเอียดพอ แต่ผมอาจจะผิดก็ได้”

“ถูกครึ่งเดียว คือ พื้นที่ในทางการเมือง เราไม่ควรเหมาภาค เหมาจังหวัด หรือเหมาใดๆ ทั้งสิ้น คุณจะอธิบายตระกูล ‘สมชัย’ ในภาคอีสานจากประชาธิปัตย์ได้ยังไง จะอธิบายการที่ประชาธิปัตย์แทรกเข้ามาในบางจังหวัดของภาคเหนือได้ยังไง อุบลฯ ก็มีส.ส.ประชาธิปัตย์ได้ไม่เคยตก”

“เราควรมองการเมืองเฉพาะพื้นที่ มันจะมี 2 ลักษณะ คือ 1. พื้นที่ที่เป็น elastic พื้นที่พวกนี้จะมีความยืดหยุ่น ไวต่อการเปลี่ยนแปลง ไวต่อกระแส 2.พื้นที่ที่เป็น static ไม่ค่อยเปลี่ยน นั่นก็คือที่เรียกกันว่า ‘บ้านใหญ่’ หรือ ส.ส.ดาวฤกษ์ มีแสงในตัวเอง อยู่พรรคไหนก็ยังได้”

“กรุงเทพฯ จะยืดหยุ่น เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ ขึ้นกับกระแส ลองดูก้าวไกลที่ได้ส.ส.เขต ส่วนมากเป็นเขต 1 และเป็นจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยอยู่ พื้นที่พวกนี้มันมีความเป็นเมือง มีความยืดหยุ่นสูง เขาเปลี่ยนได้ ไม่ได้ผูกติดกับคน”

“ขณะที่บางพื้นที่ยึดโยงกับระบบอุปถัมภ์ ความเป็นบ้านใหญ่ ความเป็นตระกูลการเมือง เขาลงพรรคไหนก็ชนะ แต่พูดแบบนี้ไม่ได้บอกว่า ‘ชาวบ้านโง่’ เขาฉลาด เขาฉลาดพอที่จะรู้ว่าคนพวกนี้สามารถช่วยให้ชีวิตเขาอยู่ดีกินดีได้ คือ เขามีเรื่อง เขาจะไปหาราชการ ยากจะตาย นักการเมืองมันเป็นเหมือน facilitator (ผู้อำนวยความสะดวก) มันช่วยให้เขาดีขึ้นได้ อยากเอาลูกเข้าโรงเรียนก็ฝากได้ บางคนโดนตำรวจรังแก โดนข้าราชการรังแกก็วิ่งให้ช่วยได้ พวกนักการเมืองพวกนี้ลงพื้นที่ตลอดเวลา”

“ดูง่ายๆ ก็ได้ เราจะอธิบายการเกิดขึ้นของ ‘พลังประชารัฐ’ ได้ยังไง เป็นพรรคใหม่เอี่ยม เปรียบเทียบกับ ‘อนาคตใหม่’ พรรคใหม่ทั้งคู่ อนาคตใหม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เยอะเพราะกลไกการเลือกตั้งออกแบบไว้ แต่ได้ ส.ส.เขตน้อยมากๆ ในทางกลับกัน ความเยอะของพลังประชารัฐคือ ส.ส.เขต มันคือการบีบบ้านใหญ่ เอาคดีไปบีบเขาบ้าง เอานู่นเอานี่ไปบีบเขาบ้าง แล้วเขาก็ย้ายมาอยู่ พปชร.กัน”


กระจายอำนาจ เปลี่ยนการเมือง ‘บ้านใหญ่’

“ในทางทฤษฎี ‘ความเป็นเมือง’ ‘ความเป็นชนชั้นกลาง’ จะทำให้หลุดพ้นเรื่องบ้านใหญ่ มันก็จริงบางส่วน แต่ปัญหาคือ ระบบราชการเรารวมศูนย์มากๆ จนทำให้นักการเมืองเข้าไปมีบทบาททำแบบนี้ได้ คุณกระจายอำนาจไปสิ ทำให้อำนาจเล็กลงไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เอาทุกอย่างมาอยู่ส่วนกลาง ทำให้ไกลกว่าจะเข้าถึงและต้องให้คนมาขึ้นต่อนักการเมืองพื้นที่ ทำให้เขาสร้างระบบอุปถัมภ์และทำเครือข่ายตรงนี้ได้ นักการเมืองมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับท้องถิ่นนะ เขาพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ดังนั้น การทำให้เกิดความเมืองมากขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนคือการกระจายอำนาจ”

 
มองภูมิใจไทย จากตัวแปรตั้งรัฐบาล สู่ ‘ผู้จัดตั้งรัฐบาล’

“ภูมิใจไทยวันนี้มีความทะเยอทะยานที่จะเปลี่ยนตัวเองแล้ว จากพรรคขนาดกลาง เขาไม่ได้หวังแค่นั้นแล้ว จะขึ้นเป็นพรรคใหญ่ เป็นได้หรือไม่ได้ กลับไปที่ข้อเสนอที่ว่าพื้นที่มี 2 ลักษณะ ลักษณะแรกที่เป็น static เราต้องรอสะเด็ดน้ำว่าเขาดูดบ้านใหญ่ได้มากแค่ไหน เพราะที่ประกาศกันมีทั้งเกรดเอ และเกรดบีซึ่งได้มาเพราะกระแส ไม่ใช่บ้านใหญ่โดยแท้ ส่วนพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่น ภูมิใจไทยมีอะไรขายไหม นโยบายขายได้ไหม ผมว่าเขาขายไม่ได้ในกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯ อาจจะไม่ชอบด้วยซ้ำ โดยเฉพาะกัญชาเสรี แล้วยังมีภาพรังเกียจเดียดฉันท์นักการเมืองบ้านนอกอยู่นิดๆ”

“อย่างก้าวไกลเขาชัดเจน เพื่อไทยก็ชัดเจน เขามีกลุ่มลูกค้าของเขา คนไม่เอาก็คือไม่เอา ส่วนประชาธิปัตย์ เขาเปิดมานาน ถึงแม้ตอนนี้จะกลายเป็นพรรคขนาดกลาง อนาคตจะเล็กลงอีกหรือเปล่าไม่แน่ แต่อย่างน้อยต้องยอมรับว่าเขามีแฟนคลับ”

“เผอิญเลือกตั้ง 62 มีพลังประชารัฐมาแบ่งตลาดของประชาธิปัตย์ เลือกตั้งครั้งนี้ประชาธิปัตย์ยังถูกแบ่งเยอะขึ้นกว่าเดิมอีกในภาคใต้ ภูมิใจไทยก็ประกาศจริงจัง พรรคคุณพีระพันธ์จากรวมไทยสร้างชาติก็ดูด ส.ส.จากพลังประชารัฐไปได้ เรียกว่า 3 พรรคมะรุมมะตุ้มในภาคใต้ จึงน่าจะเป็นพื้นที่ที่ดุเดือดมาก”


พรรคขนาดกลางดีหรือไม่ ขึ้นกับโจทย์ของการเมืองประเทศนั้น

“ถามว่าพรรคขนาดกลางดีกับระบอบการเมืองไหม เราฟันธงไม่ได้ว่า ประเทศควรใช้ระบอบสองพรรคหรือควรใช้ระบอบหลายพรรค อันที่สอง การมีพรรคการเมืองขนาดกลาง ขนาดเล็ก ในทางทฤษฎี พรรคการเมืองมันเป็นสิ่งที่รวบรวมผลประโยชน์ความเห็นเพื่อผลักดันนโยบายเฉพาะของกลุ่มคน ถ้าพรรคการเมืองทำได้อย่างในทฤษฎีจริงๆ มันก็เป็นคุณกับการเมือง แต่ในทางปฏิบัติเป็นยังไง ผมไม่ตัดสินแล้วกัน”

“ลูกศิษย์ชอบถามว่าระบบเลือกตั้งแบบไหนดีที่สุด มันเป็นคำถามคลาสสิค ผมบอกว่าต้องดูโจทย์การเมืองว่าต้องการตอบโจทย์อะไร ไม่มีอะไรดีที่สุด นักวิชาการบางท่านบอก MMP ทำให้คะแนนได้สัดส่วนที่สุด แต่ถ้าโจทย์การเมืองคุณไม่ได้ต้องการจำนวนพรรคกลางๆ มากขนาดนั้น มันก็อาจไม่เป็นประโยชน์ต่อระบบการเมืองคุณก็ได้” 

“ในอดีตรัฐธรรมนูญ 2540 เราออกแบบระบบ MMM (คู่ขนาน) มาเพราะรัฐบาลมันไม่มีเสถียรภาพเลย มันปริ่มน้ำตลอด แค่อภิปรายเรื่องลูกเจ๊กลูกจีนก็ต้องยุบสภาแล้ว นายกฯ จัดวันเด็กได้คนละทีก็ยุบสภาแล้ว เขาเลยต้องการนายกฯ ที่มันเข้มแข็ง”

“ถ้ามันมีพรรคขนาดกลางมากๆ ข้อดีอันหนึ่งคือ เราก็ถัวกันได้ ในแง่ที่ไม่มีพรรคไหนที่นึกอยากจะผลักดันอะไรบ้าๆ บอๆ ก็ผลักได้เลย แต่อีกด้านหนึ่ง ถ้าการเมืองไม่มีเสถียรภาพ จำสมัยคุณอภิสิทธิ์ได้ไหม เขาต้องพึ่งพรรคขนาดกลางมากๆ ในการค้ำรัฐบาล ถึงขนาดต้องให้ตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย รัฐมนตรีคมนาคมกับพรรคอื่นไป พรรคภูมิใจไทยเสนอรถเมล์เช่า 4,000 คัน รัฐบาลจะแตกตายเพราะเรื่องรถเมล์ หรือดูตัวอย่างพลังประชารัฐตอนนี้ก็ได้” 

“เราคงต้องมาเคาะฉันทามติกันว่าเราจะเอายังไง ในฐานะนักวิชาการคงไม่สามารถฟันธงได้ว่าอะไรดี ไม่ดี เพราะมันไม่ใช่ประเทศของผมคนเดียว ประชาชนต้องตกผลึกเองว่าอยากให้สังคมไปยังไง”

“บางคนรู้สึกการเมืองไทยมันวนเวียน เดินทางไปข้างหน้าช้ามาก ผมก็ต้องบอกว่าสังคมไหนก็ใช้เวลายาวนานทั้งนั้น อังกฤษ ฝรั่งเศส ใช้เวลาและทำสงครามกันเท่าไร ‘จบในรุ่นเรา’ ถ้ามันจบจริงก็คงดี แต่ผมไม่ค่อยเชื่ออะไรแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ฝรั่งเศสเปลี่ยน 5 สาธารณรัฐ ระบอบการเมืองคนละเรื่องเลย เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนเป็น semi-president เจอกันครึ่งทางเขาก็ตกผลึกในการเมืองของเขา เยอมันกลัวฮิตเลอร์ก็เลือกระบบ MMA มา พอเห็นไม่เวิร์คก็เปลี่ยน จากนั้นมาก็ไม่เคยเปลี่ยนระบบเลือกตั้งเลยใช้ MMP ตลอด แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือ เปลี่ยนสูตรการคำนวณ เพราะแต่ละสูตรให้ผลลัพธ์ทางการเมืองแตกต่างกัน บางสูตรทำให้พรรคขนาดใหญ่เกิดขึ้น บางสูตรทำให้ได้พรรคขนาดกลางมากขึ้น บริบทการเมืองบางครั้งเขาอาจอยากได้พรรคขนาดใหญ่ บางครั้งพรรคใหญ่เป็นเผด็จการมากไป ต้องการมาถัวก็จะเปลี่ยนสูตรคำนวณ”

“วิธีออกแบบสถาบันทางการเมือง ผมคิดว่ามันมีรายละเอียดเยอะ เราทำได้ ไม่จำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง แต่ข้อเสียอันหนึ่งของสังคมไทย เวลาเราออกแบบเราชอบ copy paste โดยไม่ดูบริบท เห็นไอ้นั่นดีก็ก็อปมาใส่ ไอ้นู่นดีก็ก็อปมาใส่” 

ประเมินพรรคเมืองต่างๆ ในรอบหน้า

นพพล ผลอำนวย

“ถ้าถามถึงพรรคก้าวไกล ผมคิดว่าไม่เกิน 40 ที่นั่ง อย่าลืมว่าปาร์ตี้ลิสต์ครั้งนี้มีทั้งหมดแค่ 100 ที่นั่ง ครั้งที่แล้วมี 150 ที่นั่ง และก้าวไกลน่าจะได้ ส.ส.เขตไม่มากนัก ส่วนใหญ่น่าจะเป็นหัวเมืองและใน กทม. เขาทำงานสภาดีมาก ผมไม่เคยคาดหวังจะเห็นพรรคการเมืองที่ก้าวหน้าได้ขนาดนี้ แต่เมื่อพูดถึงการเมืองโดยรวม เมื่อระบบเป็นแบบนี้ ทำให้เขาอาจได้ที่นั่งไม่เยอะเหมือนเดิม เพราะคงได้ส.ส.เขตน้อย”

“ถามถึง พปชร. - รทสช. คิดว่าอาจจะแตก แต่ไม่ถึงแตกหัก เพียงแค่ไม่เหมือนเดิม คุณประยุทธ์เป็นแม่เหล็กชั้นดี เขามีแฟนคลับที่ให้ตายยังไงก็ยังเอาประยุทธ์ และภาคใต้ จากที่มีโอกาสลงไปสอนเยอะ ประชาธิปัตย์นี่โดนคนวัยกลางด่าเยอะ แต่เขาชอบประยุทธ์กัน ยังขายได้อยู่ ถ้าเขารวมกันให้ได้สัก 100 ที่นั่ง กลายเป็นพรรคขนาดใหญ่ แล้วก็ใช้วิธีดูด สมมติ รทสช.ได้ 30 ที่นั่ง พรรคอนุทินได้ 100 ที่นั่ง ถามว่าอนุทินจะยอมยกตำแหน่งนายกฯ ให้เหรอ”

“ส่วน เพื่อไทย เซฟโซนของเพื่อไทย ที่เขาประกาศแลนด์สไลด์แล้วบวกกับพรรคขนาดเล็ก คิดว่าเขาอยากจะได้สัก 300 นั่นเป็นเซฟโซน ถ้าตั้งรัฐบาลคราวนี้โดยรวมได้แค่ 260 ที่นั่งจะลำบาก คงจะเกิดการพลิกขั้วตั้งแต่แรก ถ้าได้ 270 เขาก็จะบริหารไม่ได้ โดนดูดจนทำอะไรไม่ได้ ทำงบประมาณคว่ำทีเดียวก็จบแล้ว เขาเลยต้องได้แลนด์สไลด์เพื่อปิดประตู 2 เรื่อง คือ 1.พรรคกลางๆ ทั้งหลายที่จะไปรวมกันจะได้ไม่ต้องรวม 2.เมื่อเป็นรัฐบาลได้จะมีเสถียรภาพ บริหารได้ ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากกลไกของรัฐธรรมนูญ”

“ถามว่าจะเป็นไปได้ไหม? เพื่อไทย ตกต่ำสุดคือยุคคุณสมัคร ได้ 230 กว่าที่นั่ง (ไม่นับปี 2562 เพราะพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ) ปาร์ตี้ลิสต์ก็ยังได้เยอะ 14 ล้านเสียง ดังนั้น ถ้าคำนวณบัตร 2 ใบ เพื่อไทยอย่างต่ำน่าจะได้ 220 ที่นั่ง แต่จะเกิดแลนด์สไลด์หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าน่าจะยากอยู่”

“ที่คิดว่าแลนด์สไลด์น่าจะยากสำหรับตอนนี้ เพราะ 1. มีก้าวไกลมาแบ่งตลาด อาจจะไม่ได้แบ่งกันมากเหมือน พปชร.-รทสช. แต่ก็ต้องยอมรับว่าต้องเสียบางส่วน 2.ในพื้นที่หลายจังหวัด เขายังเสียดาวฤกษ์ทั้งหลายให้พรรคอื่น เช่น ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ทำให้เหลือไม่เท่าเก่า แต่ผมอาจจะผิดก็ได้”

“การเลือกตั้งที่จะถึงมันยังวางบนเงื่อนไขว่า ทหารได้เปรียบอยู่ดี เป็นเกมของเขา ได้เปรียบทั้งจากรัฐธรรมนูญ และการสะสมทรัพยากรมาอย่างยาวนานใน 8 ปีกว่าที่เขาอยู่ ถ้ามันฟรีและแฟร์จริง ส.ว.ก็อย่ามาเลือกนายกฯ ถ้าไม่มีตรงนี้จะไม่มีปรากฏการณ์ที่พรรคขนาดกลางมารวมกันปริ่มๆ น้ำก็ได้เป็นรัฐบาล”

“อย่าลืมว่าเผด็จการทั่วโลกหลังๆ เขาก็ไม่ได้เป็นเผด็จการแบบอดีต ก็อยู่ภายใต้เสื้อคลุมการเลือกตั้งทั้งนั้น แต่ผมไม่ค่อยเชื่อว่าประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯ อีก เพราะไม่เคยเห็นนายกฯ คนไหนอยู่เกิน 8 ปี ธรรมชาติมนุษย์มันเบื่อ ใครอยู่นานๆ ก็เบื่อ คุณทักษิณอยู่นานๆ คนก็เบื่อ”


New Voter มีผลแน่ แต่ยังไม่มีพลังพอจะเปลี่ยนโฉมการเมืองไทย

“New Voter มีผลมาก ดู ส.ก.ก็รู้ ลองจับตาดูพวกหัวเมืองและลองดูคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า พวกบ้านใหญ่ที่เชิดหน้าชูตาในสภา นับคะแนนตอนเลือกตั้งล่วงหน้าแพ้กระจุย เขาเปิดหีบแยก เพราะเด็กรุ่นใหม่อยู่ กทม.กัน”

“พลังพวกเขามีผลแน่ๆ แต่ทั้งหมดนั้นยังไม่มีพลังมากพอจะเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาของการเมืองโดยรวม ไม่สามารถดันพรรคก้าวไกลมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ผมก็ยังมีความโลกสวย เพราะคนเกิดทุกวัน ตายทุกวัน ถ้าการเมืองไทยยังไปต่อในทางประชาธิปไตยไปได้เรื่อยๆ เราก็มีหวังอยู่นะ”