สุวัจน์ นักการเมืองวัย 68 ผู้โลดแล่นบนถนนการเมืองมากว่า 35 ปี ขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรี ถึง 12 ครั้ง (รองนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง 7 ครั้ง และรัฐมนตรีช่วยฯ 3 ครั้ง) แต่ทว่ากว่าขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมือง ชีวิต ฅ.การเมืองลายครามคนนี้ มีต้นกำเนิดมาจากลูกแม่ค้า ลุ่มน้ำแม่กลอง
เมื่อ 68 ปีก่อน เด็กชายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ถือกำเนิดที่โรงพยาบาลราชบุรี เป็นลูกชายคนที่ 3 ในบรรดาพี่น้อง 5 คน พื้นฐานครอบครัวไม่มีดีเอ็นเอทางการเมือง พ่อแม่ประกอบอาชีพค้าขาย เขาจำความได้ว่า ตอนเด็กๆ ครอบครัวอาศัยกินนอนอยู่บนเรือในลุ่มน้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี ทุกวันแม่จะต้องพายเรือลัดเลาะขายข้าวสารและถ่านหุงต้ม เพื่อช่วยเป็นอีกแรงหาเงินมาเลี้ยงดูปากท้องและลูกๆ
แต่หากวันใดได้ยินเสีย “ตู้ม” จะต้องรีบวางไม้พายทันที และกระโดดลงไปคว้าลูกที่ตกลงน้ำขึ้นมา สุวัจน์ ก็เป็นลูกหนึ่งคนที่เคยได้รับประสบการณ์นั้นและจำมาจนวันนี้
อีกความทรงจำ อาหารเมนูหลักครอบครัวสมัยนั้นคือ แกงจืดฟักหัวไชโป๊ เมนูที่แสนจะธรรมดา แต่แฝงมาด้วยความพิเศษที่ทำให้ทุกคนได้นั่งล้อมวงกินข้าวด้วยกัน
แต่ทว่าชีวิตครอบครัวลิปตพัลลภ เริ่มสดใสขึ้นเมื่อตอน เด็กชายสุวัจน์ 3 ขวบ พ่อแม่ย้ายเข้าเมืองหลวงมาเปิดร้านกับข้าว ขายกาแฟ อยู่บริเวณแถวแยกท่าพระ ใกล้โรงเรียนสายประสิทธิ์วิทยา สมัยนั้นเขาเป็นมือเสริฟประจำร้าน ลูกค้าคนดังที่มักมาฝากท้องเป็นประจำคือ ไถง สุวรรณทัต นักการเมืองยุคบุกเบิกพรรคประชาธิปัตย์ อดีตหัวหน้าพรรคราษฎร
ต่อจากนั้นครอบครัวยิ่งมีทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อคุณพ่อต่อยอดธุรกิจครอบครัว ด้วยการไปออกรถบรรทุกมาวิ่งขายหิน ขายทราย ให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างของญี่ปุ่น จนวันหนึ่งได้รับการชักชวนให้ไปประมูลเป็นผู้รับเหมาช่วงสร้างถนน เส้นทางจังหวัดลพบุรีไปจังหวัดสิงห์บุรี ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร มูลกว่าล้านบาท(สมัยนั้นถือว่าเยอะมาก)
ต่อจากนั้นได้รับความเชื่อใจทำเพิ่มอีกโครงการเส้นพุแค สระบุรี แต่สุดท้ายไม่เป็นอย่างที่คิด เจ๊ง! ทำให้ครอบครัวหมดตัวเป็นหนี้ธนาคาร
แต่ด้วยความใจสู้หัวเรือใหญ่ของครอบครัวลิปตพัลลภ ไม่ยอมแพ้ หาหนทางทำรับเหมาก่อสร้างต่อ จนสุดท้ายธุรกิจไปได้สวย จึงยึดมาเป็นอาชีพหลักของตระกูล
ถนนการเมือง สุวัจน์ เริ่มขึ้นช่วงอายุ 33 ปีโดยไม่ตั้งตัว เพราะขณะนั้นชีวิตกำลังไปได้สวยเตรียมตัวเป็นเสี่ยตระกูลรับเหมาก่อสร้าง หลังมุ่งเรียนจบปริญญาตรีและโทวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อมาช่วยธุรกิจครอบครัว
แต่มีอยู่วันหนึ่งพ่อ เรียกประชุมลูกชายทั้ง 5 พร้อมประกาศว่า “เตี่ย จะเล่นการเมือง” สาเหตุเพราะไปรับปาก พล.อ.อาทิตย์ กําลังเอก อดีตผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าพรรคปวงชนชาวไทย ที่กำลังตั้งพรรคฯ (ชื่อเดิมของ พรรคชาติพัฒนา) เพื่อลงสมัคร ส.ส.ในจังหวัดนครราชสีมา
ขณะนั้นลูกทั้ง 5 คัดค้าน แต่พ่อกลัวผิดคำพูด จึงต้องหาลูกชาย 1 คน ไปเล่นการเมืองแทน สุดท้ายจากการพูดคุยในวงครอบครัวมีมติให้ สุวัจน์ ลงสมัคร ส.ส. เนื่องภรรยา (พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ) เป็นคนพื้นที่และครอบครัวก็เป็นที่รู้จักดี จึงทำให้ต้องลงสมัคร ส.ส. และผลสุดท้ายชนะการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรก ในเดือน ก.ค. 2531 ด้วยคะแนนถล่มทลาย สูงเป็นอันดับ 1 ในภาคอีสาน และอันดับ 2 ของประเทศ หลังจากนั้นเข้าสู่ถนนการเมืองเต็มตัว และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาเรื่อยๆ ถึง 12 เก้าอี้
-รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย
-รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย 2
-รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร
-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย
-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
-รัฐมนตรีว่าการทรวงอุตสาหกรรม สมัยรัฐบาล ชวน
-รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ควบตำแหน่งรองนายกฯ สมัยรัฐบาลพ.ต.ท. ทักษิณ
-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ควบตำแหน่งรองนายกฯ สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ
หลังจากนั้นปี 2549 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย และอยู่เบื้องหน้าทางการเมืองคอยเฝ้าจับตาดูสถานการณ์มาตลอด จนปัจจุบัน หวงคืนสู่ถนนการเมืองอีกครั้ง ด้วยการรับตำแหน่งประธานพรรคชาติพัฒนากล้า
สุวัจน์ ฉายมุมมองการเมืองหลังเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ว่า การเมืองวันนี้ ไม่ได้พลิกถึงขนาดประชาชนตามไม่ทัน แต่ยอมรับว่าเปลี่ยนจากเดิมมาก หากประเมินดูจากผลเลือกตั้งถือว่าเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ในแง่ผู้มาใช้สิทธิที่มีพลังคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่เริ่มเห็นสัญญาณมากขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้พรรคการเมือง มีการเปลี่ยนแปลง ในประเด็นการนำเสนอนโยบาย รูปแบบการหาเสียง จากเดิมเน้นปราศรัยเดินเคาะประตูบ้าน แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว การสื่อสารจากนักการเมืองไปสู่ประชาชน สามารถใช้โซเชียลมีเดียซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า ดังนั้น สรุปได้ 3 ปัจจัยหลักของการเมืองยุคปัจจุบัน คือ คนรุ่นใหม่ เทคโนโลยี และการเมืองเชิงนโยบาย
“วันนี้ประชาชนตื่นตัวทางการเมือง ทุกคนเข้าใจโลก เข้าใจเศรษฐกิจ ประกอบกับวันนี้บ้านเมืองเรากำลังติดอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ฉะนั้นโจทย์การเมืองวันนี้ จึงต่างจากการเลือกปี 2562 ที่ตั้งอยู่บนความขัดแย้ง และต้องการคนมาหยุดความขัดแย้ง แต่การเลือกตั้งปี 2566 อยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจปากท้อง จึงอยู่บนพื้นฐานนโยบายเศรษฐกิจ เห็นได้จากทุกพรรคนำเสนอนโยบายอาสาเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ อาทิ ประชานิยม ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น”
แต่ทว่า นักการเมืองรุ่นใหม่อย่าชะล่าใจ เมื่อประชาชนเลือกมาโดยที่คุณสัญญาอะไรไว้ ต้องทำให้ได้ เพราะถ้าเกิดทำไม่ได้ตามสัญญา 4 ปีข้างหน้าจะลำบาก ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทุกพรรคการเมืองจะได้พยายามคิดหานโยบายมาช่วยกันสร้างความเจริญให้ประเทศประชาชน
สำหรับสาเหตุที่ทำให้การเมืองวันนี้เปลี่ยนไปแบบพลิกขั้ว สุวัจน์ มองว่า ประชาชนต้องการนักการเมืองรุ่นใหม่ หรือการนำเสนอนโยบายใหม่ๆ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาประชาชน แต่ขณะเดียวกันพรรคการเมืองรุ่นใหม่ นอกจากต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ก็ต้องเรียนรู้การทำงานกับนักการเมืองรุ่นเก่าด้วย เปรียบเหมือนสูตรผสมค็อกเทลให้มีความลงตัว ทั้งส่วนผสมคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะประสบการณ์มันไม่ใช่เรื่องที่ใช้ Money Can Buy แต่ประสบกาณ์มันต้อง Money Can't Buy เวลาก็ซื้อไม่ได้ ฉะนั้นต้องสะสมเวลา
ขณะที่การทำการเมืองสมัยก่อน เป็นการเมืองที่มีมิตรภาพสูง เล่นไม่ถึงกับเอากันตาย ถ้อยทีถ้อยอาศัยพูดคุยได้ทุกเรื่อง ไม่มีบรรยากาศเป็นฝั่งตรงข้ามแบบชัดเจนเหมือนปัจจุบัน แม้เป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล เพราะทุกคนจะทำหน้าที่ของกันและกันอย่างเต็มที่ในห้องประชุมสภาฯ แต่พอจบเดินออกพ้นห้องประชุม ก็นั่งพูดคุยกินกาแฟกันซึ่งเป็นบรรยากาศที่น่ารัก แต่การเมืองสมัยนี้ห่างเหินเน้นการตอบโต้ซึ่งกันและกัน
“มันอาจเพราะการเมืองเมื่อก่อนไม่แบ่งเป็นขั้ว ไม่มีขั้วใครที่ชัดเจน แต่ของเราระยะหลังๆ มีขั้ว มีสี เหมือนมีเส้นแบ่ง เมื่อก่อนการเมืองไม่มีเส้นแบ่ง ฉะนั้นพอมีเส้นแบ่งก็ทำให้บรรยากาศความร่วมมือมันลง แต่ทว่าข้อดีของคนรุ่นใหม่คือมีความคิดมุมมองใหม่ๆ ฉะนั้นถ้าปรับปรุงเข้ากัน มันจะเป็นส่วนผสมที่ดีกับการเมืองไทย” มุมมองจากนักการเมืองที่มีประสบการณ์มา 35 ปี
การเลือกตั้งปี 2566 พรรคชาติพัฒนากล้า ได้ ส.ส. เพียง 2 เก้าอี้ (นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ประธานที่ปรึกษาพรรคฯ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ ประสาท ตันประเสริฐ ส.ส.นครสวรรค์)
สุวัจน์ ยอมรับว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยสาเหตุหลายปัจจัยทำให้พลาดเป้า เพราะจากเดิมประเมินไว้ ส.ส.อย่างน้อย 10 เก้าอี้ หรือถ้าได้ 25 เสียงพรรคก็มีโอกาสเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ แต่เมื่อได้เท่านี้ถือว่าห่างจากเป้าหมายเยอะ แต่ก็ไม่เป็นไรพรรคฯ ก็ยอมรับผลการเลือกตั้ง 4 ปีหน้าว่ากันใหม่ แต่หลังจากนี้จะพยายามรวบรวมข้อมูลเพื่อเตรียมตัวสู้ศึกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ส่วนอนาคตของพรรคชาติพัฒนา หวังว่าจะกลับมาเหมือนเดิม เพราะอยากเห็นพรรคกลับมามีบทบาททางการเมืองอย่างมีนัยยะอีกครั้ง เนื่องจากคิดว่าด้วยประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ เป็นพรรคการเมืองที่ไม่ขัดแย้งกับใคร เข้าได้ทุกฝ่าย เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ จะสามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ว่าจะได้รับโอกาสนั้นหรือไม่
นักการเมืองผู้มากประสบการณ์กว่า 35 ปี เผยหลักการทำงานการเมือง ว่า ใช้ตรรกะวิศวกรที่ถนัดมาใช้ในการทำการเมือง คือ มีเหตุ มีผล มีจุดเริ่มต้น มีจุดจบ และก็ต้องมี Safety Factor หรือ ปัจจัยด้านความปลอดภัย เพื่อบุคคลที่ 3 ฉะนั้นหากจะตัดสินใจอะไรต้องอยู่บนพื้นที่ฐานที่ว่าได้อะไร หากจำเป็นต้องเสียหายจะที่สุดแค่ไหน เอาอยู่หรือไม่ “ผมจะไม่คิดถึงความสำเร็จ แต่ผมจะคิดถึงความสูญเสีย” เพราะในมุมมองการเมืองบุคคลที่ 3 คือ ประชาชนและประเทศชาติ ฉะนั้นในความเป็นรัฐมนตรี หรือการทำงานการเมือง ต้องตัดสินใจอยู่บนพื้นที่ Safety Factor
นอกจากนี้ในชีวิตการเมือง ก็ไม่เคยผิดคำพูดกับใครและไม่คิดผิดสัญญา “คนพูดถึง สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อาจจะบอกว่าคุยยาก แต่ถ้าตกลง คำไหนคำนั้น ชัวร์ 100% เพราะผมเป็นคนรักษาคำพูด ทันทีได้คำตอบจากผม สบายใจได้ ไม่ต้องมีแบงก์การันตี”
สุวัจน์ ยอมรับว่า แต่ในชีวิตการเล่นการเมืองก็เจ็บมาเยอะ จากคนที่ไม่รักษาคำพูด ซึ่งมักจะเจอคนแบบนั้น ซึ่งนี่ถือเป็นคือความเจ็บปวด เพราะส่วนตัวไม่ชอบแบบนั้น แต่ก็ไม่โกรธ แต่ไม่คบต่อไป