ไม่พบผลการค้นหา
ซูเปอร์โพลชี้ประชาชนในโซเชียลส่วนใหญ่รู้สึกเบื่อการเมือง ไม่อยากรับรู้ข่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ขณะที่ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีคนสนใจมากกว่าถึง 3 เท่า

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง อภิปรายไม่ไว้วางใจ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่าน “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ด้วยระบบ Net Super Poll จำนวน 29,918 ตัวอย่าง และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” (Traditional Voice) จำนวน 1,299 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 19 - 22 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.2 รู้สึกน่าเบื่อ เซ็งการเมือง มีแต่วุ่นวาย ขัดแย้ง แย่งชิง ไม่อยากรับรู้ ข่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในขณะที่ร้อยละ 35.8 รู้สึกน่าสนใจ น่าติดตาม

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.4 อยากฟังเรื่องแก้ความเดือดร้อนของประชาชนมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 28.6 อยากฟัง เรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจมากกว่า

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.3 เชื่อมั่นว่า 3 ป. รับมือผ่านไปได้ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จะรับมือศึกซักฟอกรัฐบาลผ่านไปได้ ในขณะที่ร้อยละ 37.7 ไม่เชื่อมั่น อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.9 ระบุ ศึกภายในรัฐบาลเอง เป็นภัยมากกว่า ศึกภายนอกจากการซักฟอกรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 33.1 ระบุศึกภายนอก เป็นภัยมากกว่า

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าวด้วยว่า ผลการสำรวจ “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ผ่านระบบ Net Super Poll พบว่า คนในโลกโซเชียลสนใจติดตามข่าว ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มากกว่าถึงประมาณ 3 เท่าของคนในโลกโซเชียล ที่สนใจข่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจคือ 36,822,410 คน หรือกว่า 36 ล้านคนสนใจข่าวปัญหาฝุ่น PM 2.5 มากกว่า คนในโลกโซเชียลที่สนใจข่าว อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล อยู่ที่ 11,568,291 คน หรือกว่า 11 ล้านคน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.8 ให้เสียงตอบรับเชิงลบต่อข่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 35.2 ให้เสียงตอบรับเชิงบวก