สหรัฐฯ ภายใต้การนำของไบเดนเพิ่งออกเอกสาร ‘ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก’ เพื่อกลับมาตอกย้ำและทวงคืนบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคดังกล่าว อย่างไรก็ดี เอกสารดังกล่าวกลับชี้ชัดเจนว่า สหรัฐฯ กำลังมองจีนในฐานะภัยคุกคามของภูมิภาคดังกล่าว อันปรากฏในเนื้อความของเอกสารได้อย่างชัดเจน
ไบเดนย้ำเตือนว่าสหรัฐฯ “มุ่งความสนใจไปที่ทั่วทุกมุมของภูมิภาค จากเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาสู่เอเชียใต้และโอเชียเนีย รวมถึงหมู่มหาสมุทรแปซิฟิก” อย่างไรก็ดี เอกสารระบุชี้ชัดว่า ภูมิภาคที่ไบเดนมุ่งให้ความสำคัญที่สุดนั้นหนีไม่พ้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ซึ่งมีไทยตั้งอยู่ในนั้น
“สาธารณรัฐประชาชนจีน… แสวงหาขอบเขตอิทธิพลในอินโด-แปซิฟิก และพยายามที่จะกลายเป็นมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก การบีบบีงคับและการรุกรานของสาธารณรัฐประชาชนจีนแผ่ขยายไปทั่วทั้งโลก แต่รุนแรงมากที่สุดในอินโด-แปซิฟิก” ข้อความในเอกสารยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกชี้ชัดว่าสหรัฐฯ มองจีนเป็นภัยคุกคาม
สหรัฐฯ ระบุในเอกสารอีกว่า จีนมีพฤติกรรมก้าวร้าวซึ่งเป็นภัยต่อประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ก่อนย้ำเตือนว่า สหรัฐฯ พร้อมให้การช่วยเหลือพันธมิตรและเพื่อนของตนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งหมายรวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนที่หลายชาติมีความขัดแย้งกับจีนในประเด็นทะเลจีนใต้ ถึงแม้ว่าในหลายมิตินั้น อาเซียนจะพยายามวางแนวนโยบายเป็นกลางและถ่วงดุลระหว่างสองชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน
ในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อจีน ตั้งแต่ยุคสมัยของ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีคนก่อนผู้เปิดฉากทำสงครามการค้ากับจีน มาจนถึงสหรัฐฯ ภายใต้การนำของไบเดนที่มุ่งโจมตีจีนในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและพฤติกรรมก้าวร้าวนั้น ยังคงมีแนวโน้มที่ต่อเนื่องกันอยู่เช่นเคย คือ สหรัฐฯ มองว่าจีนยังคงเป็นภัยคุกคามของภูมิภาคเอเชียตลอดจนสหรัฐฯ เอง
“ตั้งแต่การบีบบังคับทางเศรษฐกิจต่อออสเตรเลีย ไปจนถึงแนวเส้นควบคุมแท้จริงกับอินเดีย ตลอดจนแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นกับไต้หวัน และการกลั่นแกล้งเพื่อนบ้านในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ พันธมิตรและหุ้นส่วนของเราในภูมิภาคนี้ต้องแบกรับต้นทุนจากพฤติกรรมอันเป็นอันตรายของสาธารณรัฐประชาชนจีน” เอกสารยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกระบุ
สหรัฐฯ ยังได้กล่าวโจมตีจีนในประเด็นสิทธิมนุษยชนอีกว่า “ในกระบวนการดังกล่าวนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนยังได้บ่อนทำลายสิทธิมนุษยชน และกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงเสรีภาพในการเดินเรือ ตลอดจนหลักการอื่นๆ ที่ได้นำเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่อินโด-แปซิฟิก” ปัญหาดังกล่าวของจีนอย่างกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง การละเมิดอธิปไตยไต้หวัน การเข้าอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ยังคงเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ จับตาอยู่อย่างใกล้ชิด
สหรัฐฯ ยังได้ระบุมายังพันธมิตรและเพื่อนของตนเองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกว่า ความพยายามร่วมกันตลอดทศวรรษหน้าที่จะมาถึง จะช่วยกำหนดว่าจีนจะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานที่เป็นประโยชน์ของอินโด-แปซิฟิกและโลกหรือไม่ สิ่งที่สหรัฐฯ หมายถึงมิใช่สิ่งอื่นใดเลยนอกจากแนวคิดประชาธิปไตยที่สหรัฐฯ ยึดถือเป็นบรรทัดฐานหลักบนเวทีโลก ซึ่งกำลังถูกจีนเข้ามาคุกคามการนิยามความหมายประชาธิปไตยในแบบใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์
“เราจะสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบระหว่างประเทศ รักษาค่านิยมที่ใช้ร่วมกันไว้ และปรับปรุงระบบให้สอดคล้องกับความท้าทายในศตวรรษที่ 21” สหรัฐฯ กล่าวโดยมีนัยถึงความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งสหรัฐฯ กำลังกลับมาทวงคืนพื้นที่ในระบบระหว่างประเทศอีกครั้งด้วยค่านิยมดังกล่าว
การรับมือกับจีนของสหรัฐฯ จะถูกดำเนินการผ่านการแข่งขันกันโดยมีความรับผิดชอบ “เราจะทำงานร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของเรา ในขณะที่พยายามหาช่องทางในการทำงานร่วมกันกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในพื้นที่อย่างเช่นการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ และการไม่แพร่กระจายอาวุธ” ทั้งนี้ สหรัฐฯ โจมตีถึงเรื่องความโปร่งใสของรัฐบาลจีนมาโดยตลอด
สหรัฐฯ ยังคงเปิดช่องทางในการทำงานร่วมกันกับจีนในด้านอื่นๆ ถึงแม้ว่าทั้งสองจะยังคงแข่งขันกันอยู่บนเวทีมหาอำนาจโลก “เราเชื่อว่าเพื่อประโยชน์ของภูมิภาคและโลกกว้างวางอยู่บนหลักการว่าไม่มีประเทศใดขัดขวางความก้าวหน้าในประเด็นข้ามชาติที่มีอยู่เนื่องจากความแตกต่างทางความสัมพันธ์ทวิภาคี”
สหรัฐฯ ระบุชัดเจนว่า ตนกำลังฟื้นฟูความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และสหรัฐฯ กำลังปรับบทบาทของตัวเองในศตวรรษที่ 21 ผ่านการปรับความสัมพันธ์ที่ตนมีกับชาติพันธมิตรในภูมิภาคให้ทันสมัย การเสริมสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นกับหุ้นส่วนใหม่ และการเชื่อมโยงนวัตกรรมใหม่ระหว่างพันธมิตรและหุ้นส่วนเพื่อรับมือกับความท้าทายเร่งด่วน ตั้งแต่การแข่งขันกับจีน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนถึงโรคระบาด
สหรัฐฯ กล่าวถึงบทบาทการเป็นผู้เชื่อมโยงชาติพันธมิตรและหุ้นส่วนของตนเองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอีกว่า ต้องกระทำผ่านการ “สนับสนุนความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และสนับสนุนอาเซียนในความพยายามในการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อความท้าทายเร่งด่วนที่สุดในภูมิภาค” สิ่งที่หน้าจับตาต่อไปคือ สหรัฐฯ จะกลับมาวางบทบาทในอาเซียนอย่างไรต่อไป หลังจากความห่างเหินที่เกิดขึ้นในช่วงยุคสมัยของทรัมป์ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากนัก
สหรัฐฯ ระบุเสริมว่า “ความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ อินโด-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตมากที่สุดในโลก และอนาคตของภูมิภาคนี้ส่งผลกระทบต่อผู้คนทุกที่” ทั้งนี้ ไบเดนต้องการจะปักหมุดสหรัฐฯ ในอินโด-แปซิฟิกให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคนี้ โดยจุดเน้นหลักของยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ครั้งนี้ คือการทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์กับพันธมิตร หุ้นส่วน และสถาบันต่างๆ ภายในภูมิภาคและนอกภูมิภาค
สหรัฐฯ กล่าวว่า ผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของตนกับชาติพันธมิตรและหุ้นส่วนคือ การที่มีอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง โดยรัฐบาลต่างๆ จะต้องมีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเอง ทั้งนี้ สหรัฐฯ มุ่งเน้นการพัฒนาภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างโดย
- การผลิดอกออกผลในสถาบันประชาธิปไตย สื่อเสรี และภาคประชาสังคมที่มีชีวิตชีวา
- การปรับปรุงความโปร่งใสทางการเงินการคลังของอินโดแปซิฟิก เพื่อเปิดเผยการทุจริตและขับเคลื่อนการปฏิรูป
- การดูแลให้น่านน้ำและน่านฟ้าของภูมิภาคที่ถูกควบคุมและปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ
- การพัฒนาแนวทางร่วมกันไปสู่เทคโนโลยีที่สำคัญและกำลังเกิดขึ้นใหม่ ทั้งอินเทอร์เน็ตและไซเบอร์สเปซ
จากยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง สหรัฐฯ ตอกย้ำว่าเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากสหรัฐฯ ไม่สร้างขีดความสามารถร่วมกันสำหรับยุคใหม่ ผ่านทางพันธมิตร องค์กร และกฎเกณฑ์ที่สหรัฐฯ และพันธมิตรได้ช่วยสร้าง ที่จะต้องได้รับการปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างขีดความสามารถร่วมกันภายในและนอกภูมิภาคโดย
- การกระชับพันธมิตรตามสนธิสัญญาระดับภูมิภาคทั้งห้ากับออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และไทย
- การกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรชั้นนำระดับภูมิภาค เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม และหมู่เกาะแปซิฟิก
- การร่วมสร้างพลังและความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน
- การเสริมสร้างความเข้มแข็งของ Quad และปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา
- การสนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอินเดียและความเป็นผู้นำระดับภูมิภาค
- การร่วมมือกันสร้างความยืดหยุ่นในหมู่เกาะแปซิฟิก
- การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอินโดแปซิฟิกและยูโรแอตแลนติก
- การขยายสถานะทางการทูตของสหรัฐฯ ในอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิก
สหรัฐฯ ระบุในยุทธศาสตร์ว่า ความรุ่งเรืองของชาวอเมริกันทุกวันเชื่อมโยงกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ทั้งด้านการลงทุนเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม การทำให้มีความเข้มแข็งในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การสร้างงานที่มีรายได้ดี การกลับมาสร้างสายพานการผลิต และการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลาง สหรัฐฯ ชี้ว่า ประชาชนกว่า 1.5 พันล้านคนทั่วทั้งอินโด-แปซิฟิกจะกลายมาเป็นชนชั้นกลางในช่วงทศวรรษนี้ สหรัฐฯ กับชาติพันธมิตรตลอดจนหุ้นส่วนจึงจะต้องช่วยกันผลักดันความมั่งคั่งร่วมกันโดย
- ข้อเสนอกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ประกอบไปด้วย
- พัฒนาแนวทางการค้าแบบใหม่ที่ได้มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมในระดับสูง
- ควบคุมเศรษฐกิจดิจิทัลและกระแสข้อมูลข้ามพรมแดนตามหลักการเปิดกว้าง รวมถึงผ่านกรอบเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่
- ความก้าวหน้าของห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นและปลอดภัย ซึ่งมีความหลากหลาย เปิดกว้าง และคาดเดาได้
- การร่วมลงทุนในการลดคาร์บอนและพลังงานสะอาด
- ส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เสรี ยุติธรรม และเปิดกว้างผ่านความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) รวมถึงในปีเจ้าภาพ 2566 ของสหรัฐฯ
- ปิดช่องว่างโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคผ่านนโยบายของสหรัฐฯ อย่าง Build Back Better World กับพันธมิตร G7
สหรัฐฯ ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 75 ปีที่ผ่านมา ตนได้คงสถานะการป้องกันที่แข็งแกร่งและสม่ำเสมอ ซึ่งจำเป็นต่อการสนับสนุนสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ทั้งนี้ สหรัฐฯ เปิดเผยอย่างชัดเจนในเอกสารยุทธศาสตร์ว่า ตนกำลังขยายและปรับปรุงบทบาทของตัวเองให้ทันสมัย และเพิ่มความสามารถของสหรัฐฯ ในการปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน และเพื่อยับยั้งการรุกรานต่อดินแดนของสหรัฐฯ และต่อพันธมิตรและหุ้นส่วนของตน ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยืนยันว่าตนจะใช้ทุกเครื่องมือเพื่อยับยั้งการรุกราน และตอบโต้การบีบบังคับใดๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกโดย
- เสริมความก้าวหน้าในการป้องปรามแบบบูรณาการ
- กระชับความร่วมมือและเสริมสร้างการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรและหุ้นส่วน
- รักษาสันติภาพและความมั่นคงตลอดทั้งแนวช่องแคบไต้หวัน
- สร้างสรรค์นวัตกรรมในสภาพแวดล้อมที่มีภัยคุกคามซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงนวัตกรรมด้านอวกาศ ไซเบอร์สเปซ และเทคโนโลยีเกิดใหม่
- เสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องปรามและประสานงานกับเกาหลีใต้และพันธมิตรอย่างญี่ปุ่น และดำเนินการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ในคาบสมุทรเกาหลี
- คงการดำเนินการในกลุ่มข้อตกลงความมั่นคง AUKUS (สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย) ขยายหน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ และความร่วมมือ เพื่อต่อต้านกับภัยคุกคามข้ามชาติต่างๆ
- ทำงานร่วมกับรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อให้ทุนแก่โครงการ Pacific Deterrence Initiative และ Maritime Security Initiative
สุดท้าย สหรัฐฯ กล่าวว่า ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่ในการเปลี่ยนผ่าน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระดับที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก และหมู่เกาะแปซิฟิกกำลังเจอกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 ยังได้ส่งผลกระทบต่อความทุกข์ทรมานของมนุษย์และเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค รัฐบาลต่างๆ ของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ การขาดแคลนทรัพยากร ความขัดแย้งภายใน และความท้าทายด้านธรรมาภิบาล สหรัฐฯ จึงจะเข้ามาสร้างความยืดหยุ่นในระดับภูมิภาคต่อภัยคุกคามข้ามชาติในศตวรรษที่ 21 โดย
- การทำงานร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนเพื่อพัฒนาเป้าหมาย กลยุทธ์ แผนงาน และนโยบายปี 2573 และ 2593 ที่สอดคล้องกับการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่กำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 องศาเซลเซียส
- การลดความเปราะบางในระดับภูมิภาคต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม
- การยุติการระบาดของโควิด-19 และเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพทั่วโลก
เอกสารยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่ถูกตีพิมพ์ออกมาจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในครั้งนี้ นอกจากการระบุว่าจีนเป็นภัยคุกคามของภูมิภาคแล้ว ตลอดจนการย้ำว่าสหรัฐฯ จะรับประกันความมั่นคงของไต้หวัน อินเดีย และออสเตรเลียซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคู่ขัดแย้งของจีน ยังมีการระบุชัดเจนถึงความสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นครั้งแรกๆ ที่สหรัฐฯ ระบุถึงไทยในฐานะพันธมิตร หลังจากที่ความสัมพันธ์ของไทยกับสหรัฐฯ มีความเหินห่างกันออกไป เนื่องจากแนวนโยบายของไทยเองที่มีความใกล้ชิดกับจีนมากยิ่งขึ้นหลังการทำรัฐประหารตั้งแต่ปี 2557
สหรัฐฯ เปิดเผยชัดเจนว่าจีนเป็นภัยคุกคามของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และที่ระบุชัดกว่านั้นคือ ตนกำลังกลับมาทวงคืนบทบาทของตัวเองในภูมิภาคแห่งนี้ ด้วยยุทธศาสตร์ที่ประกาศในเรื่องของการทำให้อินโด-แปซิฟิกเสรีและเปิดกว้าง ถูกเชื่อมกัน รุ่งเรือง มั่นคง และยืดหยุ่น ในทางกลับกัน ไทยยังคงมีท่าทีที่ใกล้ชิดกันกับจีน และรัฐบาลไทยควรพิจารณาถึงยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่เพิ่งถูกตีพิมพ์ออกมาจากทางทำเนียบขาว ที่ในตัวเอกสารเองมีการระบุถึงไทยอย่างชัดเจน
ไทยกำลังเลือกทางเดินที่ผิดหรือไม่จากการใกล้ชิดกันกับจีน หลังจากสหรัฐฯ กำลังกลับมาทวงคืนบทบาทของตนเองในภูมิภาค รัฐบาลต้องพิจารณาถึงเรื่องดังกล่าวอย่างหนัก ด้วยเหตุว่ายุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ที่ถึงแม้จะดูเหมือนไกลตัว แต่ถ้าหากรัฐบาลไทยเลือกดำเนินนโยบายระหว่างประเทศผิดพลาด ความล้มเหลวเหล่านั้นย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้