ข่าวคราวเรื่องเหนือธรรมชาติมีเต็มหน้าสื่อทุกวัน ส่วนหนึ่งก็เพราะช่วงไหนสังคมอ่อนไหว คนไร้ที่พึ่ง เรื่องไสยศาสตร์ความเชื่อก็มักจะได้รับความสนใจ ยึดถือเอาเป็นทางออก แต่อีกส่วนก็ต้องยอมรับว่าเพราะเรื่อง 'ความเชื่อ' อยู่คู่กับมนุษย์มาตลอด ไม่เว้นชนชาติและชนชั้น ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะอินกับประเด็นแบบนี้
ความเชื่อส่วนบุคคลจะไม่ส่งผลกระทบตราบเมื่อเชื่ออยู่คนเดียว และไม่ได้ไปบังคับใครเชื่อ แต่ในทางตรงกันข้ามหากเป็นความเชื่อของคน 'ระดับพระราชา' แล้วล่ะก็ มักจะส่งผลต่อคนอื่นๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ในบทความเล่าๆ เมาต์เอามันบทนี้ จึงอยากเขียนถึงความเชื่อของพระราชาที่น่าสนใจ เพราะมีทั้งที่ส่งผลต่อการปกครอง รูปแบบการรบทัพจับศึก หรืออย่างน้อยก็ธรรมเนียมปฏิบัติที่ยาวนานนับร้อยๆ ปี
ในบรรดาพระราชาสายมูของโลก เรื่องราวของ 'พระเจ้าหุมายุน' (Humāyūn) แห่งจักรวรรดิโมกุล (Mughal Empire) ถือได้ว่าสนุกมาก เพราะแฟนตาซีถึงขนาดที่พระองค์ปรับความเชื่อมาใช้กับระบบการปกครอง เป็น "การบริหารราชการแผ่นดินแบบเล่นหมอดู"
ก่อนไปถึงการบริหารราชการแผ่นดินแบบเล่นหมอดู เรามาดูพื้นฐานชีวิตของพระเจ้าหุมายุนกันสักหน่อย พระองค์เป็นโอรสของ 'พระเจ้าบาบูร์' (Babur) กษัตริย์เชื้อสายเติร์ก-มองโกล ผู้ยิ่งใหญ่และสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่จักรวรรดิโมกุล
พระเจ้าบาบูร์สิ้นพระชนม์หลังจากบุกยึดฮินดูสถานได้เพียง 4 ปีเท่านั้น สิ่งที่พระองค์ทิ้งไว้เป็นมรดกให้พระโอรส 'หุมายุน' นอกจากจะเป็นแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลตั้งแต่อัฟกานิสถานถึงอินเดียแล้ว จึงเป็นสถานการณ์การเมืองแบบลูกผีลูกคน เพราะนอกจากต้องแย่งสิทธิ์ในราชบัลลังก์กับน้องๆ ยังต้องสู้กับกลุ่มอำนาจเดิมในอินเดียอีกต่างหาก
เห็นได้ว่าการขึ้นสู่อำนาจของพระเจ้าหุมายุนต้องอาศัยกำลังกายกำลังใจอย่างใหญ่หลวง ซึ่งเรื่องของกำลังใจนั้นมีหลักฐานบันทึกว่าทรงให้ความสำคัญกับ 'ความเชื่อ-โชคลาง' อย่างมาก ทำให้จริยวัตรของพระองค์เต็มไปด้วยข้อปฏิบัติที่แปลกแต่เคร่งครัดหลายอย่าง เช่น การไม่ก้าวพระบาทซ้ายนำเข้าวังหรือเข้าสถานที่ทางศาสนา ถ้ามีใครทำเช่นนั้นพระองค์จะให้ออกไปและเดินเข้ามาใหม่ (ยังดีที่ไม่ตัดขาทิ้ง), ทรงเครื่องนุ่งห่มที่กำหนดสีตามวัน เช่น วันอาทิตย์สีเหลือง วันจันทร์สีเขียว
นอกจากนี้ พระเจ้าหุมายุนยังใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ ยิงลูกธนูที่สลักชื่อพระองค์ และชื่อผู้นำอาณาจักรคู่แข่งขึ้นฟ้า ดูทิศทางที่ลูกศรตก เพื่อทำนายว่าใครจะยิ่งใหญ่กว่ากัน
ความมูเตลูของพระเจ้าหุมายุนไม่ได้อยู่แค่ระเบียบปฏิบัติส่วนพระองค์ แต่ลามไปถึงการบริหารราชการแผ่นดินด้วย อย่างที่เกริ่นไว้ข้างบนว่าทรง "บริหารราชการแผ่นดินแบบเล่นหมอดู" เพราะฉีกกฎการบริหารด้วยการแบ่งส่วนราชการเป็น 4 ส่วน "ตามหลักธาตุทั้งสี่"
ส่วนราชการธาตุดิน ดูแลงานเกษตร การก่อสร้าง, ส่วนราชการธาตุน้ำ ดูแลเรื่องห้วยหนองคลองบึง และห้องเก็บเหล้าองุ่น, ส่วนราชการธาตุไฟดูแลเรื่องทหาร ฯลฯ และยิ่งไปกว่านั้น ทรงให้ความสนใจเรื่องโหราศาสตร์ การเคลื่อนที่ของดวงดาวอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ใครที่มีคดีความต้องพิพากษาหรือได้รับพระราชวินิจฉัยใน 'วันอังคาร' จึงซวยเป็นพิเศษ เพราะตามหลักโหราศาสตร์เชื่อว่าดาวอังคารส่งอิทธิพลเรื่องความขุ่นเคือง กราดเกรี้ยว และพระราชาก็จะเสด็จขึ้นบัลลังก์ด้วยเอนเนอร์จีนั้น ทำให้โทษที่ตัดสินในวันอังคารมากเกินกว่าความเป็นจริงแบบบวกๆ เสมอ
วาระสุดท้ายของพระเจ้าหุมายุนก็ยังคงเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องดวงดาว บันทึกประวัติศาสตร์มีหลายกระแส แต่ที่ตรงกันคือเล่าว่า วันหนึ่งพระเจ้าหุมายุนได้ขึ้นไปบนหอสมุดและหอดูดาว The Purana Quila - Old Fort ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าพระองค์โปรดการดูดาวเป็นปกติ แต่ครั้งนี้ต่างออกไป เพราะขาลงจากหอทรงก้าวพลาดตกบันไดสูงชัน และนั่นเป็นการดูดาวครั้งสุดท้ายในพระชนม์ชีพ
ข้ามฟากไปที่ฝั่งยุโรป เรื่องที่น่าสนใจมีฉากหลังอยู่ที่หอคอยแห่งลอนดอน (The Tower of London) สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยเรื่องผีๆ สางๆ เพราะเป็นลานประหารคนดังในประวัติศาสตร์ที่มีความตายอันน่าหวาดเสียว และอีกสัญลักษณ์ที่อยู่คู่กับสถานที่ผีสิงแห่งนี้ก็คือ 'อีกา' ที่พักพิงอยู่ในสนามหญ้า ทุกตัวคุณภาพชีวิตโอเคสุดๆ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญอีกา (The Ravenmaster) คอยดูแลป้อนเนื้อป้อนบิสกิตอย่างดี
ความมีอยู่ของอีกาในหอคอยแห่งลอนดอนค่อนข้างโด่งดัง เป็นที่รู้จักกันในตำนาน 'คำสาปอีกา' ซึ่งตำนานนี้เองทำให้ต้องเลี้ยงดูปูเสื่ออีกาพวกนี้อย่างดี ถ้ามีตัวไหนตายต้องจัดพิธีศพ และหาอีกาอะไหล่มาเสริม เพื่อไม่ให้จำนวนอีกาลดลงต่ำกว่า 6 ตัว เพราะเชื่อกันว่าราชวงศ์อังกฤษจะเจอกับหายนะ และล่มสลาย
ที่มาของตำนานเล่าลือกันว่ามาจากความเชื่อเรื่องโชคลางของ 'พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2' (Charles II) แห่งอังกฤษ
ครั้งหนึ่งทรงอนุญาตให้นักดาราศาสตร์ 'จอห์น เฟลมสตีด' (John Flamsteed) ใช้ส่วนหนึ่งของหอคอยแห่งลอนดอนเป็นสถานที่ทำงาน ปรากฎว่าฝูงอีกาที่ลานกว้างส่งเสียงกาๆๆๆ รบกวนการทำงานอย่างมาก นักดาราศาสตร์จึงทูลขอให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ช่วยกำจัดพวกมันไป แต่พระองค์ปฏิเสธคำขอและออกโรงปกป้องอีกาด้วย เนื่องจากมีความเชื่อส่วนพระองค์ว่า "มงกุฎและป้อมปราการจะพังทลาย หากพวกอีกาจากไป"
จากเรื่องเล่าที่อ้างถึงความเชื่อส่วนพระองค์ ทำให้มีการดูแลอีกาเพื่อปกป้องราชวงศ์มาจนถึงปัจจุบัน
กลับมาที่เรื่องเล่าใกล้ๆ กันบ้าง เรื่องนี้อยู่ในอาณาจักรล้านนายุค 'พญาสามฝั่งแกน' ถ้าเปิดดูในวิกิพีเดียหาข้อมูลแบบแมสๆ จะเห็นว่ามีการลงข้อมูลพระจริยวัตรบางประการไว้ว่า "...ทรงบูชาวิญญาณ รวมทั้งนับถือเทวดาอารักษ์ยักษ์ ภูติผีปีศาจแม่มดคนทรง เซ่นสรวงพลีกรรมต่างๆ โดยโปรดให้ฆ่าวัวควายสังเวยต้นไม้ เนินดิน ภูเขา และป่า"
อาจเป็นเรื่องปกติวิสัยของเจ้าผู้ครองแคว้นในยุคก่อนที่จะมีความเชื่อเรื่องเทวาอารักษ์ หรืออิงกับพลังเหนือธรรมชาติเพื่อส่งเสริมสถานะและอำนาจ แต่สำหรับพญาสามฝั่งแกน ต้องเรียกได้ว่าเป็นผู้ปกครองที่มีความโดดเด่นด้านความเชื่อ เพราะมีเอกสารทางประวัติศาสตร์บันทึกถึงการทำศึกของพระองค์ ที่ดูเหมือนว่าจะมีแบบแผนแห่งการพึ่งพลังเหนือธรรมชาติอยู่ตลอดรัชสมัย
หนึ่งในสงครามครั้งสำคัญของพญาสามฝั่งแกน คือเมื่อครั้งฮ่อยกทัพมาทวงส่วย ในเอกสารพื้นเมือง "ตำนานห้อมาตกเสิกก็พ่ายด้วยอนุภาวะแห่งอารักษ์เมือง" (ตำนานฮ่อมาตกศึก พ่ายด้วยอนุภาวะแห่งอารักษ์เมือง) บันทึกว่าเมื่อมีศึกประชิดเมืองสิ่งสำคัญที่พญาสามฝั่งแกนมีโองการให้ทำก็คือ 'บวงสรวงผีเมือง' แถมเป็นการบวงสรวงอย่างมโหฬารอีกต่างหาก การบวงสรวงครั้งนั้นผีคงพอใจมาก เพราะปรากฎว่าเกิดพายุฝนฟ้าคะนองถล่มทลาย ฟ้าผ่าโดนทหารฮ่อตายจำนวนมากจนฮ่อต้องยกทัพกลับ
การรบกับฮ่อเป็นการตั้งรับ แต่ศึกครั้งใหญ่ของพญาสามฝั่งแกน ก็คือการรุกยกทัพไปปล้นสุโขทัย ในเอกสาร "อุบายให้หายเคราะห์เมืองใต้" ระบุว่าก่อนจะไปศึกพญาสามฝั่งแกนจัดให้ "มหาพราหมณ์จบไตรเพท" มาพยากรณ์ครั้งใหญ่ โดยพราหมณ์ทำนายว่าเมืองสุโขทัยมีเคราะห์สุดๆ เป็นโอกาสดีที่จะชิงเมืองได้ แน่นอนว่าทัพล้านนาฮึกเหิมมาก แต่ปรากฎว่าล้อมเมืองได้แค่ 15 วัน ก็เจอกับพายุฝนมืดฟ้ามัวดินไพร่พลยากลำบากสาหัสขนาดลืมตาฝ่าฝนกันไม่ได้ ซึ่งอาการฟ้าฝนวิปริตดังนี้มาจากการที่ฝ่ายสุโขทัย "เลี้ยงเทวดาอารักษ์ดี" ทำให้พญาสามฝั่งแกนต้องตัดสินพระทัยยกทัพกลับบ้าน
"...เมื่อนั้นพญาใต้ หื้อเลี้ยงอารักษ์เมืองใต้ดีนัก ชู่แห่งลวด เปนฝน เปนลมมากนักมืนตาบ่ได้ดีหลีแล ปล้นเมืองบ่ได้เพื่ออั้นแล เจ้าพระญาหันคนทังหลายลำบากนัก อยู่บ่นาน 15 วัน จิ่งหื้อปล้นเอาเท่าย้อนเมืองเสีย..."
ภาพปก: Pro Church Media on Unsplash
*******************************
อ้างอิง
Majumdar, R.C. et al, An Advanced History of India, London : Macmillan and Company Limited, 1967.
ประภัสสร บุญประเสริฐ, ประวัติศาสตร์เอเชียใต้, (พิมพ์ครั้งที่ 8), กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2542.
https://m.hindustantimes.com/delhi/cursed-citadels-of-delhi/story-WIkEVMj6NdB8JUjhxE9PEP.html
https://th.m.wikipedia.org/wiki/พญาสามฝั่งแกน
นิธิ เอียวศรีวงศ์ (บรรณาธิการ), ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ ภาคที่ 2 พื้นเมืองน่านฉบับวัดพระเกิด, กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ, 2547.
สุริษา มุ่งมาตร์มิตร, ซ่อนเร้นไม่ซ่อนลับ เกร็ดไสยศาสตร์ในประวัติศาสตร์ไทย, กรุงเทพฯ : ยิปซี, 2555.
https://www.hrp.org.uk/tower-of-london/whats-on/the-ravens/#gs.e7d1s1