ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 15 ระบุว่า เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (4 ม.ค. 62) พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) บริเวณอ่าวไทยตอนล่าง มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 200 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือที่ละติจูด 7.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 102.0 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยด้วยความเร็ว 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช ในช่วงค่ำของวันนี้ (4 ม.ค. 62)
โดยมีผลกระทบต่อภาคใต้ในช่วงวันที่ 4-5 มกราคม 2562 ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ มีผลกระทบดังนี้
ในช่วงวันที่ 4-5 มกราคม 2562 ภาคใต้จะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ กับมีลมแรงบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 3-5 เมตร ส่วนทะเลอันดามัน มีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากลมแรง และคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือควรงดการเดินเรือจนถึงวันที่ 5 มกราคม 2562 ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 4 มกราคม 2562 เวลา 11.00 น.
ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชปิดต่อเนื่อง
รายงานสถานการณ์ ท่าอากาศยานในพื้นที่ภาคใต้ เช้าวันที่ 4 มกราคม2562
-ท่าระนองสภาพอากาศปกติ ลมสงบ ไม่มีฝน เครื่องบินไทยแอร์เอเชียเที่ยวแรกลงเรียบร้อยแล้ว
-ท่าชุมพรสภาพอากาศปกติ ยังไม่มีฝนตก เครื่องนกแอร์เที่ยวแรก ลงเรียบร้อยแล้ว
-ท่านครศรีธรรมราชตั้งแต่เมื่อคืนถึงปัจจุบันฝนตกต่อเนื่องและมีลมแรงมาก ปิดสนามบินตั้งแต่เที่ยงคืนที่ผ่านมา
-ท่าสุราษฎร์ธานีสภาพอากาศเช้านี้มีเมฆปกคลุมและฝนตกเบาบางต่อเนื่องจากช่วงกลางคืน อากาศยานยังขึ้นลงได้ตามปกติ ทั้งนี้ยังคงติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง และคืนที่ผ่านมาไม่มีผู้โดยสารตกค้าง เที่ยวบินที่เพิ่มขนผู้โดยสารได้หมด
-ท่าอากาศยานตรัง สภาพทั่วไป ณ เวลา 07.45 น. มีเมฆปกคลุม มีฝนตกเล็กน้อย ทิศทางลม 034 ความเร็ว 3 นอต ทัศนวิสัย 3000 เมตร เที่ยวบินเที่ยวแรกลงเวลา 09.20 น. หากสภาพอากาศไม่เปลี่ยนแปลง จะไม่มีผลกระทบต่อการขึ้นลงของเที่ยวบิน
จ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าหน้าที่สนธิกำลังช่วยพ่อค้าแม่ค้าเก็บของบริเวณชายหาด
ทหารและฝ่ายปกครองสนธิกำลัง ช่วยขนย้ายสิ่งของ ของผู้ประกอบการค้าริมชายหาดหัวหิน ขึ้นสู่ที่สูงเพื่อป้องกันความเสียหาย จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนปายึกที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย ทั้งนี้นายจีรวัฒน์ พราหมณี ปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน ยังได้มอบหมายให้ นายศุภนพ มัดจันทร์ หัวหน้าเทศกิจ ปักธงแดง แสดงสัญลักษณ์แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวที่ชายหาดหัวหิน ว่าเป็นพื้นที่เขตอันตราย ไม่ควรลงเล่นน้ำ หรือห้ามลงเล่นน้ำเด็ดขาด เนื่องจากคลื่นลมเริ่มพัดแรงเกรงว่าจะเป็นอันตรายกับนักท่องเที่ยว
รพ.บางสะพาน เตรียมความพร้อมบริหารจัดการผู้ป่วย
นพ.เชิดชาย ชยวัฒโฒ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมในส่วนของโรงพยาบาลบางสะพานนั้น เบื้องต้นได้บริหารจัดการคนไข้บางส่วนที่อาการดีขึ้นและหายป่วยแล้วกลับบ้านพัก ส่วนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องอยู่ต่อ จะย้ายขึ้นตึก 6 ชั้น ซึ่งขณะนี้เหลือผู้ป่วยในประมาณ 90 ราย ส่วนผู้ป่วยหนักนั้นมีอยู่ 12 ราย มีอาการดีขึ้นคงเหลือเพียง 9 รายเท่านั้น แต่จากสถานการณ์ขณะนี้ เท่าที่ได้ประเมินสถานการณ์และติดตามข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาและกระทรวงสาธารณสุข ณ ขณะนี้พายุปาบึกเคลี่อนตัวลงใต้ไปทางสุราษฎน์ธานี คาดว่าประจวบคีรีขันธ์อาจจะได้รับผลกระทบแบบหางๆ หากแต่เพื่อความไม่ประมาททางโรงพยาบาลจะเตรียมพร้อมทั้งแผนรับมือ และแผนอพยพ ตามลำดับ
ทั้งนี้หากเกิดสถานการณ์ขึ้นจริง ทางโรงพยาบาลได้เตรียมเครื่องปั่นไฟเครื่องใหญ่จำนวน 2 เครื่อง และน้ำมันเชื้อเพลิงพร้อม หากระบบไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขัดข้องสามารถปั่นไฟใช้ในระบบโรงพยาบาลได้ทันที อยู่ได้นานราว 10ชั่วโมง ส่วนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักนั้นหากมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงทางโรงพยาบาลก็พร้อมเคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ และโรงพยาบาลหัวหิน ได้ทันที
ส่วนเครื่องมือทางการแพทย์นั้น รอดูสถาการณ์แบบวันต่อวัน เนื่องจากเครื่องมือที่หลงเหลืออยู่มีน้ำหนักเบาแล้ว ส่วนเครื่องมือหนักส่วนใหญ่ได้เคลื่อนย้ายไปไว้ในที่สูงหมดแล้ว ทั้งนี้ห่วงห้องผ่าตัดและห้องคลอดซึ่งเป็นห้องสำคัญ ต้องรักษาการปลอดเชื้อให้มากที่สุด แต่หากไม่ไหวก็จะต้องย้ายขึ้นที่สูง
อย่างไรก็ตามระยะยาว คงต้องรอให้การการก่อสร้างแนวรั้วโรงพยาบาล ที่คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างอีกราว 3 เดือน และอาคารผู้ป่วยหลังใหม่ที่กำลังก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งหากทั้งสองส่วนนี้เรียบร้อยการดูแลผู้ป่วยก็สามารถทำได้หากเกิดอุทกภัยในพื้นที่ แต่ในช่วงนี้ยังคงต้องแก้ไขด้วยการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือขนของหนีน้ำไปตามสถานการณ์ก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง