ไม่พบผลการค้นหา
เปิดผลโหวตค้าน แยก 'กมธ.ด้านความหลากหลายทางเพศ' พบ พปชร. โหวตค้านยกพรรค ทั้งที่เคยพาตัวแทนสมาคมฟ้าสีรุ้งฯ พบ 'อุตตม' รับหนังสือรับปากผลักดัน ย้อนดูนโยบาย 'รบ.ประยุทธ์2' ชัดไม่ให้ความสำคัญ ส่อแวว '7 ล้านLGBT' ดันร่างกฎหมาย 'คู่ชีวิต-เพศสภาพ' วืด

แม้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะมีมติ 365 ต่อ 101 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง ไม่ให้แยกกมธ.ด้านความหลากหลายทางเพศ ที่ ส.ส.กลุ่มความหลากหลายทางเพศ พรรคอนาคตใหม่ อาทิ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ กับณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ผลักดัน แต่คำว่า 'หลากหลายทางเพศ' ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของ กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงยังถือว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้ง 7 ล้านคนของประเทศ ยังมีที่ทางในสภาผู้แทนราษฎร 

ทว่าในยุคสมัยของ 'รัฐบาลประยุทธ์2' ที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ วาระการสร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในสังคมไทย จะมีการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือก้าวหน้าขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ คงต้องดูผลการลงมติร่างข้อบังคับการประชุมฯ ข้อ 90 (35) เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา กับ 'คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ประกอบกันไป  

101 เสียง ที่ส.ส.ให้ความเห็นชอบมีทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลคือ พรรคอนาคตใหม่ 76 เสียง พรรคเพื่อไทย 12 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 8 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 4 เสียง และพรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 เสียง

ในภาพรวมของเสียงสนับสนุน 7 พรรคฝ่ายค้านเองก็ยังมีความเห็นแตกต่าง เช่น พรรคพลังปวงชนชาวไทย ไม่ได้ลงคะแนน 2 ส.ส.เพื่อชาติ ไม่เห็นด้วย ส่วน 4 ส.ส.ประชาชาติ งดออกเสียง ตามเหตุผลทางความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนามุสลิม ที่นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา เคยอภิปรายไว้ เช่นเดียวกับ นายนิรามา สุไลมาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ งดออกเสียง 

'ส.ส.พลังประชารัฐ' ผิดสัญญา - ค้านแยกกมธ.หลากหลายทางเพศ

365 เสียงที่คัดค้านนั้น ก็มีทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไท รักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย และบรรดาพรรคจิ๋ว รวมถึงพรรคเพื่อไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งทิศทางการโหวตในข่ายของพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะยังไม่ถูกจับจ้องมากนัก เพราะไม่เคยป่าวประกาศหรือหาเสียงเช่นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอย่างชัดแจ้ง แตกต่างจากพรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาล ที่เคยขยับหาเสียงในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ อย่างน้อย 2 ครั้ง จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ

เมื่อ น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส. กทม. ในฐานะประธานกรรมการด้านนโยบายสตรี นำ กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เข้าพบและหารือกับ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งรับปากจะร่วมผลักดันข้อเสนอต่างๆ ให้สำเร็จ และส.ส.ธณิกานต์ ในฐานะโฆษกกมธ.ยกร่างข้อบังคับฯ ก็ร่วมรับมอบหนังสือจากสมาคมฟ้าสีรุ้ง ที่เรียกร้องให้มีการตั้งกมธ.ด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ และผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ร่างพ.ร.บ.เพศภาพ ซึ่งผลการลงมติคือ น.ส.ธณิกานต์ และส.ส.พรรคพลังประชารัฐทั้งหมด ไม่มีใครเห็นด้วยแม้แต่คนเดียว 

'รบ.ประยุทธ์2' ไร้นโยบายชัด ส่อหมดหวังดันร่างกฎหมาย 'คู่ชีวิต-เพศสภาพ'

ยิ่งเมื่อย้อนดู 'คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ที่แถลงต่อรัฐสภา ก็จะยิ่งเข้าใจว่า นโยบายที่เกี่ยวข้องกับ 'ความหลากหลายทางเพศ' นั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้ให้ความสำคัญ ทั้ง 66 หน้านั้น มีคำว่า 'เพศภาวะ' เพียง 1 คำ อยู่ในส่วนท้ายที่เชื่อมโยงนโยบายกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมเท่านั้น

ถ้าเพียงการแยก กมธ.ด้านความหลากหลายทางเพศ ออกมาอีก 1 คณะ 116 ส.ส.พลังประชารัฐ ยังไม่มีใครร่วมสนับสนุน ทั้งยังไร้เนื้อหาสาระในนโยบายของครม. ความฝันและความหวังของผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้ง 7 ล้านคน ที่อยากจะผลักดันกฎหมาย อย่างร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือร่างพ.ร.บ.เพศภาพ ก็คงเป็นเรื่องยากจะเกิดขึ้นจริง       

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: