ไม่พบผลการค้นหา
ศาลปกครองกลางนัด 14 ต.ค. นี้ ไต่สวนประมูลรถไฟสายสีส้ม หลังบีทีเอสฟ้องกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แก้ไขทีโออาร์ทั้งที่ขายซองประมูลแล้ว ขณะที่อธิบดีดีเอสไอ เตรียมส่งคำร้อง ‘ศรีสุวรรณ’ ให้กองคดีฮั้ว วันนี้

แหล่งข่าวจากศาลปกครองกลาง เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 เวลา 10.00 น. ศาลปกครองกลาง นัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นโจทก์ฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ของพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 และ การการถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ 2 กรณี รฟม.ส่งหนังสือถึงเอกชน 10 รายที่ซื้อซองเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท แจ้งการขอปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน โดยนำคะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคมาเป็นเกณฑ์ประเมินร่วมกับข้อเสนอด้านการเงิน และผลตอบแทนในสัดส่วน 30 : 70 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมาบีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลได้นัดไต่สวน วันที่ 22 ก.ย.63 แต่ทาง รฟม.ขอเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากอ้างว่า เตรียมเอกสารไม่ทัน

สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอส เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าวจะทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ที่ต้องจ่ายมากว่าวิธีเดิม และการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาภายหลังเปิดขายซอง หลังจากเจ้าของโครงการทราบแล้วว่ามีเอกชนรายใดซื้อซองแสดงความสนใจเข้าร่วมประมูล ถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างมาก เนื่องจากรู้จุดแข็งจุดอ่อนของคู่แข่ง และการตัดสินคะแนนทางเทคนิคก็ไม่มีเกณฑ์อะไรที่ชัดเจน

ด้าน พ.ต.ท. กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ในวันนี้ (1 ต.ค. 2563) จะส่งหนังสือร้องเรียนของ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่มาร้องเรียนให้ตรวจสอบการแก้ไขทีโออาร์โครงการรถไฟฟ้าสีส้ม ให้กับกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยของรัฐ โดยจะให้พิจารณาเอกสารหลักฐานยื่นมา เข้าองค์ประกอบความผิดในอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอหรือไม่

โดยก่อนหน้านี้ ศรีสุวรรณ มายื่นหนังสือเพื่อขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ให้เหตุผลว่า การที่คณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563 มีมติเห็นชอบเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทีโออาร์ ส่อพิรุธหลายประการ ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญ และไม่เคยมีการดำเนินการลักษณะเช่นนี้กับโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนมาก่อน

นายกรัฐมนตรียอมรับกังวลรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้า

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ กล่าวถึงกรณีโครงการกรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีสัม ที่ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลง TOR กลางคัน จะส่งผลอย่างไรนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมกำลังดำเนินการอยู่โดย มีคณะกรรมการในการพิจารณาหลักฐานและความถูกต้องต่างๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่สามารถสั่งการอะไรได้ 

ทั้งนี้ ยอมรับว่าเป็นห่วงว่าโครงการจะล่าช้าแต่ทุกอย่างต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง ส่วนจะยึดมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบแต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน หากเป็นเช่นไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม หากพบข้อร้องเรียนก็ต้องมีการชี้แจงให้ได้รับทราบ โดยยึดหลักประชาชนที่จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด 

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ว่า ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว เช่นเดียวกับรายชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็จะมีออกมาเร็วๆนี้


รฟม. ย้ำชัด ประมูล ‘สายสีส้ม’ ต้องใช้คะแนนเทคนิค

ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง หลังคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ของพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ. 2562 ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน โดยนำคะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคมาเป็นเกณฑ์ประเมินร่วมกับข้อเสนอด้านการเงิน และผลตอบแทนในสัดส่วน 30 : 70 ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่าศาลปกครองจะมีการนัดไต่สวนเมื่อใด

โดยในส่วนของการปรับเงื่อนไขประมูล ยังคงยืนยันว่า เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อการดำเนินการก่อสร้างโครงการ เนื่องจากแนวเส้นทางกว่า 2 ใน 3 เป็นเส้นทางใต้ดิน และต้องมีการขุดเจาะอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ดังนันจึงต้องนำคะแนนด้านเทคนิคมาร่วมพิจารณาคัดเลือกเอกชนในครั้งนี้ แต่การนำคะแนนเทคนิค ไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีประสบการณ์เฉพาะการขุดเจาะอุโมงค์ลอดใต้แม้น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น ซึ่งรวมไปถึงประสบการณ์ขุดเจาะอุโมงค์ทุกประเภท และไม่ได้บังคับว่าพาร์ทเนอร์ของผู้ซื้อซองประมูลจะต้องมีบริษัทร่วมค้าที่มีประสบการณ์ในด้านนี้ก็ได้ หรือต้องเป็นบริษัทในประเทศเท่านั้น ซึ่งเอกชนสามารถหาซัพคอนแทร็กจากต่างประเทศได้เช่นกัน ดังนั้นจึงมั่นใจว่าไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งตามที่มีความกังวล

อย่างไรก็ตาม รฟม. ยืนยันว่า จะยังคงใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน โดยการนำคะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคมาเป็นเกณฑ์ประเมินร่วมกับข้อเสนอด้านการเงิน และผลตอบแทนในสัดส่วน 30 : 70 หากศาลปกครองนัดไต่สวนและไม่มีการเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ซึ่งขณะนี้ไม่ได้มีการพูดคุยกับบีทีเอสเป็นการส่วนตัว แต่ได้ส่งหนังสือ RFP ให้กับเอกชนที่ซื้อซองประมูลทั้ง 10 รายเป็นฉบับเดียวกันทั้งหมด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :