ไม่พบผลการค้นหา
รู้หรือไม่ว่า ทุกครึ่งชั่วโมง มีคนตายจากอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ 1 คน ข้อมูลในปี 2562 พบว่าตลอดทั้งปี รถสองล้อคร่าชีวิตคนไทยมากถึง 17,000 ราย ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยังจำเป็น ต้องพึ่งพายานพาหนะนี้ ขับขี่และเดินทางสัญจรในชีวิตประจำวัน

จากเวทีคุยเรื่องถนน หัวข้อ: เทียบมาตรฐาน “มอเตอร์ไซค์” ไทย-เทศ ไอเทมไหนอ่อนด้อย? จัดโดยแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เผยให้เห็นแง่มุมและความท้าทายสำคัญ การลดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในบ้านเรา 

พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยานยนต์ปลอดภัย บอกว่า ปัจจุบัน 80% ของการตายจากอุบัติเหตุทางถนน เกิดขึ้นกับผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการลดจำนวนผู้เสียชีวิตลง ภาครัฐต้องโฟกัสแก้ปัญหาที่ต้นเหตุใหญ่ในกลุ่มนี้ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องทั้งในประเด็นมาตรฐานถนน พฤติกรรมการขับขี่ มาตรฐานและสมรรถนะของตัวรถ รวมไปถึงกฎหมายที่ใช้ควบคุม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ขับขี่อายุน้อย และผู้ใช้รถ Big bike ซึ่งตามร่างกฎกระทรวงนั้น กำหนดที่ขนาดเครื่องยนต์ 400 ซีซีขึ้นไป สวนทางกับสถิติที่พบว่า เด็กอายุ 15-20 ปี ส่วนใหญ่บาดเจ็บและตาย จากรถมอเตอร์ไซค์เครื่องแรง 250-399 ซีซี

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลอย่างมากที่กฎกระทรวงฯ ใหม่ ไม่ได้จำกัดอายุผู้ขับขี่บิ๊กไบค์ที่ 21 ปีขึ้นไปตามที่สภาปฏิรูปแห่งชติ (สปช.) ได้แนะนำไว้ และความไม่ชัดเจนในการบังคับใช้ ตรวจสอบ ควบคุมกำกับการอบรมผู้ขับขี่ รวมถึงการแก้ปัญหาเรื้อรังของระบบใบอนุญาตขับขี่รถ จยย. ที่ควรเป็นระบบอนุญาตขับขี่อย่างเป็นลำดับขั้น (Graduated Driver Licensing - GDL) ที่วิจัยพิสูจน์แล้วว่า ลดการบาดเจ็บและตายของผู้ขับขี่หน้าใหม่ได้เกือบ 25% 

จึงเสนอให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาปรับระเบียบเพื่อเพิ่มความปลอดภัย กลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ไทย ดังนี้ กำหนด “บิ๊กไบค์” ขนาดเครื่องยนต์ตั้งแต่ 246 ชีซี ขึ้นไป ซึ่งจะช่วยถอมชีวิตผู้ขับขี่เพิ่มเกือบ 2 เท่า กำหนดอายุผู้ซื้อหรือผู้ขอทำใบขับขี่บิ๊กไบค์ ที่อายุ 21 ปีขึ้นไป รวมทั้งกำหนดโทษ หากการอบรมและทดสอบการขับ ไม่ได้มาตรฐาน ปรับปรุงการจำแนกประเภทของรถเครื่องขนาดเบา (L category) ตามเกณฑ์สากล (UNECE - WP.29) ให้มีประเภทรถ L1e ความเร็วไม่เกิน 45 กม./ชม. เพื่อจัดระบบความปลอดภัยตามกฎหมาย

ปรับปรุงแก้ไขระบบใบอนุญาตขับขี่รถ จยย. เป็นระบบลำดับขั้น (Graduate Driver Licensing - GDL) และควบคุมดูแล ไม่ให้อนุญาตหรือผ่อนผันใดๆ เกี่ยวกับกฎกระทรวง พ.ศ. 2548 ที่จำกัดให้เด็กอายุ 15-17 ปี ขออนุญาตและขับขี่รถ จยย. ได้ไม่เกิน 110 ซีซี

ขณะที่ประเด็นมาตรฐานและสมรรถนะของรถจักรยานยนต์นั้น 'ศิริวรรณ สันติเจียรกุล’ นักวิจัยโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยานยนต์ปลอดภัย เผยว่า จากการคำนวณอัตราเสียชีวิต ในกลุ่มผู้ขับขี่รถ จยย. เทียบกับจำนวนจดทะเบียน พบว่า ในบ้านเราอัตราตายอยู่ที่ 81 รายต่อแสนคัน ขณะที่ยุโรปมีสัดส่วนที่ต่ำกว่ามากที่ 11 รายต่อแสนคัน หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือมาตรฐานตัวรถ โดยหากเทียบกับสเปกที่ขายในบ้านเรา ค่อนข้างมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน อาทิ 1. จุดติดตั้งไฟส่องสว่างและไฟสัญญาณเตือนที่น้อยกว่า โดยใน จยย. 110 ซีซี รุ่นยอดนิยมที่คนไทยใช้เยอะมาก 

2.การกำหนด Speed meter หรือหน้าปัดความเร็ว ในอัตราที่ไม่สูงมากนัก โดยในอังกฤษ 110 และ 125 ซีซี สูงสุดที่ 90 กม./ชม. เท่านั้น ในเม็กซิโก มาเลเซีย และญี่ปุ่น 110 ซีซี สูงสุดที่ 120 กม./ชม. แต่เริ่มใช้สีแดงเตือนที่หน้าปัด ตั้งแต่ความเร็วเกิน 80 กม./ชม. ขณะที่บ้านเรา 110 ซีซี สูงสุดที่ 140-160 กม./ชม. โดยไม่มีการใช้สีแจ้งเตือนอันตรายที่หน้าปัดความเร็ว

3. ตำแหน่งติดตั้งตะกร้าหน้ารถที่เหมาะสม ป้องกันสิ่งของในตะกร้าบดบังแสงไฟ เนื่องจากในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุนี้เป็นพันราย ที่ญี่ปุ่นได้แก้ปัญหาโดยนำโคมไฟมาติดไว้ที่หน้าตะกร้า ไม่ว่าจะใส่ของเยองแค่ไหนไฟก็ส่องสว่างชัดเจน

4.ในรถที่ซีซีเท่ากันพบว่า จยย. ที่ขายในประเทศไทย มีหน้ายางที่แคบกว่าแต่วงล้อกว้างกว่า ซึ่งช่วยในเรื่องของความเร็วและความคล่องตัวเป็นหลัก 

5. น้ำหนักน้อยกว่า เพื่อให้ประหยัดน้ำมันและทำความเร็วได้มากกว่า แต่รถที่มีน้ำหนักมากกว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุโอกาสรอดชีวิตจะมากกว่ารถเล็ก เพราะเบรกได้ง่ายกว่าและมีความมั่นคง แต่ข้อเสียที่บ้านเราไม่ชอบคือซิกแซกยาก ซึ่งตัดกับจุดขายในบ้านเรา

“อีกประเด็นสำคัญคือในต่างประเทศ เช่น ยุโรป จะมีการกำหนดซีซีรถที่ใช้ขับขี่ตามอายุ โดยในเด็กที่เริ่มต้นขับอายุ 16 ปี จะขับได้เพียง 50 ซีซีเท่านั้น ทว่าในประเทศไทย จยย. ซีซีต่ำแบบนี้ไม่มี ต่ำสุดคือ 110 ซีซี เด็กๆ ที่เริ่มขับใหม่ ต้องไปเสี่ยงตายกันเอง” ศิริวรรณ กล่าว 

ด้าน ‘ดร.อนุชิต กลับประสิทธิ์’ หัวหน้าแผนกช่างอากาศยาน วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตรถจักรยานยนต์มีการพัฒนาไปมาก ทำให้ขับขี่และควบคุมในภาวะวิกฤติได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะระบบเบรกและการทรงตัวรวมถึงระบบไฟส่องสว่าง แต่สิ่งที่ตามมาคือการขับขี่ด้วยความเร็ว และความท้าทาย โดยงานวิจัยพฤติกรรมนักบิด ระบุว่า การขับขี่ด้วยความหวาดเสียวเป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุข จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้ความเร็ว ซึ่งความเร็วที่วัยรุ่นรู้สึกมีความสุข อยู่ระหว่าง 100-120 กม./ชม. จึงอยากเตือกให้ทุกคนขับขี่ด้วยความระมัดระวัง คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก รวมถึงหมั่นตรวจสภาพ จยย. ให้พร้อมใช้งาน โดยเฉพาะเบรกและไฟท้าย ซึ่งเป็นจุดสำคัญมากช่วยให้รถที่ขับตามสังเกตเห็น แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยให้ความสำคัญ