พงศ์บุญย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นประธานงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2563 "ป่าไทยไม่ไร้เสือ" ตรงกับวันที่ 29 ก.ค. ของทุกปี จัดโดย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการช่วยกันผลักดันให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่ง และการปกป้องรักษาถิ่นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร และระบบนิเวศอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์เสือโคร่งในประเทศไทย
ประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงสถานการณ์เสือโคร่งในประเทศไทยว่า ประเทศไทยพบประชากรเสือโคร่งประมาณ 160 ตัว ส่วนใหญ่พบบริเวณผืนป่าตะวันตกแนวเขตป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประชากรเสือโคร่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันป้องกันถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของเสือโคร่ง การป้องกันลักลอบการล่าด้วยการเดินลาดตะเวนเชิงคุณภาพ และนโยบายของภาครัฐในการอนุรักษ์โคร่ง ทั้งงบประมาณและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย
ขณะที่ ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า จากการติดกล้องดักถ่ายภาพเสือโคร่งเพื่อศึกษาพฤติกรรมแล้วนำมาหาแนวทางอนุรักษ์ พบเสือโคร่งตัวผู้ 1 ตัวจะใช้พื้นที่ดำรงชีวิตมากถึง 300 ตารางกิโลเมตร ส่วนเสือโคร่งตัวเมียจะใช้พื้นที่ดำรงชีวิตประมาณ 60-80 ตารางกิโลเมตร และให้กำเนิดลูกได้เพียง 4 ตัวต่อ 1 ครั้ง แล้วจะมีระยะความถี่การให้กำเนิดอยู่ที่ 2-3 ปี โดยลูกเสือโคร่งจะมีโอกาสมีชีวิตรอดในธรรมชาติเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
ด้าน อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเหลือพื้นที่สำหรับการอนุรักษ์เสือโคร่งอยู่เพียงประมาณ 3% ของพื้นที่ทั้งประเทศ หรือในพื้นที่ผืนป่าตะวันตกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเพียง 31% ของพื้นที่ป่าทั้งหมดรวม 11.7 ล้านไร่ หรือประมาณ 18,000 ตารางกิโลเมตร จึงจำเป็นต้องอนุรักษ์เสือโคร่งจากความร่วมมือของหน่วยงานและทุกคน โดยเฉพาะเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนที่เหลืออยู่ในไทยมากที่สุดและวัวแดงที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งที่ต้องอนุรักษ์อย่างเข้มข้น เนื่องจากสัตว์เหล่านี้อยู่ในกลุ่มสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคต