ประธานาธิบดี 'มุนแจอิน' แห่งเกาหลีใต้ โพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ รำลึกเหตุการณ์เรือเฟอร์รี 'เซวอล' อับปางในทะเลใกล้เมืองจินโด เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2557 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 304 ราย เกือบทั้งหมดเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถูกเรียกว่าเป็นโศกนาฎกรรมเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามเกาหลียุติลง
ในปีนี้ไม่มีการจัดพิธีรำลึก เพราะรัฐบาลสั่งห้ามการชุมนุม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังมีความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์ โดยกลุ่มเครือญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบเร่งกระบวนการไต่สวนและลงโทษผู้เกี่ยวข้องกับสาเหตุที่ทำให้เรืออับปาง รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่หละหลวม ไม่สามารถส่งความช่วยเหลือให้แก่ผู้ประสบเหตุได้ทันเวลา
เว็บไซต์ Korea Herald เผยแพร่ข้อความตอนหนึ่งของ ปธน.มุนแจอิน ซึ่งระบุว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรือเซวอล จึงตระหนักดีว่าการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินอย่างรวดเร็วมีความสำคัญเพียงใด และเพื่อจดจำเด็กๆ ที่จากไป ทุกคนจะต้องยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม และรัฐบาลขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ยึดมั่นในหลักการดังกล่าว
"พวกเราร้องไห้ให้แก่โศกนาฏกรรมเรือเซวอล และเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องแบ่งปันความรับผิดชอบต่อชีวิตที่สูญเสียไป เพราะเหตุการณ์นี้ทำให้เราตระหนักว่า ทุกคนมีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งเพียงใด"
"ขณะนี้เรากำลังพยายามเอาชนะโควิด-19 ยิ่งตอกย้ำให้เห็นกันอีกครั้งว่าคนในสังคมมีความเกี่ยวโยงถึงกัน ขอให้พลเมืองทุกคนสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม เคารพกฎเกณฑ์ในการกักตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือ"
เหตุการณ์เรือเซวอลอับปาง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการชุมนุมใหญ่ต่อเนื่องเพื่อขับไล่อดีตประธานาธิบดีพักกึนเฮ แห่งพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งปัจจุบันได้ควบรวมกันเป็นพรรค UFP เนื่องจากครอบครัวผู้เสียชีวิตไม่พอใจที่รัฐบาลพักกึนเฮตอบสนองต่อเรื่องนี้ 'ล่าช้า' เพราะเรือเสียหลักเอียงข้างตั้งแต่เช้า แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถติดต่อผู้มีอำนาจรับผิดชอบสั่งการในทำเนียบประธานาธิบดีได้
ระหว่างที่รอคำสั่งการอยู่หลายชั่วโมง เรือเซวอลก็ค่อยๆ จมลงในทะเล ผู้โดยสารที่ติดอยู่ในเรือโพสต์ข้อความและวิดีโอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แต่เรือกู้ชีพที่ถูกส่งไปไม่สามารถช่วยผู้โดยสารออกมาได้ทั้งหมด เพราะเรือเซวอลมีผู้โดยสารอยู่ราว 500 คน จึงช่วยออกมาได้ไม่ถึงครึ่ง แม้จะมีความพยายามนำเครื่องสูบลมไปช่วยดันเรือให้หายเอียงก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังมีผู้ระบุว่า นี่เป็นสาเหตุให้เรือจมลงเร็วกว่าเดิม
เมื่อผลสอบสวนเบื้องต้นบ่งชี้ว่า เรือเซวอลถูกดัดแปลงต่อเติมจนเกินขีดความสามารถที่จะรับน้ำหนักได้ แต่กลับได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวและบรรทุกขนส่ง สะท้อนว่ามีการทุจริตรับสินบน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เจ้าของเรือและเจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาต ถูกนำตัวมาสอบสวน แต่การที่รัฐบาลพักกึนเฮตอบสนองเรื่องนี้ล่าช้า ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้การชุมนุมขับไล่รัฐบาล 'จุดติด' และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ที่ไม่พอใจนโยบายของรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมอยู่แล้ว
หลังจากนั้น พักกึนเฮถูกสอบสวนและตั้งข้อหาว่า "ใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ" ทำให้คนใกล้ชิดใช้ความสัมพันธ์ทางการเมืองหาผลประโยชน์ นำไปสู่กระบวนการพิจารณาถอดถอนพ้นจากตำแหน่ง ทั้งยังถูกตัดสินลงโทษจำคุกถึง 24 ปี จากข้อหาต่างๆ ราว 16 กระทง และถูกนำตัวส่งเรือนจำเมื่อเดือน เม.ย.2561
แม้อดีตผู้นำจะถูกไต่สวนและลงโทษทางกฎหมายไปแล้ว กระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุเรือเซวอลอับปางยังไม่จบ เพราะรายงานสรุปสาเหตุที่แท้จริงยังไม่แล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่หน่วยลาดตระเวน รวมถึงกระทรวงที่รับผิดชอบด้านการให้ความช่วยเหลือและกู้ภัยก็ยังถูกสอบสวนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ผู้ที่ถูกตัดสินคดีไปบ้างแล้ว ได้แก่ 'กัปตันเรือเซวอล' ซึ่งเป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือออกจากเรือ แต่ถูกตั้งข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต เพราะเขาไม่ได้บอกสถานการณ์ที่แท้จริงแก่ผู้ที่อยู่บนเรือ ทั้งยังไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ต้องดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสาร
ส่วนบริษัทเจ้าของเรือ ถูกตั้งข้อหาทุจริต ดัดแปลงเรือ จัดหาบุคลากรไร้ประสิทธิภาพไปควบคุมดูแลตำแหน่งสำคัญอย่างกัปตันเรือ แต่ยังมีผู้เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการไต่สวน
ครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่รวมตัวกันเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีเรือเซวอล กลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองที่เดินหน้าชนกับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในอดีตหรือปัจจุบัน เพียงแต่ท่าทีของ 'มุนแจอิน' และพรรครัฐบาลปัจจุบัน ประนีประนอม และพยายามเป็นมิตรกับเครือข่ายญาติผู้เสียชีวิตมากกว่าอดีตรัฐบาล เพราะไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรง
นักการเมืองและกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตรัฐบาลพักกึนเฮจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษนิยมและอำนาจนิยม ไม่พอใจกลุ่มผู้เรียกร้องความเป็นธรรมในเหตุการณ์เรือเซวอล เพราะมองว่านี่เป็นชนวนเหตุล้มล้างรัฐบาลพักกึนเฮ ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมเกาหลีใต้ตามมาอีกระลอก
เว็บไซต์ Asia Times รายงานว่า กลุ่มสนับสนุนพรรค UFP มักโจมตีหรือล้อเลียนกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เรือเซวอลในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งยังเคยรวมตัวกันชุมนุม 'กินอาหาร' เพื่อยั่วยุกลุ่มญาติที่กำลัง 'อดอาหารประท้วง' หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้พักกึนเฮลาออกเมื่อปี 2557
นอกจากนี้ ชา-มยองจิน สมาชิกพรรค LKP ซึ่งเคยเป็น ส.ส.ในสมัยรัฐบาลพักกึนเฮ และต่อมาพรรคถูกยุบรวมกับพรรค UFP เข้าร่วมอภิปรายทางโทรทัศน์ กล่าวหาว่าญาติผู้เสียชีวิตเรือเซวอล "แอบมีอะไรกัน" ในเต็นท์ ตอนที่กำลังประท้วงขับไล่อดีต ปธน. โดยอ้างอิงการรายงานของสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งไม่มีหลักฐานชัดเจน และปีที่แล้วเขายังเคยโพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ กล่าวหาว่า กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเรือเซวอลเป็นพวกหาผลประโยชน์จากความสงสารเห็นใจของคนในสังคม
ข้อความดังกล่าวถูกตอบโต้จากหลายฝ่าย ไม่ใช่แค่กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตเอง แต่คนในสังคมส่วนใหญ่มองว่า 'ชา-มยองจิน' พยายามทำลายชื่อเสียงของกลุ่มผู้เคลื่อนไหว เข้าข่ายเผยแพร่วาจาแห่งความเกลียดชัง (hate speech)
ส่วน 'คิมแทโฮ' สมาชิกพรรค UFP อีกรายหนึ่ง กล่าวหากลุ่มผู้สนับสนุนพรรครัฐบาล DP ของมุนแจอิน และกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเรือเซวอล โดยระบุว่า คนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ อายุประมาณ 30-40 ปี จึงเป็นพวกที่คิดอะไรไม่เป็นตรรกะ ไม่รู้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ จึงไม่รู้ว่าประเทศเกาหลีใต้นั้นเจริญขึ้นมาได้เพราะอะไร
คำกล่าวของคิมแทโฮมีนัยถึงอดีตประธานาธิบดีพักกึนเฮ ซึ่งเป็นลูกสาวของ 'พักชองฮี' ผูัที่เคยปกครองเกาหลีใต้อยู่นานเกือบ 20 ปีหลังก่อรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จ และมีผู้ยกย่องว่าเขาเป็นผู้นำการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศจนเจริญก้าวหน้าเช่นในปัจจุบัน ขณะที่ผู้เห็นต่างมองว่า พักชองฮีเป็น 'ผู้นำเผด็จการ' ที่สั่งปราบปรามผู้เห็นต่างด้วยการใช้กำลังและความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม พรรค UFP ตัดสินใจออกมาแถลงขอโทษต่อสังคมเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า ที่ประชุมพรรคมีมติให้ ชา-มยองจินและคิมแทโฮ สิ้นสุดการเป็นสมาชิกพรรคไปแล้ว แต่ท่าทีดังกล่าวไม่ได้ช่วยลดทอนความขัดแย้งในเกาหลีใต้ลงไปมากนัก
ที่มา: Asia Times/ Korea Herald/ Korea Times
อ่านเพิ่มเติม: